โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แมวในกล่อง - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 29 ก.ค. 2562 เวลา 09.04 น.

ตอบคำถามนี้ได้หรือไม่? “ถ้าต้นไม้ล้มลงกลางป่า และไม่มีใครอยู่ที่นั่นเพื่อฟัง มันเกิดเสียงหรือไม่?”

นี่เป็นคำถามในหมู่นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญามานานร้อยกว่าปี มันยังเป็น การทดลองทางความคิด (thought experiment) ของนักวิทยาศาสตร์ ใช้ขบคิดและตั้งทฤษฎีต่างๆ

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากบอกว่า เสียงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้นต้นไม้ล้มในป่าย่อมก่อให้เกิดเสียง แต่ก็มีคนตอบว่า ต้นไม้ล้มนั้นไม่มีเสียง เพราะเสียงเกิดจากแรงสะเทือนผ่านอากาศหรือวัตถุเข้าสู่ประสาทของเราผ่านหู ประสาทของเราจับมันได้และเรียกว่า ‘เสียง’ 

การล้มของต้นไม้ก่อเกิดการสั่นสะเทือน แต่หากไม่มีหูรับฟัง ก็ย่อมไม่มีเสียง

ในคำถามคล้ายๆ กัน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลสองคน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับ นีลส์ บอห์ร นักฟิสิกส์สายควอนตัม ชาวเดนมาร์ก ถกกันว่า “พระจันทร์มีตัวตนไหม หากไม่มีใครมองมัน”

นี่เป็นการทดลองทางความคิดที่ออกจะแปลก เพราะในแวดวงดาราศาสตร์ พระจันทร์ก็ย่อมอยู่บนฟ้า ไม่ว่าเราจะมองมันหรือไม่

บอห์รตอบว่า มันพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งพระจันทร์มีอยู่หรือไม่มีอยู่

ฟังดูคล้ายๆ ปรัชญาเซน!

ใช่ ‘ต้นไม้ล้มลงกลางป่าเกิดเสียงหรือไม่’ ข้ามไปในพื้นที่ของศาสนาและปรัชญา อาจโดยไม่ตั้งใจ มันชวนให้เราคิดว่า พระเจ้า เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ปิศาจ ฯลฯ มีจริงไหม หากไม่มีมนุษย์บนโลก

……………

นอกจากนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกสองคนนี้ ยังมีนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลอีกคนหนึ่ง เออร์วิน เชรอดิงเออร์ ทำการทดลองทางความคิดเรื่องหนึ่งที่เรียกว่า Schrodinger’s Cat

สมมุติว่าเราสร้างกล่องหนึ่งกล่อง ปิดสนิททุกด้าน ภายในกล่องใส่สารกัมมันตภาพรังสี เครื่องวัดการแผ่รังสี (Geiger counter) ขวดยาพิษไซยาไนด์ และแมวหนึ่งตัว

ถ้าสารกัมมันตภาพรังสีสลายตัว ไกเกอร์ เคาน์เตอร์ จะตรวจจับได้ กลไกก็จะทำงานโดยปล่อยค้อนลงมาทุบขวดบรรจุยาพิษแตก แมวจะตาย แต่ถ้าสารรังสีไม่สลายตัว แมวก็ไม่ตาย

การทดลองทางความคิดนี้บอกว่า แมวสามารถอยู่ทั้งในสภาวะที่มีชีวิตและสภาวะตายทั้งสองอย่าง จนถึงนาทีที่เราเปิดกล่องดู 

แม้การทดลองนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาเรื่อง quantum mechanics แต่ก็เข้าสู่พื้นที่ของอภิปรัชญา

ใช่ไหมว่าสรรพสิ่งดำรงอยู่เพราะเรา ‘เห็น’ มัน? ใช่ไหมว่า ถ้าเราไม่เห็นก็คือไม่มี? หรือไม่เห็นก็ยังมี?

อะไรคือความจริง? ความจริงมีอยู่จริงหรือไม่?

ในหนังเรื่อง The Matrix โลกในความจริงที่ทุกคนเชื่อว่ามีจริงกลับไม่มีจริง หรือไม่เป็นตามที่เชื่อ

ราวแปดร้อยปีก่อน ปรมาจารย์เซน โดเก็น เขียนบทกวีว่า

“การรู้แจ้งก็เฉกเช่นจันทร์สะท้อนบนผิวน้ำ 

พระจันทร์ไม่เปียก น้ำก็ไม่ถูกกินที่…”

น้ำเป็น ‘ความคิด’ พระจันทร์เป็น ‘วัตถุ’ ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่มีเงาพระจันทร์ในน้ำ และถ้าไม่มีพระจันทร์ ก็ไม่มีพระจันทร์ในน้ำ

ทั้ง thought experiment ในฟิสิกส์และปรัชญาอาจดูห่างไกลจากเรา แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นแนวคิดเดียวกัน และอาจจะเกี่ยวข้องกับเรามากกว่าที่คิด

มองในเชิงทุกข์ หากเราไม่ปรุงแต่งสิ่งที่เรามองไม่เห็นในกล่องเป็นความทุกข์ ทุกข์ก็ไม่เกิด

มนุษย์เราชอบคิดในสิ่งที่มองไม่เห็น แล้วสร้าง ‘ตัวตน’ ขึ้นมา เป็น ‘ตัวกูของกู’

มองในเรื่องทุกข์ บางทีการที่เราเกิดทุกข์เพราะเราเลือกที่จะเชื่อว่า ‘แมว’ ในกล่องตาย ไม่เลือกเชื่อว่า ‘แมว’ ยังมีชีวิต

ใช่ไหมว่าทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่สำคัญ เพราะมันเป็นมายา

บางทีภายในกล่องแห่งจิต สภาวะทั้งความทุกข์และความสุขดำรงอยู่พร้อมกัน ขึ้นกับว่าเราจะเห็นมันในสภาวะใด 

หรือเห็นแทงทะลุมายาของทั้งสองสภาวะว่า แท้จริงแล้วไม่มีทั้งทุกข์และสุข 

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0