โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แมลงวันในไร่ส้ม / ฮือฮากฎเหล็ก 14 ข้อ จัดระเบียบ 'สื่อ-ช่างภาพ' ห้ามล้ำเส้น 'นายกฯ ตู่'

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 10.30 น.
แมลง1

แมลงวันในไร่ส้ม

 

ฮือฮากฎเหล็ก 14 ข้อ

จัดระเบียบ ‘สื่อ-ช่างภาพ’

ห้ามล้ำเส้น ‘นายกฯ ตู่’

เรื่องของสื่อกับนายกรัฐมนตรี รอบนี้ร้อนแรงเป็นพิเศษ เพราะอยู่ๆ มีมือดีออกมาตรการพิเศษให้สื่อที่ติดตามนายกฯ ปฏิบัติ จนกลายเป็นข่าวครึกโครม
เหตุเกิดเมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไปเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในวันนั้นเอง ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 งัด “กฎเหล็ก” จัดระเบียบสื่อมวลชนทุกหน่วย ทุกสังกัด ไม่เว้นแม้กระทั่งช่างภาพของหน่วยงานรัฐประจำกรม กอง กระทรวงต่างๆ
บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพ็ค เมืองทองธานี ตรวจบุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างละเอียด
ทุกคนต้องเดินผ่านเครื่องสแกน ลงทะเบียนติดบัตรและติดสติ๊กเกอร์แสดงว่าผ่านการตรวจ
ส่งผลให้ทางเข้าห้องจัดงานที่ต้องผ่านเครื่องสแกนแออัด คิวของสื่อยาวเหยียดกว่าจะผ่านเข้างานได้
และเป็นครั้งแรกที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพสื่อมวลชน โดยต้องลงชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สถานที่อยู่ ที่ทำงาน พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ด้วย
ในเอกสาร ยังระบุมารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน คือ

  1. ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ
  2. การแต่งกายที่สุภาพ บุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น
  3. กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล
  4. จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและติดต่อแผนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
  5. ไม่แสดงกิริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร
  6. ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย
  7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน
    ตามมาด้วย ข้อควรปฏิบัติในการบันทึกภาพ คือ
  8. ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง
  9. ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได
  10. ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร
  11. ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ ห้ามวิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน
  12. ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
  13. การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์ และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง
  14. หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ
    สื่อต่างๆ รายงานมาตรการดังกล่าวออกไปเป็นข่าวอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันมีการสอบถามว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการให้ใช้มาตรการดังกล่าว
    กระแสข่าวระบุว่า แม้แต่นายกฯ เมื่อทราบข่าว ก็แสดงความสงสัยว่า ใครสั่งการ และสั่งให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

เวลา 16.30 น. วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงผ่านกลุ่มไลน์ “สื่อทำเนียบรัฐบาลแจ้งวาระ” ว่า ข้อควรปฏิบัติบันทึกภาพนายกฯ เป็นเอกสารปี 2558 ไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้
เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคงมีความปรารถนาดี ต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งใจจะยกระดับการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ
โฆษกไก่อูระบุในไลน์อีกว่า หากพิจารณาความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้โดยเคร่งครัดแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น โค้งคำนับก่อนและหลังการถ่ายภาพ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของช่างภาพ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปพิจารณาทบทวนและถอนออกจากข้อปฏิบัติ เพราะคนจะเคารพหรือให้เกียรติกันนั้นขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติของแต่ละบุคคล
การระบุว่าเป็นมาตรการตั้งแต่ปี 2558 ทำให้กลุ่มผู้สื่อข่าว-ช่างภาพทำเนียบรัฐบาล เข้าไปโต้แย้งในไลน์ว่า เอกสารข้อปฏิบัติที่นำมาวางไว้ที่จุดลงทะเบียนเมื่อเช้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ช่างภาพเซ็นชื่อพร้อมไอดีบัตรประชาชน 13 หลัก
ทุกคนเห็นเอกสารอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่เอกสารเก่า เจ้าหน้าที่สันติบาลที่ตรวจกล้องอยู่ก็เห็นชัดเจน สื่อมวลชนไม่ได้นำเอกสารเก่ามาเขียนข่าวใหม่ อีกทั้งเอกสารข้อปฏิบัติดังกล่าวยังมีหลายแผ่นด้วย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวหลายคนที่ประจำทำเนียบ ยืนยันว่าเมื่อปี 2558 ก็ไม่เคยเห็นเอกสารฉบับนี้
ขณะที่ทางตำรวจสันติบาลเอง พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รอง ผบช.ส. กล่าวว่า ปกติแล้วอำนาจหน้าที่ในการดูแลปฏิบัติร่วมกับสื่อมวลชนในภารกิจของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ บก.ส.3 ไม่ใช่ บก.ส.1
การปรากฏเอกสารที่อ้างว่าเป็นข้อบังคับข้อปฏิบัติจาก บก.ส.1 ก็เป็นเรื่องไม่ปกติ ตนยังไม่เห็นเอกสารตัวจริง จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง จริงหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานชี้แจงขึ้นมา แล้วจะชี้แจงอีกครั้ง
ส่วน พล.ต.ต.นพดล ศรสำราญ ผบก.ส.1 กล่าวว่า ทาง บก.ส.1 ไม่เคยออกคำสั่งดังกล่าว อีกทั้งงานด้านนี้ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยตน ไม่ทราบว่ามีคำสั่งดังกล่าวออกมาได้อย่างไร เบื้องต้นได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้แล้ว

ใครจะเป็น “เจ้าภาพ” ของคำสั่งนี้ ความจริงคงจะค่อยๆ คลี่คลายออกมา เพราะคงมีไม่กี่คนที่จะสั่งให้ตำรวจสันติบาลใช้ความเข้มงวดดังกล่าว
ที่แน่ๆ ก็คือ คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นผลดีกับนายกรัฐมนตรีเอง
โดยเฉพาะการกำหนดให้ช่างภาพคำนับก่อนถ่ายภาพและหลังการถ่ายภาพ ต้องถือว่าเป็นพิธีรีตองมากไปสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติจะมาจาก ส.ส. มักเปิดให้สื่อเข้าถึงได้ง่าย แม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดก็ตาม
หรือกำหนดระยะห่าง 5 เมตร จากเดิมซึ่งสามารถเข้าใกล้ได้มากกว่านั้น แล้วแต่สถานการณ์ เพื่อสอบถามข่าวสารในเรื่องต่างๆ
ที่สำคัญ เมื่อกลายเป็นข่าว กลับออกมาระบุว่าเป็นมาตรการเก่า ไม่มีใครยืนยันเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้มาตรการดังกล่าว
เป็นไปได้ว่า ผู้สั่งการมีเจตนาดีต่อนายกฯ แต่เมื่อกลายเป็นข่าวเชิงลบ จึงชิ่งหลบไป
ส่วนมาตรการ 14 ข้อดังกล่าว จะใช้ได้จริงกี่ข้อ และยาวนานเท่าไหร่ น่าติดตามข่าวสารกันต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0