โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แฟนอาหารญี่ปุ่นถามมา คนท้องกินปลาดิบได้ไหม?

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 09 มี.ค. 2563 เวลา 05.30 น. • Motherhood.co.th Blog
แฟนอาหารญี่ปุ่นถามมา คนท้องกินปลาดิบได้ไหม?

แฟนอาหารญี่ปุ่นถามมา คนท้องกินปลาดิบได้ไหม?

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจจะเป็นแฟนอาหารญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นซูชิหรือปลาดิบ อาจมีความกังวลว่า "คนท้องกินปลาดิบได้ไหม" หากยังกินอาหารตามที่ชอบเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายต่อทารกน้อยในครรภ์หรือไม่ และมีหลายคนมากที่เข้าใจว่าซูชิเป็นหนึ่งในอาหารต้องห้ามของแม่ตั้งครรภ์ วันนี้เราจะมาเคลียร์ข้อสงสัยนี้กันค่ะ

ทำไมคนท้องไม่ควรกินปลาดิบ?

การที่คนท้องต้องพิถีพิถันในการเลือกกินอาหารนั่นเป็นเพราะว่าในช่วงตั้งครรภ์ผู้หญิงจะมีภูมิคุ้มกันลดลง จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ง่าย แม้ว่าคนท้องจะกินซูชิได้ ก็ต้องเลือกกินเฉพาะซูชิหน้าที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพราะปลาดิบรวมทั้งอาหารทะเลดิบเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่คนท้องพึงหลีกเลี่ยงด้วยเหตุผลดังนี้

ช่วงตั้งครรภ์ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง จึงต้องระวังเรื่องกินให้มาก
ช่วงตั้งครรภ์ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง จึงต้องระวังเรื่องกินให้มาก

1. เสี่ยงต่อการปนเปื้อนพยาธิและเชื้อจุลินทรีย์

ในปลาดิบ รวมไปถึงกุ้งดิบ หอยดิบ หรือปูดิบ ล้วนเสี่ยงต่อการปนเปื้อนปรสิต เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย เช่น พยาธิอะนิซาคิซ (Anisakis simplex) โนโรไวรัส เชื้ออหิวาต์ เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อลิสทีเรีย เป็นต้น อย่างที่ทราบกันว่าในปลาน้ำจืดดิบจะมีโอกาสปนเปื้อนพยาธิสูงกว่า แต่ก็ใช่ว่าปลาทะเลจะปลอดภัยไปเสียทั้งหมด ปลาน้ำเค็มอย่างปลาแซลมอนก็ยังมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนพยาธิอะนิซาคิส หากกินอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไปจะทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้

นอกจากพยาธิแล้ว เชื้อลิสทีเรียก็เป็นแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งที่มักปนเปื้อนมากับปลาดิบในระหว่างขั้นตอนการผลิต ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าคนท้องมีโอกาสติดเชื้อลิสทีเรียสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนั้นเชื้อชนิดนี้ยังสามารถแพร่กระจายสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรกได้ แม้ว่าแม่จะไม่แสดงอาการป่วยเลยก็ตาม โดยแม่ที่ติดเชื้ออาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร รวมถึงภาวะทารกตายในครรภ์ด้วย รวมทั้งไวรัสบางตัวที่สามารถปนเปื้อนมากับเนื้อปลาดิบก็อาจส่งผลให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้อีกเช่นกัน

2. เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารปรอท

ปรอท คือ โลหะหนักชนิดหนึ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย มักปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงในทะเล หากร่างกายได้รับสารปรอทในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และไต อีกทั้งอาจทำให้เด็กในครรภ์บกพร่องทางพัฒนาการ แพทย์จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการบริโภคปลาที่เสี่ยงมีสารปรอทปนเปื้อนสูง อย่างปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ และปลาทูน่า ซึ่งพบมากในเมนูซูชิหรือปลาดิบ

อาการติดเชื้อจากพยาธิอะนิซาคิซ

หากได้รับเชื้อจากพยาธิชนิดนี้เข้าไป อาการที่จะแสดงให้เห็นเร็วที่สุดคือภายใน 1 ชั่วโมง โดยจะเกิดอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้งอาจมีอาการคล้ายเป็นไส้ติ่งอักเสบ บางรายก็อาจถ่ายออกมามีมูกเลือดปน จากนั้นภายใน 1-5 วัน อาจอาเจียนออกมามีพยาธิเป็นตัว หรือหากไปส่องกล้องหลอดอาหารก็จะพบพยาธิอยู่ในนั้น อาการถ่ายหรืออาเจียนนี้ส่งผลให้แม่เข้าสู่ภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผลกระทบให้ตัวอ่อนในครรภ์ขาดออกซิเจนได้

พยาธิชนิดนี้พบได้มากในปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย เป็นต้น ซึ่งพยาธิชนิดนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะจะเป็นตัวกลม ๆ ตัวที่โตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร พยาธิตัวนี้จะฝังตัวในกล้ามเนื้อของปลา ทำให้คนที่บริโภคปลาเหล่านี้เข้าไปสามารถติดเชื้อพยาธิได้

อยากกินปลาดิบหรือซูชิต้องทำอย่างไร?

หากมีความอยากกินปลาดิบหรือซูชิมาก ๆ อาจจะเป็นเพราะอาการแพ้ท้อง ก็ต้องเลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ในเรื่องความสะอาดและความพิถีพิถันในการเก็บรักษาวัตถุดิบ เพราะการจะทำให้เนื้อของปลาดิบไม่มีพยาธินั้น จะต้องแช่แข็งเนื้อปลาไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 ชั่วโมง จึงจะทำให้พยาธิตายได้

นอกจากพยาธิและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจพบได้ในปลาดิบแล้ว การบริโภคอาหารทะเลอื่น ๆ ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะหอยที่ต้องกินแบบสุกแล้วเท่านั้น เพราะหอยดิบมีไวรัสที่เป็นอันตราย รวมถึงมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษได้

เพราะในปลาดิบอาจมีพยาธิ สารปรอท และแบคทีเรียปะปนมา
เพราะในปลาดิบอาจมีพยาธิ สารปรอท และแบคทีเรียปะปนมา

ข้อควรระวังเมื่อต้องการกินซูชิ

  • ควรเลือกเฉพาะปลาที่สุกแล้วเท่านั้น หากซื้อมาทำกินกันเองภายในบ้าน ต้องทำให้สุกในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที
  • ก่อนจะกินต้องสังเกตเนื้อปลาให้ดี ดูว่าเนื้อปลามีลักษณะอย่างไร มีตัวอ่อนของพยาธิแฝงอยู่หรือไม่ ถือเป็นการคัดกรองเบื้องต้นไม่ให้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย

การรับบทบาทของแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์แล้วนะคะ อาหารหลายอย่างที่เราเคยเอ็นจอยมากแค่ไหนก่อนที่เราจะท้อง พอเรามีเจ้าตัวน้อยเราก็ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ว่ายังไง Motherhood ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านในการงดเว้นอาหารสุ่มเสี่ยงบางอย่างชั่วคราว เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีและสุขภาพของทารกน้อยในครรภ์ค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0