โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แฟชั่นสตรีในงานศิลปะญี่ปุ่นสมัย "เอโดะ" ทำไมเน้นทรวดทรงสัดส่วนผู้หญิงให้ยาวเกินจริง

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 ก.พ. 2566 เวลา 12.26 น. • เผยแพร่ 06 ก.พ. 2566 เวลา 12.04 น.
ภาพปก - ภาพเขียนบนผ้าไหม ญี่ปุ่น
“Chasing Fireflies in the Sumida River” ภาพเขียนบนผ้าไหม ผลงานของ TEISAI HOKUBA

ศิลปวัฒนธรรมในสมัย เอโดะ (EDO) ซึ่งอยู่ในช่วงของคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้น เป็นช่วงที่มีความเจริญสูงสุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะภาพพิมพ์สกุลช่างอูกิโยเอะ (UKIYO-E)

ในยุคนี้เป็นสกุลช่างที่มีบทบาทและมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อวงการศิลปะของญี่ปุ่นและวงการศิลปะของยุโรป ผลงานของศิลปินในสกุลช่างนี้ได้ให้อิทธิพลต่อศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสต์ของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ทางด้านรูปแบบ อาทิ การใช้มิติภายในภาพเพียงแค่สองมิติ การเสนอรูปทรงที่มีความเรียบง่าย การใช้เส้นตัดเน้นกรอบนอกของรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบของภาพในลักษณะซ้ายขวามีความสมดุลไม่เท่ากัน

สิ่งที่น่าสนใจในงานศิลปะของศิลปินสกุลช่างอุกิโยเอะคือ การให้ความสําคัญต่อเรื่องราวเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความงามของสตรีในยุคนั้น ศิลปินแต่ละคนต่างพยายามแสวงหารูปแบบตลอดจนการแสดงออกในเรื่องของความงามของสตรีตามทัศนะของตน เอกลักษณ์ของความงามตามแบบฉบับของสตรีในยุคดังกล่าวดูเหมือนว่าจะต้องมีความอ่อนหวานนุ่มนวล ช่วงไหล่ลาด เรือนร่างบอบบาง และมีผิวขาวผ่อง รูปทรงของผู้หญิงในงานศิลปะยุคนี้มักจะมีลําตัวยาว คอระหง มีกิริยาท่าทางหรืออิริยาบถต่าง ๆ ซึ่งดูมีลีลาอ่อนไหว

ศิลปินมักจะวางองค์ประกอบของภาพโดยให้สตรีเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติบ้าง ในสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยบ้าง นอกจากนี้ก็ยังนิยมจัดวางกลุ่มสตรีในสภาพแวดล้อมที่แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตประจําวัน และก็ยังมีอีกเป็นจํานวนมากที่ศิลปินใช้ฉากหลังของภาพเป็นพื้นที่โล่งว่างเพื่อช่วยเน้นให้รูปทรงของคนดูเด่นชัดยิ่งขึ้น

จากการศึกษาดูสัดส่วนของผู้หญิงในงานศิลปะยุคนี้ จะเห็นได้ว่าศิลปินนิยมใช้รูปทรงของผู้หญิงที่ค่อนข้างจะโปร่งบาง มีความสูงผิดไปจากสัดส่วนของคนธรรมดา การเน้นทรวดทรงและสัดส่วนให้มีความยาวเกินเลยไปจากความเป็นจริงนั้นอาจมีสาเหตุสองประการ

ประการแรก สัดส่วนของผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัย “เอโดะ” นั้นค่อนข้างเตี้ยและท้วม ศิลปินจึงเกิดความคิดที่จะทําให้หญิงงามตามอุดมคติของเขานั้นให้ดูสูงโปร่ง สง่างาม

ประการที่สอง อาจจะเป็นไปได้ว่าการยืดลําตัวของผู้หญิงในภาพให้ดูชะลูดบอบบางผิดจากปกตินั้น ก็เพื่อต้องการให้การจัดวางองค์ประกอบของภาพดูสวยงาม การจัดกิริยาท่าทาง การใช้เส้นของเสื้อผ้า และแม้แต่ลีลาของรอยพับของผ้าที่ทิ้งลงมาทอดกองอยู่กับพื้นหรือสะบัดพลิ้วไปด้านข้างนั้น จะทําให้ภาพมีความงามและน่าสนใจยิ่งขึ้น

และประการสําคัญศิลปินคงต้องการเน้นในเรื่องของการใช้เส้นที่มีความอ่อนหวานละเมียดละไม ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตั้งแต่ศีรษะ ลําคอ ช่วงแขน ลําตัว และเสื้อผ้า การยืดสัดส่วนของรูปทรงให้ยาวขึ้นนั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการออกแบบแฟชั่นในสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้ออกแบบมักจะเขียนให้แบบมีช่วงคอยาว ขายาว มีความสูงเพรียวกว่าธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้งานดีไซน์เสื้อผ้านั้นมีความสง่า ชวนมอง มากกว่าการเขียนแบบที่มีสัดส่วนธรรมดาโดยมิได้เน้นให้เกินเลยไปจากความเป็นจริง ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่การยึดสัดส่วนของการออกแบบแฟชั่นในยุโรปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะของศิลปินสกุลช่างอูกิโยเอะ ในเมื่อศิลปะภาพพิมพ์ของศิลปินกลุ่มนี้ได้เข้าไปแพร่หลายเป็นอย่างมากในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในขั้นต้น

ศิลปินอูกิโยเอะส่วนใหญ่เป็นศิลปินชายแทบทั้งสิ้น และเป็นที่น่าสนใจว่าศิลปินเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้นําทางด้านเสนอความงามของสตรีญี่ปุ่นแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นผู้นําทางด้านการออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายสตรีโดยเฉพาะ ทั้งนี้รวมถึงการออกแบบลวดลายผ้าและการออกแบบทรงผมไปในตัวด้วย

กิโมโนส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะของศิลปินอูกิโยเอะ ไม่ว่าจะอยู่ในงานภาพพิมพ์แกะไม้หรือในงานจิตรกรรมก็ดี มักจะเป็นกิโมโนซึ่งมีแขนสั้นหรือที่เรียกว่า KOSODE กิโมโนในลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยเอโดะ และแม้กระทั่งในปัจจุบัน ลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏใน KOSODE กิโมโนนั้นมีความหลากหลายและมีความงดงามมาก ใช้เป็นข้อมูลทางด้านการออกแบบลวดลายผ้าได้เป็นอย่างดี ลวดลายที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศและสภาพชีวิตประจําวันของคนในช่วงนั้นด้วย กิโมโนแบบ KOSODE เป็นกิโมโนที่ใช้ได้ตั้งแต่สตรีธรรมดาสามัญจนกระทั่งสตรีชั้นสูง

ลวดลายที่ปรากฏบนเครื่องแต่งกายของสตรีในสมัยเอโดะนั้น หากจะจําแนกแล้วอาจแบ่งได้เป็นสอง ประเภทใหญ่คือ ประเภทแรกเป็นลวดลายที่มีรูปทรงแบบเรขาคณิต คือใช้เส้นตรงและเส้นโค้งประกอบเป็น รูปทรงลวดลายในลักษณะต่าง ๆ ประเภทสองเป็นลวดลายที่มีการออกแบบโดยการคลี่คลายและประยุกต์มา จากรูปทรงในธรรมชาติ เช่น รูปทรงของดอกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ และพืชพันธุ์ประเภทต่าง ๆ เช่น พันธุ์ไม้ประเภทไม้เลื้อย นอกจากนี้ยังมีรูปทรงที่คลี่คลายหรือประดิษฐ์มาจากสัตว์ต่างๆ เช่น นก แมลง รวมทั้งลวดลายที่มีที่มาจากระลอกน้ำ คลื่นน้ำ และก้อนเมฆอีกด้วย

การออกแบบของศิลปินนั้นมีความงดงามมากในด้านการจัดวางองค์ประกอบ ช่วงบนของกิโมโนค่อนข้างจะเรียบ มีลวดลายประดับตกแต่งมากตามช่วงปลายแขนส่วนหลังและตามชายกิโมโน ลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏมีความหลากหลายแทบจะซ้ำกันเลย ศิลปินมีความพิถีพิถันมากในเรื่องของการใช้เส้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สีซึ่งมีทั้งความนุ่มนวลประสานกลมกลืนกับความขัดแย้งของลวดลายและสีสันซึ่งตัดกันอย่างสวยงาม การใช้สีและการออกแบบบนกิโมโนแสดงให้เห็นถึงความมีสุนทรีย์ รสนิยมและฝีมืออันวิจิตรพิสดารของศิลปิน

ใครก็ตามที่ได้เห็นการออกแบบของลวดลายตลอดจนการใช้สีสันของศิลปินในสกุลช่างอูกิโยเอะแล้ว คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ความงามที่ปรากฏนั้นสามารถสร้างความประทับใจและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็นได้มาก นอกจากนี้การจัดวางท่าทางของสตรีในภาพจะสัมพันธ์กับลักษณะของเส้นที่ปรากฏอยู่บนกิโมโนและเป็นที่น่าสังเกตว่า สตรีเหล่านั้นไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่ง ทายืน โดยจัดให้อยู่เป็นกลุ่มหรืออยู่โดยโดดเดี่ยวอย่างไรก็ตาม มักจะมีลักษณะใกล้เคียงกับการจัดท่าทางของนางแบบแฟชั่นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่ดูเป็นธรรมชาติและเป็นการจงใจ

ภาพของผู้หญิงในงานศิลปะของศิลปินในสกุลช่างนี้ เช่น ในงานของ อูตา มาโร โยชิฮิโร โฮคุไซ หรือโซเคน นั้น มีทั้งผู้หญิงที่มีชีวิตมีตัวตนจริงกับผู้หญิงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงงามในอุดมคติที่ศิลปินจินตนาการขึ้น ผู้หญิงในงานศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้หากดูเพียงผิวเผินแล้วมักจะดูคล้ายกันไปหมด แต่เมื่อ มองดูภาพเหล่านั้นอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่าผู้หญิงแต่ละคนในภาพจะมีความผิดแผกแตกต่างกันในหลายๆ แง่มุม ศิลปินมิได้สร้างสรรค์เพียงแค่ความงามของสตรีเหล่านั้น แต่ศิลปินได้สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกภายในตลอดจนบุคลิกลักษณะของสตรีเหล่านั้นด้วย

ส่วนในด้านการออกแบบลวดลายต่างๆ บนเสื้อกิโมโนของสตรีในภาพของยุคเอโดะนั้น น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสําหรับใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางด้านการออกแบบลวดลายผ้าและการออกแบบแฟชั่น อาจเป็นไปได้อีกว่าในศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงระยะเวลาที่ศูนย์กลางแฟชั่นของโลกอยู่ในกรุงปารีส

หากจะเปรียบเทียบกันระหว่างฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นแล้ว เอโดะ ของญี่ปุ่นในเวลานั้นก็น่าจะได้รับการขนานนามว่าเป็นปารีสของตะวันออกได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0