โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แพะพระราชทาน "แบล็คเบงกอล" บ้านสุเหร่า จาก “สัตว์ในพิธีกรรม” สู่ “สัตว์เศรษฐกิจ”

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 04.46 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 16.38 น.
1

จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทำให้ “พื้นที่สีแดง” เป็นโจทย์หินของรัฐบาลทุกยุค-ทุกสมัย

ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 ได้ริเริ่มโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในดินแดน “พหุวัฒนธรรม”

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” หน่วยงานที่เปรียบเสมือนเป็น “special task force” ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ติดตาม-เกาะติดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ “ครม.สัญจร” ที่จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 21 มกราคม 2563

 

เป็นจาก “สื่อทำเนียบ” เล่นบท “สื่อบ้านนอก” ที่ “ลงพื้นที่จริง” เพื่อดูงาน-แสวงหลักคิดตามแนว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ” ณ บ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จ.ปัตตานี

หลังจาก “มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ” เข้ามาริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ฯ ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2559 ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่รอดและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

 

หากกล่าวถึง บ้านสุเหร่าต้นแบบชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่บ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จ.ปัตตานี มูลนิธิปิดทองหลังพระฯได้ดำเนินการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ ภายใต้หลัก อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืนโดยเฉพาะ แพะพระราชทาน พันธุ์แบล็คเบงกอล*ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ *

นางสุนีย์ ชุมนพรัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแพะท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เล่าที่มา-ที่ไปของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแพะท่าน้ำ ว่า เริ่มก่อตั้งกลุ่มฯ มาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ความรู้การเลี้ยงแพะและด้านวิชาการ ซึ่งนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาของปู่ ย่า ตา ยาย โดยได้รับการสนับสนุนจาก “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ

จาก เกษตรกรนำร่อง จำนวน 5 ราย ถูกส่งไปศึกษาดูงานที่ จ.ราชบุรี สู่ภาคปฏิบัติ-ลงมือสร้างคอก และการทดลองเลี้ยงแพะ พันธุ์แบล็คเบงกอล จำนวน 5 ตัว จนสามารถขยายเป็น 25 ตัว

“ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จากแต่ก่อน 7,000 – 8,000 บาทต่อเที่ยว (เที่ยวละ 6 เดือน) แต่ตอนนี้มีรายได้ 20,000 – 30,000 บาทต่อเที่ยว”

ขณะที่รายได้จากการเลี้ยงแพะ แบ่งออกเป็น แพะที่มีอายุ 4-5 เดือน หรือ น้ำหนัก 15 กิโลกรัมจะขายได้ตัวละ 2,300 บาท เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมตาม “ความเชื่อ” เรียกว่า แพะแก้บน”  และแพะน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับเพื่อนำไปประกอบ “พิธีทางศาสนาอิสลาม” เช่น บูชาพระเจ้าให้เด็กที่เพิ่งคลอด (เด็กผู้ชายใช้ 2 ตัว เด็กผู้หญิงใช้ 1 ตัว)

นอกจากนี้ยังเลี้ยงแพะอายุ 7-8 เดือน เพื่อไปเป็น แม่พันธุ์ขายได้ตัวละ 3,000 บาท ขณะที่ แพะขุน ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ขายเป็นเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อเลี้ยงแพะได้ 4-6 เดือน หรือ น้ำหนักแพะ 15 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถขายได้ราคา 2,000 – 2,500 บาท หรือ กิโลกรัมละ 170 บาท

 

สำหรับ “วิสาหกิจชุมชนแพะท่าน้ำ” ปัจจุบันมีสมาชิก 20 ราย แพะ 120 ตัว รายได้จากกลุ่ม “สัจจะออมทรัพย์” และ “กองทุนอาหารสัตว์”

ขณะที่ “ต้นทุน” ต่อแพะ 1 ตัว ไม่เกิน 10 บาท อาทิ ค่าแรง น้ำมัน อาหารสัตว์ ซึ่งมาจากการปลูกภายในพื้นที่ เช่น กระฉูด หญ้าเนเปียร์ โดยลูกค้าจะ Walk-in “ถึงคอก”

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแพะท่าน้ำ ย้ำว่าหลังจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯ เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้และการบริหารจัดการทำให้ในปัจจุบันรายได้จากการเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นก่อนปี 2553 มากขึ้น

 

“เดี๋ยวนี้มีเงินเก็บแล้ว สามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาได้แล้ว พูดง่าย ๆ แต่ก่อนไม่มีรถโชเล่ย์ (ซาเล้ง) ไม่มีเครื่องสับอาหาร แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีรถโชเล่ มีเครื่องสับ รายได้ดีขึ้น ไม่มีหนี้ ไม่อยากบอกตัวเลขรายได้ เดี๋ยวสามีรู้ (หัวเราะ)”     

ส่วนความต้องการของ “ตลาดแพะ” ขณะนี้ “ไม่เพียงพอ” ต่อความต้องการพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะในพื้นที่อ.ปะนาเระ มีความต้องการทั้งแพะใน อ.ปะนาแระและนำเข้าจากพื้นที่อื่น-จังหวัดอื่น อาทิ ภาคกลาง ภาคเหนือ รวมทั้งหมด 100 ตัว/สัปดาห์

“คนเลี้ยงต้องใจรักจริง ๆ มาด้วยใจรัก ใจต้องการ มีกฎ กติกาของกลุ่ม หนึ่ง ต้องมีอาหารสัตว์ มีแปลงหญ้า 2 งานเพื่อทดลองเลี้ยง 1-2 ตัว มีคอกแพะ องค์ความรู้ต้องมี ซึ่งสมาชิกปัจจุบัน 20 คนผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ต้องใส่ใจ จดบันทึกวันคลอด บันทึกรายรับ-รายจ่าย ปิดตาแล้วเห็นหน้าแพะที่เลี้ยงได้เลยว่ามีกี่ตัว”

“บอกตรง ๆ ใคร ๆ ก็อยากได้ แต่ไม่มีอะไรการันตีว่า เมื่อได้แพะไปจะเลี้ยงได้ ดังนั้น ต้องผ่านมติที่ประชุมเพื่อเป็นหลักการันตีให้กับกลุ่มและสมาชิก คุณชาย (ม.ร.ว.ดิศนัดดา) บอกว่า คนเลี้ยงต้องขยัน ซื่อสัตย์ อดทน ใจรัก”

 

นายภิญโญ ทองบุญ ปศุสัตว์อำเภอปะนาเระ กล่าวถึง “ข้อจำกัด” ของการขยายตลาดเลี้ยงแพะในพื้นที่อ.ปะนาเระ เพราะ “เลี้ยงยาก บางคนเลี้ยงไม่รอด ตาย เพราะสภาพภูมิอากาศและโรค” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี “ประชากรแพะ” ทั้ง อ.ปะนาเระ ประมาณ 7,000 ตัว และทั้ง ต.ท่าน้ำ ประมาณ 270 ตัว

อย่างไรก็ดี ปศุสัตว์อำเภอปะนาเระได้ส่งเสริมการเลี้ยงแพะภายใต้โครงการ “ธนาคารแพะ” ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก 30 ราย มีแพะหมุนเวียนอยู่ในธนาคารแพะ 150 ตัว เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้าน อ.ปะนาเระนำไปประกอบอาชีพ-สร้างรายได้

พันธุ์แบล็คเบงกอล” เป็น “ของดี” ของบ้านท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0