โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แพงหรือไม่? เปิดราคารถเมล์ไทย-ต่างประเทศเทียบค่าครองชีพ

TODAY

อัพเดต 23 เม.ย. 2562 เวลา 12.29 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 11.48 น. • Workpoint News
แพงหรือไม่? เปิดราคารถเมล์ไทย-ต่างประเทศเทียบค่าครองชีพ

เร็ว ๆ นี้เพิ่งมีการปรับค่าโดยสารรถประจำทางทั้งระบบ เราจึงพามาเทียบราคารถโดยสารประจำทางกับค่าแรงชั้นต่ำกัน ว่าหากจะนักรถเมล์สักหนึ่งเที่ยวเราต้องแลกแรงงานเป็นเวลานานมากน้อยเพียงใด

เริ่มจากสำรวจราคาไทย ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครปัจจุบันอยู่ที่ 325 บาท เมื่อคิดออกมาเป็นรายชั่วโมงแล้ว ตกชั่วโมงละ 41 บาท ล่าสุดรถเมล์ประกาศขึ้นราคา อยู่ที่ราคา 8-27 บาท เมื่อคิดออกมาแล้วจะขึ้นรถเมล์ไปซื้อของใกล้ๆ อาจเทียบเป็นเวลาทำงานแค่ 12 นาที แต่สำหรับชาวบ้านไกลหากพักอยู่อยากนั่งรถแอร์ให้สบายหน่อยจากนอกเมืองเข้ากลางเมืองอาจต้องแลกเวลาทำงาน 40 นาทีทีเดียว

รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ / ภาพจาก Workpoint

หันไปหาเพื่อนบ้าน กัวลาลัมเปอร์อาจช่วยปลอบขวัญเราได้ เพราะค่าแรงขั้นต่ำของมาเลเซียอยู่ที่ 1,050 RM ต่อเดือน คนมาเลย์ทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง คิดจากอัตรารายเดือนเป็นรายชั่วโมงจะตกชั่วโมงละ 5.1 RM (ประมาณ 40 บาทไทย) ได้เงินค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าไทยนิดหนึ่งก็จริง แต่ราคารถเมล์อยู่ที่ 1-5 ริงกิต หรือ 8-38 บาทไทย หมายความว่าคนมาเลย์ก็ต้องทำงานระยะเวลาพอ ๆ กับเราจึงจะขึ้นรถเมล์ได้

รถโดยสารประจำทางของกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย / ภาพจาก My Rapid KL

แต่เหลียวไปมองจาการ์ตาที่ค่าแรงขั้นต่ำพอ ๆ กับเรา (3,940,000 รูเปียต่อเดือน คิดเป็น 16,416.67 รูเปียต่อชั่วโมง หรือ 37.29 บาทต่อชั่วโมง) การจัดการราคารถโดยสารทำได้ในราคาถูกกว่าเล็กน้อย โดยมีราคาอยู่ที่ 3500-9000 รูเปีย หรือประมาณ 8-20 บาท เท่ากับว่า หากจะนั่งรถเมล์ยาว ๆ คนอินโดในจาการ์ต้าก็ทำงาน 32 นาทีเป็นอย่างมากสำหรับรถเมล์ธรรมดาประจำวัน

รถโดยสารประจำทางของเมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย / ภาพจาก PT Transportasi Jakarta

เคลื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านมาส่องประเทศใกล้เคียงที่คุณภาพชีวิตดีขึ้นมา ที่กรุงโซลประเทศเกาหลี รถโดยสารประจำทางเชื่อมระบบกับรถเมล์ ใช้บัตรใบเดียวเอาอยู่ ค่าเดินทางอยู่ที่ 480 - 2400 วอนตามระยะทาง  (ประมาณ 13-67 บาทไทย) แต่เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำคนเกาหลีที่ตกชั่วโมงละ 7530 วอน (221 บาท)  บวกลบคูณหารแล้ว เงินค่ารถเมล์เทียบเป็นเวลาทำงาน 4-18 นาทีเท่านั้นเอง

รถโดยสารประจำทางกรุงโซล / ภาพจาก Soeul Metropolitan Government

กรุงไทเป ประเทศไต้หวันยิ่งน่าประทับใจขึ้นไปอีก การคิดค่าโดยสารคิดเป็น 3 โซน ระยะทางใกล้ๆ เริ่มต้นที่ 15 ดอลลาร์ไต้หวัน ส่วนระยะทางไกลที่สุดของการให้บริการรถบัสในกรุงไทเปหยุดที่ 45 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยแล้วค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 16-47 บาทไทย เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 155.2 บาทก็จะเท่ากับเวลาทำงาน 6-18 นาที

รถโดยสารประจำทางกรุงไทเป /ภาพจาก Taipei eBus

แต่ไฮไลท์อยู่ที่ ระบบจ่ายเงินรถเมล์ของไต้หวันเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า หากจ่ายรถไฟฟ้าแล้วออกมาต่อรถเมล์ภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ราคารถเมล์จะลดลงครึ่งนึง หมายความว่าจาก 6-18 นาทีที่ทำงานจ่ายค่าเดินทางก็เหลือแค่ 3-9 นาทีได้!

ข้ามไปดูอีกฟากของมหาสมุทร มหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาใช้ระบบราคาเดียวทั้งรถไฟใต้ดินและรถเมล์ 2.75 ดอลลาร์ขาดตัว (ประมาณ 91 บาท) ค่าแรงขั้นต่ำของมลรัฐนิวยอร์กอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐ  หรือ 395 บาทต่อชั่วโมง คนนิวยอร์กทำงานแค่ 14 นาทีก็ได้ค่ารถเมล์ที่นั่งมาทำงานแล้ว

รถโดยสารประจำทาง มหานครนิวยอร์ก /ภาพจาก The Metropolitan Transportation Authority

สุดท้ายเรามาดูรถเมล์สองชั้นของกรุงลอนดอนแห่งสหราชอาณาจักร จ่ายเงินได้โดยใช้บัตร Oyster ที่เชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ จะตกอยู่ที่ราคา 1.50 ปอนด์ตลอดสาย  หรือ 62 บาทไทย เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 7.83 ปอนด์ (331 บาท) ต่อชั่วโมง แล้วทำงานแค่ 11 นาทีก็ถอนทุนค่าเดินทางได้แล้ว

รถโดยสารประจำทางกรุงลอนดอน /ภาพจาก Transport For London

ในหลายประเทศรถโดยสารประจำทางตอนนี้เป็นทางเลือกที่ถูกที่สุดที่ประชาชนในเมืองใหญ่จะเลือกได้ หากราคาขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็กระทบปากท้องของกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุดได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0