โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แผนนัดคนกรุงเก็บขยะชิ้นใหญ่ กทม.เผยเก็บไปแล้วกว่า 2.7 พันตัน เฉลี่ย 342 ตัน/เดือน

BLT BANGKOK

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 12.27 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 12.25 น.
349777588380048823f31ed1f7ed94ae.jpg

กทม. ชวนประชาชน ร่วมสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองสะอาด ปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยการนำขยะชิ้นใหญ่และสิ่งของเหลือใช้ทิ้งตามเวลานัด ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเก็บไปแล้วกว่า 2.7 พันตัน หรือราว 342 ตัน/เดือน โดยในจำนวนนี้เป็นขยะที่ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้ 62.52% และขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต้องนำไปกำจัด 37.4%
ตามที่กรุงเทพมหานครได้ให้บริการเก็บขนขยะชิ้นใหญ่ และสิ่งของเหลือใช้แก่ประชาชน โดยหมุนเวียนให้บริการในชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อส่งเสริมการลดปริมาณมูลฝอยอย่างยั่งยืน
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาและสำรวจปริมาณขยะชิ้นใหญ่ หลังจากดำเนินกิจกรรมการนัดเวลาทิ้ง นัดเวลาเก็บขยะชิ้นใหญ่ของสำนักงานเขตต่างๆ โดยคัดเลือกสำนักงานเขต กลุ่มโซนละ 2 เขต รวมทั้งหมด 12 เขต ได้แก่ เขตสายไหม ลาดพร้าว วังทองหลาง ราชเทวี คันนายาว ประเวศ พระโขนง บางนา บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ทุ่งครุและภาษีเจริญ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2562
พบว่า ได้จัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ไปแล้ว จำนวน 2,738 ตัน หรือประมาณ 342 ตัน/เดือน แบ่งเป็น 8 ประเภท โดยประเภทเฟอร์นิเจอร์ จัดเก็บได้สูงสุด คือ 42.02% ตามด้วยขยะก่อสร้าง (ประตู สุขภัณฑ์ กระเบื้อง เศษปูน ไม้) จัดเก็บได้ 16.61%, ที่นอน 16.32%, เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.45%, วัสดุรีไซเคิล (กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว) 7.99%, อื่นๆ (จักรยาน ตู้ปลา อ่างปูน กระถางต้นไม้) 2.77%, ยางรถยนต์ 2.11% และผ้า (เสื้อผ้า ผ้าห่ม ตุ๊กตา) 1.73%
โดยขยะที่จัดเก็บทั้งหมด มีขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 62.52% และขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต้องนำไปกำจัด 37.4% ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในสามารถจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ประเภทเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในสภาพดี และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่าพื้นที่อื่น

สำหรับขยะชิ้นใหญ่ที่จัดเก็บ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ กทม. จะนำมารวบรวมที่ศูนย์เรียนรู้ของเขต เพื่อซ่อมแซมหากยังสามารถใช้งานได้ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ จักรยาน หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น กระถางต้นไม้นำไปทำคอกหมักปุ๋ย ยางรถยนต์นำไปทำกระถางต้นไม้
ทั้งนี้ ขยะชิ้นใหญ่ที่ตกค้างนอกจากจะทำให้เกิดความสกปรก และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ถ้านำไปทิ้งในแม่น้ำ คู คลองจะกีดขวางทางน้ำไหล เป็นสาเหตุให้น้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตกหนักได้ กทม. จึงเชิญชวนประชาชนนำขยะชิ้นใหญ่ที่ไม่ใช้แล้วนำมาตั้งวาง ณ จุดนัดทิ้ง ได้ตามวัน เวลาที่สำนักงานเขตกำหนด ซึ่งสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต จะจัดทำตารางนัดหมายเก็บขยะชิ้นใหญ่ และแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง และร่วมกันทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่สะอาดและปลอดภัยอย่างยั่งยืน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0