โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แป้กยาวสายสีเขียว"ลำลูกกา-บางปู"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 11 ก.ย 2563 เวลา 07.25 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2561 เวลา 04.03 น.
rea02171261p1
พักไว้ก่อน - พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พูดชัดแล้ว ยังไม่มีนโยบายสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากสมุทรปราการ-บางปูและคูคต-ลำลูกกาคลอง 4 เพราะไม่มีงบประมาณ และรอผลตอบรับคนใช้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการก่อน
กทม.ชะลอต่อขยายสายสีเขียวไปคูคตและบางปู รอประเมินผู้โดยสารช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เดินหน้าบีบบีทีเอสลดค่าตั๋วเหลือ 65 บาทตลอดสาย แลกสัมปทานเดินรถทั้งโครงการ 30 ปี “คีรี” แย้มลดต่ำกว่า 100 บาทได้ แต่รัฐต้องซับซิดี้ส่วนต่าง คาดเริ่มเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง 16 เม.ย. 62

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ค. 2562 จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล PPP net cost 30 ปี รถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักและส่วนต่อขยายเก่าและใหม่ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต ที่รับโอนอย่างเป็นทางการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 รวมกว่า 67 กม. จำนวน 59 สถานี

“กทม.เปิดร่วมทุนเพราะต้องการเงินไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 1 แสนล้านบาท ให้ รฟม. ซึ่งเอกชนรายใหม่จะต้องรับภาระหนี้ก้อนนี้ไปทั้งหมด รับภาระผลขาดทุนในช่วง 10 ปีแรก และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กทม.ด้วย หลังปี 2572 และเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ส่วนวิธีการชำระหนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา”

ปัจจุบัน กทม.จัดทำรายละเอียดเสนอไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขออนุมัติจากบอร์ด PPP จากนั้นจะเปิดประมูล ให้เวลาเอกชน 2 เดือน ทำรายละเอียดเพื่อยื่นข้อเสนอ ภายในปีหน้าน่าจะได้เอกชนมาดำเนินการ ระหว่างนี้ กทม.ได้จ้างบีทีเอสเดินรถให้อยู่แล้ว ทั้งส่วนต่อขยายเก่าและขยายใหม่ นอกเหนือจากสายหลักที่บีทีเอสได้รับสัมปทาน

“หลังเปิดใช้ฟรีช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ถึงวันที่ 15 เม.ย. ปีหน้า จากนั้น กทม.จะเก็บค่าโดยสาร อยู่ระหว่างเจรจาบีทีเอสจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทางทั้งโครงข่ายเริ่มต้น 15-65 บาท เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เชื่อว่าบีทีเอสจะรับข้อเสนอ กทม. เพราะเอกชนไม่ขาดทุนเลย เพราะจะมีรายได้จากเชิงพาณิชย์ เช่น โฆษณาภายในสถานีและตัวรถไฟฟ้า ขณะที่ผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ต่อขยายไปสมุทรประการจะได้เพิ่มอีก 97,000 เที่ยวคนต่อวัน หากเปิดช่วงหมอชิต-คูคต ในปี 2563 จะได้อีกกว่า 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน ในปีหน้านี้จะเริ่มทยอยเปิดบริการ จากหมอชิตไปยังเซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทาง”

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวถึงความคืบหน้าของส่วนต่อขยายช่วงคูคต-ลำลูกกา คลอง 4 และช่วงสมุทรปราการ-บางปูว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเรื่องการก่อสร้าง เนื่องจากต้องการรอประเมินผลตอบรับจากปริมาณผู้โดยสารของส่วนต่อขยายใหม่ทั้งแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต เปิดให้บริการก่อน อย่างไรก็ตาม หากเอกชนไม่ว่าบีทีเอสหรือรายใหม่สนใจจะร่วมลงทุน PPP ทาง กทม.ก็ยินดี เนื่องจาก กทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะไปก่อสร้างงานโยธา

รายงานข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า ตามผลศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในช่วงปี 2562-2572 ซึ่งเป็นช่วงที่สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ยังไม่สิ้นสุด ในส่วนของสายหลัก 23.5 กม. ไปจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ส่วนต่อขยายสายเก่าและสายใหม่จะจ้างบีทีเอสเดินรถให้จนถึงปี 2572

ก่อนหน้านี้ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เซ็นสัญญาจ้างบีทีเอสแล้วถึงปี 2585 โดยมีเงื่อนไขยกเลิกได้ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง ขณะที่เอกชนรายใหม่อาจจะเป็นบีทีเอสที่เป็นผู้ชนะประมูล PPP จะเข้าบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงข่ายระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2573-2602 โดยจะต้องจัดซื้อทรัพย์สินทดแทน พร้อมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษาและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม.ตามสัดส่วนที่กำหนดในสัญญา

“ผู้ชนะประมูลต้องรับภาระการเงินทั้งหมดของ กทม.ที่เกิดขึ้น ซึ่งใน 10 ปีแรกจะขาดทุนอยู่ 21,134 ล้านบาท และรับภาระส่วนต่างรายได้จากกรณีเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง 15-65 บาท”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บีทีเอสรับหลักการข้อเสนอของ กทม.จะให้เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท แต่ต้องขอดูเงื่อนไขการเจรจาด้วย เนื่องจากต้องรับภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท แทน กทม. และการเปิดบริการส่วนต่อขยายจะทำให้ขาดทุนในช่วง 10 ปีแรก อาจจะไม่สามารถเก็บในอัตรา 65 บาท ได้ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน แต่จะเป็นระยะเวลากี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน รวมถึงการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ที่จะเริ่มแบ่งให้ กทม.ในปีที่ 11ด้วย

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้หารือกับ กทม. เรื่องค่าโดยสารสายสีเขียวตลอดสาย 65 บาทต่อเที่ยว ซึ่ง กทม.กับบีทีเอสต้องมานั่งหารือร่วมกันอย่างจริงจัง จะให้เอกชนดำเนินการอย่างไร และ กทม.จะช่วยตรงไหนบ้าง เช่น ซับซิดี้ส่วนต่างค่าโดยสาร หรือขยายสัญญาสัมปทาน เนื่องจากการลดค่าโดยสารจะกระทบต่อค่าโดยสารในสัมปทานเดิม ซึ่งบีทีเอสสามารถลดค่าโดยสารสูงสุดให้ต่ำกว่า 100 บาทต่อเที่ยวได้ แต่จะได้ 65 บาทหรือไม่ ต้องหารือกับ กทม.ก่อน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0