โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘8 บรรทัดครึ่ง’ นับหนึ่งถึงห้าปี แสนไลก์ ที่ ‘กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร’ บอกว่าไม่มีใครให้เครดิตตัวเองได้ทั้งหมด

a day BULLETIN

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 04.11 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 06.22 น. • a day BULLETIN
‘8 บรรทัดครึ่ง’ นับหนึ่งถึงห้าปี แสนไลก์ ที่ ‘กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร’ บอกว่าไม่มีใครให้เครดิตตัวเองได้ทั้งหมด

“100,000 ไลก์

 มองไปรอบตัวในทุกวันนี้ 

 มีเพจเฟซบุ๊กมากมายที่ใช้เวลาไม่นาน

หลายเพจใช้เวลาไม่ถึงปี

ก็สามารถข้าม 'หมุดหมาย' เล็กๆ อันนี้ไปได้

ราวกับตัวเลขนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดาย…”

        ส่วนหนึ่งของโพสต์ 'ขอขอบคุณ' บนเพจ '8 บรรทัดครึ่ง' ในวันที่ตัวเลขผู้ติดตามแตะหลักแสน ตัวเลขที่อาจดูไม่มากอะไรเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยสี่สิบกว่าล้านบัญชี แต่เป็นตัวเลขที่น่าภูมิใจ เมื่อนึกย้อนถึงห้าปีที่ผ่านมาที่ใครคนหนึ่งเฝ้าเพียรเขียน อ่าน เพื่อที่จะสื่อสารเนื้อหาด้านนวัตกรรม การพัฒนาตนเอง การบริหารผู้คนและธุรกิจจากประสบการณ์ของ ‘พนักงานประจำ’ 

        “คืนวันนั้นแสนนาน หากปีกาลนั้นแสนสั้น” 

        (The days are long, but the years are short.) 

        ทั้งชีวิตและการลงมือทำต่างดูเป็นเช่นนั้น ในวันที่เพจตัวเลขยังไม่ถึงหลักพัน ในวันที่ยอดแชร์ยังเป็นหลักหน่วย ในวันที่ไม่มีคนมาช่วย คืนวันแห่งความพยายามนั้นยาวนานชั่วกัลป์ แต่กลับไม่ได้ทำให้ใครคนหนึ่งหมดความกระตือรือร้นที่จะยังคงอ่านต่อไป เขียนต่อไป และเล่าต่อไป

        ทำต่อไปซ้ำๆ ทุกวัน ตลอดห้าปี จนกลายมาเป็นงานเขียนหลายพันชิ้น พอดแคสต์หลายร้อยตอน คลาสออนไลน์หลายสิบคลาส และหนังสือเกือบสิบเล่ม ในขณะที่ยังทำงานประจำควบคู่ไปด้วย

        '8 บรรทัดครึ่ง' ที่ทำให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเจ้าของเพจไปอย่างไร อะไรที่ทำให้ใครคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำในสิ่งซ้ำๆ ได้ทุกวัน เขาเรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางสู่หลักไมล์ 100,000 ไลก์ในวันนี้ 

        a day BULLETIN พูดคุยกับ 'ต้อง' - กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร นักเขียนเพจ '8 บรรทัดครึ่ง' คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ The Curators พนักงานประจำหัวหน้าทีมนวัตกรรม SCB 10X วิทยากรด้าน Design Thinking จาก Stanford d.school และอื่นๆ อีกมากมาย (รวมทั้งการเป็นคุณพ่อลูกสอง) ที่ผู้ชายคนนี้ลอง-ทำ-สม่ำเสมอ

 

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

 

‘เราให้เครดิตว่าเป็นผลงานเราคนเดียวไม่ได้หรอก’

        “ไม่เคยตั้งเป้าหมายเลย”

        กวีวุฒิขอบคุณและหัวเราะออกมาเมื่อเราบอกว่ายินดีด้วยกับยอดติดตามเพจที่ขึ้นมาเป็นหลักแสน ตัวเลขที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงล็อกดาวน์ จากห้าปีมีเจ็ดหมื่นไลก์ เพิ่มขึ้นสามหมื่นภายในสามเดือน เขายกเครดิตให้ ‘ปัน’ ‘พี’ และ ‘พิม’ ทีมลูกศิษย์เก่าที่เข้ามาช่วยเขียน ทำกราฟิก และดูแลหลังบ้าน จนมีผู้ติดตามมากขึ้นทันตาเห็น

        “เราให้เครดิตว่าเป็นผลงานเราคนเดียวไม่ได้หรอก โอเค ความสม่ำเสมอของเรามันก็ส่วนหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่ดีขึ้นมันมีแรงส่งจากคนอื่นทั้งนั้น อย่างช่วงแรก พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ แชร์โพสต์ให้ ยอดก็ขึ้นจากหลักพันมาเป็นหมื่นในวันเดียว หรืออย่างครั้งนี้ที่ตั้งแต่มีน้องๆ เข้ามาช่วย ยอดก็ดีขึ้นเห็นได้ชัด

        “ไม่เคยคิดว่าคนอ่านเยอะเลยนะ ถ้าเทียบกับเพจอื่นๆ ก็ยังถือว่าน้อยมาก เอาจริงเรื่องปริมาณเราไม่สนเท่าไหร่ แต่เรื่องคุณภาพเราตั้งใจมาก คนรู้ไหมไม่รู้แหละ แต่เรารู้ว่าถ้าเราจะปล่อยอะไรผ่านเพจไปสิ่งนั้นต้องเป็นของดี คนทำงานด้วยกันจะรู้ว่าเนื้อหาที่เลือกมามันเอาไปใช้ได้จริง”

        กลุ่มผู้อ่านที่กวีวุฒิลงมือเก็บข้อมูลจริงจัง จนเห็นว่าร้อยละ 80 นั้นเป็นพนักงานประจำ ส่วนอีกร้อยละ 20 นั้นผสมกันระหว่างนักธุรกิจและผู้บริหาร ที่เขาเข้าใจความต้องการของผู้อ่านดีว่ามองหาคอนเทนต์ประเภทใด เพราะเขาเองก็เป็นพนักงานประจำที่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานเช่นกัน 

‘ที่ยังทำได้เรื่อยๆ ก็เพราะมันเป็นตัวเรา’

        หลายคนอาจสงสัยว่าเขาแบ่งเวลาอย่างไรระหว่างบทบาทหัวหน้าทีมองค์กรขนาดใหญ่ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย พ่อลูกอ่อนสองคน แต่ก็ยังสามารถเขียนงานลงเพจได้เกือบทุกวัน มีหนังสือออกอย่างต่อเนื่อง อ่านหนังสือไม่ซ้ำ ทำพอดแคสต์ แถมช่วงนี้ยังมีไลฟ์สัมภาษณ์ทุกสัปดาห์อีก

        “คนมักคิดว่าเราใช้เวลากับเพจ กับพอดแคสต์เยอะ แต่จริงๆ มันเป็นแค่ 10% ของเวลาเราเอง ที่ยังทำได้เรื่อยๆ ก็เพราะมันเป็นตัวเรานี่แหละ เป็นเนื้อหาที่อยู่ในหัวเราจากการอ่าน เป็นตัวเราจากการทำงาน แล้วก็เอามาเขียน มาเล่าต่อ”

        กวีวุฒิเปรียบเทียบความ ‘efficiency’ ความมีประสิทธิภาพในชีวิตช่วงนี้กับวัยเด็ก ที่แต่ไหนแต่ไรเขามองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งก็ได้ ไม่ต้องชนะใครก็ได้ แต่ขอให้ใช้เวลาคุ้มค่าที่สุด และสนุกกับสิ่งที่ทำก็พอ

        “มานึกถึงความหลังเราก็เป็นแบบนี้ตลอดนะ ไม่ได้สนใจว่าต้องสอบได้ที่หนึ่ง วนอยู่ที่สองที่สาม แต่ที่เป็นที่หนึ่งเสมอคือออกจากห้องสอบคนแรกตลอด ทำเสร็จแล้ว พอแล้ว ไปเล่นแล้ว (หัวเราะ)

        “มันก็สะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพมากกว่าความสมบูรณ์แบบ คนที่ได้ที่หนึ่งเขาอาจตรวจทานมาก แต่เราทำให้ดีที่สุดตอนนั้นพอ จะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ อาจเพราะคิดแบบนี้แต่เด็กเลยดูทำอะไรได้เยอะในเวลาเท่ากัน”

‘ชีวิตเลือกได้จริงๆ แม้บางครั้งเหมือนจะเลือกไม่ได้เอาซะเลย’

        กวีวุฒิเล่าต่อถึงชีวิตวัยเด็ก ที่นอกจากภาพออกจากห้องสอบเป็นคนแรกๆ ที่จำความได้ ก็เป็นภาพนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์คุณพ่อรวมกับพ่อแม่พี่น้องห้าคน 

        “ป๊าพูดเสมอว่าไม่มีเงิน แต่ป๊าจะลงทุนกับการศึกษาให้ลูกทุกคน เป็นความโชคดีของเราที่เขาตัดสินใจแบบนี้ เราให้เครดิตว่าชีวิตเราดีเพราะตัวเราเองไม่ได้ คนเราไปไกลกว่าการเลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ได้หรอก”

        นอกจาก ‘โชคดี’ ที่พ่อแม่ตัดสินใจลงทุนในการศึกษา สิ่งที่กวีวุฒิมองว่าโชคดีอีกอย่างคือการที่พ่อแม่ปล่อยให้เขา ‘เลือก’ เองมาตลอด 

        “สมัยประถม สอบติดกรุงเทพคริสเตียนกับอัสสัมชัญ แล้วต้องเลือก แม่ถามว่าจะเลือกที่ไหน ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะเลือกคนละที่กับพี่ชาย แล้วแม่ก็ยอม เขาอาจมีเหตุผลอื่นนะ แต่มันทำให้เราจำเลยว่า เออ ชีวิตเราเลือกเองได้นี่หว่า”

        หลังจากนั้นมาเส้นทางชีวิตที่เหลือก็ล้วนเป็นสิ่งที่กวีวุฒิเลือกเองตลอด ตั้งแต่เลือกวิศวะแทนหมอ เปลี่ยนไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ ทุกทางเลือกที่เขาบอกว่าตัดสินใจได้ เพราะว่าได้ ‘ลอง’ ลองจนรู้ว่าอะไรที่ชอบ และอะไรที่ไม่ใช่ทาง

        “มีครั้งหนึ่งตัดสินใจไม่ได้ระหว่างเรียนหมอกับวิศวะ ก็เลยลองไปเรียนที่ศิริราช ลองอาทิตย์เดียวรู้เลยว่านี่ไม่ใช่ที่ของเรา เราไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองที่จะอยู่ตรงนี้ ปล่อยให้คนอื่นที่เหมาะกับเขาทำดีกว่า”

        การลองลงมือทำไปก่อนที่ไม่ใช่แค่กับทางเลือกที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่แม้จะไม่มีทางให้เลือก กวีวุฒิก็ใช้หลักการเดียวกันในการลองทำไปก่อน ลองขอ ลองแสดงให้เห็น ลองจนทางค่อยๆ ปรากฏให้เห็น

        “เป็นแบบนี้บ่อยเข้าเราก็เชื่อว่าชีวิตเลือกได้จริงๆ แม้บางครั้งเหมือนจะเลือกไม่ได้เอาซะเลย อย่างตอนอยากไปเรียนต่อ MBA ต่างประเทศ ตอนนั้นมีโจทย์สองอย่างคือถ้าจะไปต้องได้เรียนยูที่ดีที่สุด และต้องได้ทุน เพราะรู้ว่าพ่อแม่ไม่มีตังค์ ที่ทำงานตอนนั้นก็บอกว่าไม่มีทุนด้านนี้ เราก็เอาวะ สอบไปก่อนแล้วกัน จนสอบติดยูท็อปๆ ที่อยากได้ แล้วค่อยเอาไปยื่นเรื่อง ยื่นทั้งที่เขาเคยบอกว่าไม่มีทุนให้นี่แหละ แต่ครั้งนี้เรามีหลักฐานแล้วไงว่าเราสอบได้ จากที่ไม่มี ไม่ให้ รอบนี้ง่ายเลย

        “หลังจากนั้นมันยิ่งเชื่อสนิทใจว่า เราเลือกได้ แค่บางครั้งเราต้องสร้างโอกาสเอง หรือต่อให้เขาปฏิเสธแต่แรก แต่เรามีสิทธิที่จะลองขอ ถ้าเขาบอกว่าไม่มี แล้วคุณหยุด ไม่ทำอะไรต่อ ไม่แสดงความตั้งใจอะไรเลย ใครเขาจะหันมามอง”

 

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

‘ไม่เคยมีเสียงในหัวห้ามตัวเองว่าอย่าทำ มันยังไม่ดี ไม่มีอะ ลองเลย’ 

        “สแตนฟอร์ดเปลี่ยนเราไปเยอะมาก มันทำให้เราถ่อมตัวสุดๆ ว่ามีอะไรที่ไม่รู้เยอะมาก แล้วดีใจด้วยเวลาไม่รู้ มันไม่มีข้อจำกัดอะ อีกบทเรียนติดตัวที่ได้มาจากที่นี่คือเรื่อง failure อาจารย์บอกว่า ถ้าไม่เคยเฟล แปลว่าทำแต่อะไรเดิมๆ ความที่เป็นเด็กวิศวะมาก่อน ก็มาคิดว่า statement นี้จริงไหม ซึ่งมันก็จริง ค้านไม่ได้ เลยถามต่อว่า แล้วเราอยากเป็นคนทำอะไรเดิมๆ หรือเปล่า ถ้าไม่อยาก งั้น failure ก็เป็นสิ่งจำเป็น พอคิดแบบนี้ก็กลัวความผิดพลาดน้อยลง 8 บรรทัดครึ่งนี่เป็น prototype สุดๆ ไม่เคยมีเสียงในหัวห้ามตัวเองว่าอย่าทำ มันยังไม่ดี ไม่มีอะ ลองเลย”

        กวีวุฒิเล่าต่อว่า เป็นเรื่องปกติที่คนมักจำเฉพาะความสำเร็จ แต่สิ่งที่ไปได้ดีล้วนมีประสบการณ์ความผิดพลาดอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น คนแค่ไม่ได้เห็นหรือจดจำมัน 8 บรรทัดครึ่งเองก็เป็นสนามทดลองของเขาที่ทำให้เห็นความจริงว่าเราไม่มีวันรู้จนกว่าจะได้ลอง บางไอเดียมั่นใจว่าจะไปได้ดีกลับไม่ใช่ บางไอเดียที่แค่ลองทำไปก่อนกลับมีคนสนใจ 

        “บางไอเดียนี่ตั้งใจมาก อย่างเราเคยจัดบุ๊กคลับ รับได้ไม่กี่คนนะ แต่ต้องเตรียมสถานที่ ต้องตั้งกรุ๊ปแชตย่อย คอยดูแลทั้งก่อนและหลังงาน ใช้เวลาและพลังเยอะมาก สุดท้ายก็ไม่ได้จัดต่อ แต่ก็ไม่เสียดาย ถือว่าได้ลองแล้ว รู้แล้วว่ามันยังไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นความคิดนี้จะค้างอยู่ในหัวอะ ทำดีปะวะ ทำแล้วจะเป็นไงวะ ความคิดที่ค้างคามันทำให้เราไปทำอย่างอื่นต่อไม่ได้

        “แต่อย่างไลฟ์นี่มั่วมาก ตอนนั้นโควิด-19 ก็คิดว่าทำอะไรให้คนอ่านที่อยู่บ้านดี มีคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าจะเอาหน้าออกจริงหรอ ปกติเราเขียนอย่างเดียว แต่ก็เอาวะ เอาหนังสือ Only the Paranoid Survive มาเล่า เข้ากับสถานการณ์ช่วงนั้นดี กลายเป็นว่า โอ้โฮ มันมีคนฟัง ยอดดีเลยนะ แต่รีวิวหนังสือเล่มหนึ่งมันเหนื่อย เลยลองเปลี่ยนมาสัมภาษณ์ ก็ถามตัวเองว่าจะคุยยังไงไม่ให้ซ้ำกับสัมภาษณ์นักธุรกิจอื่นๆ สุดท้ายก็คิดว่าเป็นตัวเราเองนี่แหละ เราไม่ใช่สื่อ เราเป็นคนทำงาน ถามเรื่องการบริหารมันก็ได้อีกมุมอยู่แล้ว”

‘คนชอบถามว่าจะเหนื่อยไปทำไม… แต่คุณเคยชอบอะไรสักอย่างไหมล่ะ’

        การลองและฟังเพื่อเข้าใจความต้องการ เป็นสิ่งที่กวีวุฒิพูดถึงตลอดบทสนทนาครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ฟังความต้องการผู้อื่น แต่รวมถึงฟังความต้องการตัวเอง และไม่ใช่แค่ลองให้เห็นสิ่งที่พลาด หากลองเพื่อให้เจอสิ่งที่ใช่ เช่น การสอนที่ไม่เคยเป็นงานในฝัน - จนกระทั่งได้ลองและฟังเสียงข้างในตัวเอง 

        “การสอนนี่เป็นเรื่องแปลกสำหรับเรามาก ไม่เคยเป็นสิ่งที่วางแผนไว้มาก่อน แต่พอได้สอนครั้งแรกเต็มรูปแบบที่ Asian Leadership Academy ร่วมกับเมษ์ (เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล) ที่จบ d.school เหมือนกัน ออกแบบคลาสด้วยกันทุกขั้นตอน เลือกเด็กมาด้วยกัน เป็นการสอนห้าวันที่ตั้งใจมาก สอนเสร็จร้องไห้เลย แฟนงง เมษ์งง เราเองก็งงว่าเป็นอะไร สอนครั้งที่สอง อ้าว ร้องอีกแล้ว (เงียบไปสักพัก)

        “มันเหมือนเจอแสงสว่างอะ มันปีติ รู้เลยว่าเราต้องทำสิ่งนี้แหละ รู้สึกขนาดนี้มันใช่แล้วแหละ คนชอบถามว่าจะเหนื่อยไปทำไม… แต่คุณเคยชอบอะไรสักอย่างไหมล่ะ ทำไปไม่มีเหตุผล เหมือนชอบคนคนหนึ่งแล้วตามจีบเขาอะ คนอื่นไม่รู้หรอกทำไมถึงชอบ เราเองเท่านั้นที่รู้”

        การสอน ส่งต่อ ช่วยพัฒนาผู้อื่นที่ดูเป็นจุดร่วมของงานหลากหลายที่กวีวุฒิทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำเพจส่งต่อความรู้ การเลือกคนให้เหมาะกับงานและปล่อยให้ทีมงานแสดงฝีมือเต็มที่ 

        “เรารักงานสอนนะ แต่ไม่กล้าบอกว่าสอนคนอื่นหรอก อย่างในเพจจะบอกชัดเจนว่าเราเองก็อ่านจากที่อื่นมา แต่ที่พิเศษคือมันเป็นส่วนผสมจากประสบการณ์จากการทำงานจริงๆ ถ้าเราบอกว่า ‘อิสระจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราไว้ใจ’ อาจฟังเป็นคำพูดเท่ๆ นะ แต่คนทำงานจะรู้เลยว่านี่มันจริง เขาจะรู้เลยว่าการเลือกทีมที่เหมาะสมตั้งแต่แรกมันสำคัญแค่ไหน

        “อิสระต้องมีความไว้ใจ ความรู้ก็ต้องมีประสบการณ์ ถ้าไปจำเขามาว่าต้องให้อิสระ แต่คนที่มีอยู่ไม่เหมาะกับงานนั้นแต่แรก คุณไว้ใจไหมละ แบบนั้นให้อิสระก็เละ ยกตัวอย่างทีมที่ SCB 10X ที่เลือกมาเองทีละคน จนลงตัว มีทุกสกิลมาเจอกัน พอเรามั่นใจว่ามีทีมที่ใช่แล้วทำงานง่ายเลย เราแค่ดูภาพรวม เสริมนู่นนิดนี่หน่อย แล้วปล่อยให้เขารันกันเอง

        “เหมือนเรื่องทำเพจอะ มันไม่มีอะไรที่เรา take credit ได้ทั้งหมด เราบอกทีมว่ามันไม่ใช่เพราะเราใจดี เลยให้อิสระ แต่เพราะเขาทำให้เราเชื่อใจ และในขณะเดียวกัน การที่เราปล่อยให้เขาได้ลองเต็มที่ มันก็ยิ่งทำให้เขาได้แสดงฝีมือตัวเอง ผลงานเขาก็ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้น มันก็วนกันไปแบบนี้”

‘ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี แล้วมีความสามารถด้วย ก็ไม่ต้องกลัวความเปลี่ยนแปลงหรอก’

        ไว้ใจ และให้อิสระ ไม่ใช่แค่กับทีมงาน แต่รวมถึงลูกทั้งสองของเขา ‘พอดี’ และ ‘พอใจ’ เช่นกัน ที่กวีวุฒิเชื่อว่าการสอนที่ดีที่สุด ไม่ใช่การสอนเนื้อหา แต่คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขามั่นใจว่าพลาดได้ และเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

        “คนชอบคิดว่าที่เราทำงานเยอะๆ เพราะมีเป้าหมายเยอะมาก แต่เปล่าเลย เราทำเพราะอยากทำ กับลูกเองก็เช่นกัน เราไม่ได้ตั้งเป้าอะไรให้เขาเลย เราพร้อมสนับสนุนให้เขาทำอะไรที่อยากทำ อาจค้านความต้องการคนยุคนี้นะที่ต้องสำเร็จ ต้องสร้างอิมแพ็กต์ คือถ้าทำได้ก็ดี แต่เราเห็นหลายคนที่มุ่งสร้างอิมแพ็กต์ทั้งชีวิต แต่ไม่มีความสุข เราไม่เอาอะ อยากให้เขาสนุก มีความสุขกับชีวิตมากกว่า”

        เมื่อถามว่าบทเรียนมากมายที่เขาได้จากการอ่าน ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ สัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย เขาคิดว่าจะมีบทเรียนไหนที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ก็จะยังเป็นบทเรียนสำคัญที่เขาอยากส่งต่อให้กับลูกๆ ทั้งสองบ้าง

        “ในเชิงทักษะ ถ้าเขาสนใจ coding ก็น่าลอง คือโลกมันไม่กลับไปแอนะล็อกแน่ๆ ถ้าเขาสามารถ digitize ไอเดียให้เป็นรูปธรรมได้ก็จะได้เปรียบ

        “แต่ทักษะพวกนั้นมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของพวกนี้มันฝึกได้ แต่ข้้นพื้นฐานมันก็คงไม่พ้นจากที่คนเขาพูดกัน ก็คือมีใจเปิดกว้างพร้อมเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจตัวเอง คิดว่าถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี แล้วมีความสามารถด้วย ก็ไม่ต้องกลัวความเปลี่ยนแปลงหรอก”

        หัว(สมอง) ควบคู่กับใจ หัวใจสำคัญที่กวีวุฒิอยากส่งต่อให้ลูกๆ ทั้งสองของเขา และยังดูเป็นสิ่งที่เราได้เห็นจากเนื้อหาของ 8 บรรทัดครึ่งเสมอมา ตั้งแต่วันแรกเมื่อห้าปีที่แล้วที่เขาได้ลอง ลงมือทำต่อไปในวันที่สอง สาม สี่ และยังไม่หยุดจนกระทั่งวันนี้ ที่เขาบอกว่า ‘เราให้เครดิตว่าเป็นผลงานเราคนเดียวไม่ได้หรอก’

        อย่างที่เขาได้บอกลงท้ายไว้ในโพสต์ ‘ขอขอบคุณ’ ว่าในขณะที่คนฟังได้ประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เขาเองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อ่าน ฟัง คิด เขียน เรียนรู้มากขึ้นในทุกวันเหมือนกัน

        เห็นเช่นนี้แล้วสิ่งที่เขาได้พูดไปในบทสนทนากว่าหนึ่งชั่วโมงก็ดูจะยืนยันชัดเจนว่า เราล้วนต่างเป็นผลรวมของกันและกัน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0