โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แบ่ง 6 กระทรวง "ปชป.-ภท." "สุริยะ" ปัดงัดข้อ "ประวิตร"

NATIONTV

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2562 เวลา 08.50 น. • กรุงเทพธุรกิจ
แบ่ง 6 กระทรวง ปชป.-ภท. สุริยะ ปัดงัดข้อ ประวิตร
แบ่ง 6 กระทรวง ปชป.-ภท. สุริยะ ปัดงัดข้อ ประวิตร

"พปชร." แบ่งโควตารัฐมนตรีลงตัว ปชป.คุม "พาณิชย์-เกษตร-พม." -ภท.คุม"คมนาคม-ท่องเที่ยว-สธ." ด้าน"สุชาติ" ปัดถอยชิงประธานสภาฯหวังเรียกโคสตารัฐมนตรีคืน คาด1-2 วันประกาศจัดตั้งรัฐบาล ลุ้นเทียบเชิญปชป.วันนี้ ขณะที่ "สุริยะ" ปัดงัดข้อ "ประวิตร"

ความเคลื่อนไหวการจับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุดมีรายงานว่า จากการเจรจาระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กับ พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย มีข้อสรุปในคืนวันที่ 25 พ.ค.โควตารัฐมนตรี เท่ากันคือพรรคละ 7 เก้าอี้ ประกอบด้วย 3 รัฐมนตรีว่าการ 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ

โดยตำแหน่งที่พรรคภูมิใจไทย ได้โควตารัฐมนตรีว่าการ ประกอบด้วย รมว.คมนาคม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา รมว.สาธารณสุข

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้เก้าอี้ รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสายวันที่ 26 พ.ค.มีรายงานข่าวว่า ปชป.ได้ตัดสินใจคืนเก้าอี้รมว.เกษตรฯให้พปชร.เพื่อแก้ปัญหาภายใน กรณีกลุ่มสามมิตรไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่งที่ขอไว้แต่ต้น จนเป็นเหตุป่วนระหว่างโหวตเลือกประธานสภาฯ ซึ่ง พปชร.กำลังหารือว่า จะให้กระทรวงใดทดแทนให้ปชป.

ส่วนพรรคขนาดเล็กที่เข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วพปชร. ที่เพิ่งประกาศตัวคือ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ตำแหน่งหลักคือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนตำแหน่ง รมช.กำลังพิจารณาร่วมกัน

สำหรับตำแหน่ง รมว.แรงงาน มีรายงานว่า พปชร.จะให้เป็นโควตาของสองพรรครวมกัน คือ รวมพลังประชาชาติไทยและชาติพัฒนา โดยให้ตกลงกันเองว่าพรรคใดจะดำรงตำแหน่งก่อน

ด้านนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตนไม่มีปัญหากรณียอมถอยชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนการจัดสรรโควตารัฐมนตรีในส่วนของพลังประชารัฐเพื่อทดแทนตำแหน่งดังดล่าวขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในพรรคที่จะพิจารณา ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐให้ตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคประชาธิปัตย์มองว่าไม่ใช่การตอบแทน เพราะสิ่งที่ทำคือ ให้ประเทศชาติเดินหน้า ดังนั้นตนมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลควรให้ความร่วมมือเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีความสับสน ขณะที่การประกาศจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้น 1-2 วันนี้

เช่นเดียวกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. กล่าวว่าการที่นายชวน ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากพันธมิตร ทั้งส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพันธมิตรอื่นๆ รวมถึงพรรคเล็กๆ ด้วยตัวเลขกับเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา มั่นใจว่าตัวเลขในการจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ค่อนข้างมีเสถียรภาพระดับหนึ่งอย่างน้อยก็เกิน 251 เสียงแน่นอนแส่วนที่มีความกังวลเรื่องของเสียงปริ่มนั้นคะแนนเสียงเมื่อวานก็ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ซึ่งตัวเลขต่างๆ ก็มาจากพรรคที่ได้ร่วมพูดคุยการที่จะมาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

ส่วนจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นไปตามขั้นตอน เมือ่ได้ประธานสภา ในลำดับต่อไปก็คอยให้ประธานสภาได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมา ลำดับต่อไปคือการโหวตเลือกนายกฯ หลังจากนั้นค่อยเป็นเรื่องการจัดตั้งครม. ค่อยๆ ไปตามลำดับ

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. กล่าวถึงกระแสข่าวว่ากลุ่มสามมิตรไม่พอใจพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า ก ขอชี้แจงว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นการที่มีสื่อระบุว่า พล.อ.ประวิตร มีส่วนยุ่งเกี่ยวนั้น จึงไม่เป็นความจริง และตอนนี้ไม่มีกลุ่มสามิตรแล้ว ไม่มีแต่พรรค พปชร.

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวว่า กระแสข่าวเรื่องความไม่พอใจขึ้นภายในพรรคเพราะยกกระทรวงสำคัญให้พรรคร่วมหลายกระทรวง ยืนยันว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหรือการประสานกับพรรคอื่นๆ นั้น ตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ มีเพียงหัวหน้าและเลขาฯ พรรค ต่อสายพูดคุยกับพรรคต่างๆ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปหลังการโหวตเลือกรองประธานสภา ก็คงจะเห็นภาพชัดเจน ว่าการร่วมมือกันระหว่างพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลเป็นอย่างไร

ส่วนความเคลื่อนไหวพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค เปิดเผยว่ายังไม่มีความชัดเจนจากพรรคแกนนำที่จัดตั้งรัฐบาล ที่จะพูดคุยหรือส่งเทียบเชิญมายังพรรคส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ประสานงานกับเพื่อนพรรคการเมืองนั้น เป็นเพียงการประสานงานแต่การตัดสินใจที่ชัดเจนนั้นต้องขึ้นอยู่กับการประชุมร่วมกับระหว่างกรรมการบริหารพรรคและส.ส.

ขณะที่ความคืบหน้าการเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตยืเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเดิมทีแกนนำพรรคจะเดินทางไปเทียบเชิญในวันที่26 พ.ค. แหล่งข่าวพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า จากการประสานงานกับพรรคพลังประชารัฐ รอบล่าสุด ได้รับแจ้งว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐจะยังไม่มีการส่งเทียบเชิญมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2 เสร็จสิ้นล่าช้า

ขณะที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐต้องการไปหารือกันในหลายๆเรื่องอีกครั้ง อาทิ การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ยังไม่ลงตัว กรณีผลคะแนนการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งผลคะแนนของตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐกับของพรรคอนาคตใหม่สูสีกันมาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังรออยู่ ไม่ได้เร่งรีบ ทั้งนี้คาดว่าการส่งเทียบเชิญมาที่พรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นวันนี้( 27 พ.ค.) ส่วนการจัดวางตัวบุคคลของพรรคไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงนั้น ขณะนี้เรายังไม่ได้พูดคุยเตรียมเรื่องนี้ เพราะต้องรอดูว่าเราจะได้รับตำแหน่งใดบ้าง และตรงตามที่แจ้งไปหรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0