โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แบงก์7แห่งกำไร1.54แสนล้าน เพิ่ม4.24% เปลี่ยนผ่านดิจิทัลกระทบ”น้อย”

Money2Know

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2562 เวลา 07.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
แบงก์7แห่งกำไร1.54แสนล้าน เพิ่ม4.24% เปลี่ยนผ่านดิจิทัลกระทบ”น้อย”

ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการปี 2561 ชี้ให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์กำลังปรับตัวในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ที่ธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งที่รายงานผลประกอบการในปี 2561 มีกำไรสุทธิ 154,817.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.24% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 148,520 ล้านบาท

ขณะที่ยังไม่นับรวมธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย(KTB)  บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) และ ธนาคารทหารไทย(TMB) ที่ยังไม่รายงานผลประกอบการในไตรมาส 4 และ ปี 2561

ในปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกิจกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล แต่หลังสิ้นปี 2561 ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบยังจำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกรรมของแต่ละแบงก์ที่มีรายได้จากช่องทางดังกล่าว

อย่างกรณีของธนาคารกรุงเทพ(BBL) ยังเติบโตได้ โดยผลการดำเนินงานปี 2561 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากปี 2560 โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7.1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.40% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.1% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

BBL ระบุว่าแม้ว่าจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเติบโตดี ขณะที่ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.4%

อ่านเพิ่มเติม สรุปผลประกอบการสำหรับงวดสามเดือนและสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561

สำหรับธนาคารที่ประกาศนโยบายเข้าสู่ดิจิทัลอย่างคึกคัก คือ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมช่องทางดิจิทัลพอสมควร เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นสำคัญ

KBANK ในปี 2561 มีกำไรสุทธิ  38,459 ล้านบาท เพิ่มข้ึนจากปีก่อน 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00% แต่เกิดจากการตั้งสํารองค่าเผื่อหน้ีสงสัยจะสูญลดลง ซึ่ง สอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร

ขณะที่ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มข้ึน 4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน สําหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 5,750 ล้านบาท หรือ 9.17% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินเพิ่มข้ึนจากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน

อ่านเพิ่มเติม สรุปผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับไตรมาสที่ 4 และสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ด้าน SCB แม้จะมีกำไรมากที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ แต่ลดลงจากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิปี 2561 จำนวน 40,068 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้รายได้จากการดำเนินงานของธนาคารยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 138,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 4.4%

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง 4.7% จากปีก่อน การยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล การชะลอตัวของธุรกิจประกันภัย และการลดลงของค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในครึ่งปีหลัง เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ Transformation ตลอดสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 46.8% ในปี 2561 ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 45-47%

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ปรากฏเด่นชัดขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2562

ตัวอย่างจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ชี้ให้เห็นว่าผลดำเนินการเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัลต่างกัน ซึ่งธนาคารอื่นๆ ที่เหลือก็มีสภาพไม่ต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ออกมา ต่ำกว่านักวิเคราะห์ประเมินไว้ ซึ่งทำให้เกิดแรงเทขายกลุ่มธนาคารอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยดัชนีกลุ่ม BANK ลดลง 12.02 จุด หรือ 2.32% อยู่ที่ 506.17 จุด

สวนทางกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่บวก 3.37 จุด หรือ 0.22% อยู่ที่ 1,583.77 จุด มูลค่าการซื้อขาย 48,270.79 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0