โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แบงก์สแกนพอร์ตธุรกิจเสี่ยง ลูกค้า "SCB" ปรับโครงสร้างหนี้ 3 หมื่นล้าน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 04.53 น. • เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 04.50 น.
12-1 แบงก์สแกนพอร์ต

แบงก์สแกนพอร์ตสินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยว 6 แสนล้านบาท ลุยปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกสกัดหนี้เสียลาม “ไทยพาณิชย์” ประเมินลูกค้าธุรกิจทั้ง “รายใหญ่-เอสเอ็มอี” ต้องปรับโครงสร้างหนี้ร่วม 3 หมื่นล้านบาท “แบงก์กรุงเทพ” ชี้ผลกระทบรุนแรง แบงก์ต้องประคองลูกค้าให้รอด ฟากสมาคมธนาคารไทยลุ้นรัฐจัดซอฟต์โลน-ธปท.คลายเกณฑ์กำกับเพิ่มเติมหนุนปรับโครงสร้างหนี้สะดวกขึ้น

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจของธนาคารตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ขณะนี้ธนาคารมีการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือ ซึ่งมาตรการเบื้องต้นจะมีตั้งแต่การยืดอายุชำระหนี้ พักชำระเงินต้น และการลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับกรณีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะมีเข้ามาสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ราว 2 หมื่นล้านบาท หรือราว 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนลูกค้ารายย่อยมีการปรับโครงสร้างหนี้ไม่มากนัก

“เราไม่ต้องรอประกาศมาตรการ แต่จะเข้าไปช่วยลูกค้าทันที เป็นการทำงานเชิงรุก ช่วยเหลือ และปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพราะเราคิดว่าสภาพเศรษฐกิจของเดิมที่ยังไม่มีไวรัสก็เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งมีไวรัสระบาดยิ่งทำให้การเติบโตของการท่องเที่ยวยิ่งหายไป ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์ที่มีเอฟเฟ็กต์ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการใช้จ่ายและซัพพลายเชน” นายสารัชต์กล่าว

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ประกอบกับไทยเจอภัยแล้งที่รุนแรงทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้นจะได้รับผลกระทบกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการยืดอายุการชำระหนี้ พักหนี้ หรือลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นมาตรการปกติเพื่อประคองลูกค้า

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมีสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 โดยลูกค้าบางกลุ่มเริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเกษตร ซื้อมาขายไป กลุ่มนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก ชิ้นส่วนยานยนต์และซัพพลายเชน เป็นต้น

“คณะทำงานจะเห็นข้อมูลลูกค้าว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือลูกค้ารายใดจะต้องปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกมากขึ้น ทั้งการเข้าไปดูแลและแนะนำลูกค้าถึงวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม โดยพิจารณาตามอาการของลูกค้า บางรายอาการค่อนข้างหนักเบาไม่เท่ากัน ทีมงานจะดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ซึ่งตอนนี้ยอดปรับโครงสร้างหนี้เยอะมาก แต่กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธปท.และธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม โดยสมาคมธนาคารไทยประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารสมาชิกแต่ละแห่ง ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการติดต่อลูกค้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และได้หารือกันถึงแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำร่วมกันระหว่างธนาคาร ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง

ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อทั้งระบบที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่แบงก์จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้มีมูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 6 แสนล้านบาท

“การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ จะไม่ได้ออกมาในลักษณะแพ็กเกจสำเร็จรูป เนื่องจากลูกค้าแต่ละรายมีปัญหาที่แตกต่างกัน โดยสมาคมธนาคารไทยมีการหารือกับ ธปท.เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในส่วนที่มีข้อติดขัดในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้พูดตามตรงธนาคารทำอะไรไม่ได้มาก เมื่อให้เงินไปแต่ลูกค้าไม่มีเงินคืนก็ต้องชะลอการคืนกันไป ทั้งนี้ ก็ต้องดูว่าสาเหตุที่ลูกค้ายังไม่สามารถชำระคืนได้คืออะไร และจะคืนได้เมื่อไหร่ ซึ่งต้องปรับกฎเกณฑ์ให้ดีว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่” นายปรีดีกล่าว

นายปรีดีกล่าวอีกว่า ภาครัฐน่าจะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดหรือวิธีการ ซึ่งในระยะข้างหน้าคาดว่าจะเห็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมออกมาอีก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หลังจาก ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีไป ปัจจุบันพบว่าสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างพูดคุยกับแบงก์เพื่อหาแนวทางการผ่อนคลายเกณฑ์เพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0