โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แบงก์ฝ่าเศรษฐกิจ-ทำกำไรไตรมาสแรก!

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 12.09 น.

แบงก์โชว์กำไรไตรมาสแรก “ค่ายทีเอ็มบี” ชูเงินฝาก - สินเชื่อบ้านเติบโต  ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย”แจงรายได้จากเงินลงทุน-ขายเอ็นพีแอลและธุรกรรมเพื่อค้าหนุนกำไร92.4%ตามด้วยน้องเล็ก “LHFG”มีกำไรเป็นบวก 36% ภาพรวมสะท้อนรายได้มิใช่ดอกเบี้ยลดและตั้งสำรองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานรั้งกำไรไตรมาสแรก

 

                ธนาคารพาณิชย์รวมบริษัทย่อยรายงานผลประกอบการไตรมาส1ปี2562 เมื่อพิจารณาจากรายธนาคาร พบว่า   ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.9% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจาก2.34% เป็น2.48 %ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 28.3% สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ  สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 3.1% และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ 42.6%

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,029,810 ล้านบาท ลดลง 2.6% จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 189.0%

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยหรือทีเอ็มบีมีกำไรสุทธิ 1,580ล้านบาทลดลง 701ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 สาเหตุจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ รวมทั้งการบันทึกค่าใช้จ่าย one-time สำหรับ Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ โดยธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากมาอยู่ที่ 6.61 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.8% จากไตรมาสที่แล้ว ตามการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 6.87 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL) อยู่ในระดับทรงตัวที่ 2.81% ขณะที่สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 145%  

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือTMB กล่าวว่า “ทีเอ็มบียังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์การใช้เงินฝากเป็นตัวนำ โดยการขยายฐานลูกค้าผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก เมื่อรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าแล้วจึงค่อยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ ประกัน และการลงทุน ซึ่งที่ทีเอ็มบี เราไม่เพียงแต่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง หากแต่ยังมอบสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Get MORE with TMB

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ทีเอ็มบีมีเงินฝากเติบโต 1.8% หนุนโดยเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยจากผลิตภัณฑ์หลัก หรือ Flagship product ได้แก่ TMB All Free (+2%) และ TMB No Fixed (+3%) รวมทั้งเงินฝากในรูปแบบดิจิทัล ME Save (+7%)

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 3,650 ล้านบาท ลดลง 3.41% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้หมดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 แต่หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนภาษี ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 771 ล้านบาท หรือ 18.70% ซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์บนพื้นฐานของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางของธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิเติบโตขึ้น 2.44% และเป็นการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องหลังจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้หมดไป ซึ่งสามารถสะท้อนได้ว่าธนาคารมีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจหลักมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่พันธกิจของปีนี้ก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดีตามแผน โดยธนาคารยังรักษาความเป็นที่ 1 ในสินเชื่อเช่าซื้อที่เติบโต 2.81% จากสิ้นปี (13.71% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน) การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้ NPL อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 2.19% รวมถึงการขยายสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ที่สามารถปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.31%”

                นายโอมาร์ ซิดดิก รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 325.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 156.1 ล้านบาท หรือ 92.4% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 3.4% และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 17.4% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 8.2% 

                ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2562 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 157.7 ล้านบาทหรือ 8.2% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ “Fast Forward” เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2562 อยู่ที่ 59.8% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่  57.2%อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2562   อยู่ที่ 3.31% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2561อยู่ที่ 3.98% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

                นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้  เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,730 ล้านบาท ลดลงจำนวน 36 ล้านบาท หรือ 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการลดลงของกำไรพิเศษจากเงินลงทุน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มทิสโก้ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการดำเนินธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ให้อยู่ในระดับสูงที่ 18% พร้อมกับประกาศจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7 บาท สำหรับรอบผลประกอบการวันที่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 2561 โดยเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 29 เมษายน 2562 นี้  

                สำหรับบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ LHFG มีกำไรเป็นบวก 36%เมื่อเทียบไตรมาสแรกปีนี้และปีก่อนโดยมีกำไรเพิ่มเป็น 807ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 771ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0