โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แบงก์ปรับแผน รับมือโควิด-19

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 23.40 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 23.35 น. • Thansettakij

นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากผู้ประกอบการหลายธุรกิจที่กลับมาใช้วงเงินสินเชื่อจากสัญญาสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ที่เคยทำไว้ แต่ไม่ได้เบิกใช้ เพราะส่วนใหญ่หันไประดมทุนผ่านตราสาร แต่ไตรมาสแรกผู้ประกอบการที่ไม่สามารถระดมทุนผ่านตราสารหนี้ จึงกลับมาใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร เช่น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เบิกค่าก่อสร้างในโครงการที่ก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้า

“เราจะจ่ายรายที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมจะโอนกรรมสิทธิ์ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าเป็นรายที่ต้องการวงเงินค่าก่อสร้างคอนโดมิเนียมใหม่ เราจะไม่อนุมัติค่าก่อสร้างในช่วงนี้”

 

ทั้งนี้ลูกค้าCommercial จะทำธุรกิจหลายด้าน เช่น โรงแรม หรืออพาร์ตเมนต์และลงทุนในตลาดด้วย จึงสามารถนำเงินผลตอบแทนจากการลงทุนมาสนับสนุนธุรกิจได้ ส่วนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะอยู่ในช่วงก่อสร้าง จึงยังไม่เรียกเก็บหนี้เงินต้น เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้ารายย่อยแล้ว จึงชำระหนี้เงินต้น

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโส ผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบช่วง 2 เดือนแรกยังทรงตัว แต่ส่วนของธนาคารเห็นความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยหดตัว 20% ซึ่่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ว่าจะหดตัว 5.3% ดังนั้นแนวโน้มความต้องการสินเชื่อทั้งปีจะหดตัวตาม และยังได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 ของกรมที่ดินด้วย

สำหรับสินเชื่อบ้านใหม่น่าจะถูกกระทบ เพราะแนวโน้มครึ่งปีแรก ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ดำเนินโครงการใหม่ จึงมองว่าแนวโน้มความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งปี น่าจะทรงตัว โดยธนาคารได้ปรับกลยุทธ์มาทำตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์และสินเชื่อบ้านแลกเงิน โดยสินเชื่อ Refinance ปัจจุบันกำหนดดอกเบี้ย 2.75% ต่อปี และในเดือนเมษายนจะออกโปรแกรมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ใหม่ดอกเบี้ย 2.69% ต่อปี สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์หรือ LTV ที่ 80%

“ปีนี้จะเน้นขยายสินเชื่อ Refinance เพราะเห็นถึงโอกาสเติบโต จากมูลค่าตลาด Refinance ทั้งระบบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุดมีโปรแกรมสินเชื่อบ้านดอกเบี้ย 2.69% ต่อปี เข้าใจว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้”

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด(มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ทั้งปีคาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมายที่จะเติบโต 20-25% จากปีก่อนหรือเป็นสินเชื่อใหม่ 12,000 ล้านบาท ซึึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีที่ 72,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 ล้านบาทเศษ โดยจะมาจาก 2 ส่วนคือ ลูกค้าเก่าที่ต้องการใช้วงเงิน โดยเฉพาะรายที่่ผ่อนค่างวดมาแล้ว 3-5 เดือน สามารถกลับมาขอวงเงินกู้ใหม่ได้ และลูกค้าใหม่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและลูกจ้าง พนักงานบริษัทหรือธุรกิจโรงแรมบางแห่งที่ปิดกิจการจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยวงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 10,000-15,000 บาท ดอกเบี้ย 21% ต่อปี ระยะเวลากู้ 15-20 ปี

“ไตรมาสแรกมีลูกค้ายื่นคำขอสินเชื่อเข้ามามากกว่าปกติถึง 20% ส่วน หนึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยในธุรกิจบริการและโรงแรม ซึ่งเราจะพิจารณาอนุมัติให้วงเงินทุกราย โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกัน”

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0