โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แบงก์ต้องยอมเฉือนเนื้อ ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ดี

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 13.00 น.

 

แบงก์ต้องยอมเฉือนเนื้อ

ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ดี

 

     ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ดีในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เพื่อลดภาระหนี้และภาระทางการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดีเหล่านี้ไม่ตกชั้นไปเป็นหนี้เสีย โดยนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ยอมรับว่า ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการว่าจะช่วยดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยยังคงอิงกลไกตลาดที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป

     ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธปท.จะมีหลายมาตรการออกมาควบคุมการก่อหนี้ แต่หนี้ครัวเรือนก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 13 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 คิดเป็น 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ

     เบื้องต้นมีแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ดีในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ในกลุ่มดังกล่าว ด้วยการลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจากปกติอัตรา 18-28% เหลือ 7-12% โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นลูกหนี้ที่มีวินัยการจ่ายเงิน หรือชำระเงินดีต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน

     ผู้ที่เข้าโครงการจะต้องยกเลิกวงเงินเดิม เพื่อไม่ทำให้ภาระหนี้โดยรวมสูงขึ้น และลูกหนี้ต้องได้รับการยินยอมให้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ หรือ เครดิตบูโร ตรวจสอบข้อมูลได้ทุกเดือน และสถาบันการเงินที่รับรีไฟแนนซ์หนี้ จะไม่ขาดทุน และได้รับผลตอบแทนในระดับหนึ่ง เนื่องจากลูกหนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ดีมีความเสี่ยงตํ่า และอัตราดอกเบี้ยที่คิดยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน

     ประเมินกันว่าหากมาตรการนี้ออกมาจะมีลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์สามารถเข้าร่วมโครงการเกือบ 5 ล้านบัญชี วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต 3 ล้านบัญชี วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้บัตรกดเงินสด 1.7 ล้านบัญชี วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท

     แน่นอนว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบกับรายได้สถาบันการเงินโดยตรง โดยเฉพาะรายรับดอกเบี้ยที่ลดลง นับหมื่นล้านบาท แต่ในทางกลับกันรายจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมระยะยาว

     อีกทั้งยังช่วยลดปัญหา Moral Hazard หรือวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้อีกทางหนึ่ง เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่บรรดาสถาบันการเงินต่างๆ ต้องยอมเฉือนเนื้อ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ถือเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0