โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แบงก์ชาติรับหนี้เสียธุรกิจขนาดกลางเพิ่ม พิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจถดถอย

สยามรัฐ

อัพเดต 18 พ.ย. 2562 เวลา 09.09 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 09.09 น. • สยามรัฐออนไลน์
แบงก์ชาติรับหนี้เสียธุรกิจขนาดกลางเพิ่ม พิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจถดถอย

สงครามการค้า-เศรษฐกิจตกสะเก็ดกระทบธุรกิจขนาดกลางหนี้เสียเพิ่ม แบงก์ชาติมองไตรมาส 4 /62 สินเชื่อจะขยายตัวขึ้น หลังไตรมาส 3/62 โตเพียงร้อยละ 3.8

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยไตรมาส 3/2562 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.95 เป็นร้อยละ 3.01 ยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 469,500 ล้านบาท โดย NPL ธุรกิจ SME เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.52 เป็น 4.75 โดยธุรกิจขนาดกลางที่มีขนาด 100- 500 ล้านบาท เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่ง ธปท.ต้องการให้ธนาคารดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ ช่วยเหลือในภาวะที่ธุรกิจหยุดชะงัก เช่นเดียวกับ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ และบัตรเครดิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จากร้อยละ 2.74 เป็น 2.81 ซึ่ง ธปท.ต้องการให้ธนาคารดูแลการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความระมัดระวังไม่ให้กลุ่มเปราะบางเป็นหนี้สินเพิ่ม เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็น NPL ในอนาคต

ส่วนผลของมาตรการ LTV หลังบังคับใช้มา 6 เดือน พบว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ดีขึ้นผู้ซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกขยายตัวร้อยละ 8.8 แต่ยอมรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ลดลงร้อยละ 14 และกู้สัญญาที่ 3 ขึ้นไปลดลงมากร้อยละ 31.4 โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ทำให้การเก็งกำไรในคอนโดมิเนียมลดลง

ทั้งนี้แม้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2562 เติบโตลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SME หดตัวร้อยละ 1.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อน แต่ยังเชื่อว่าไตรมาส 4 ปี 2562 การขยายตัวของสินเชื่อจะดีขึ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น การลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนจะขยายตัว ทำให้การขอสินเชื่อโตตามไปด้วย โดยตามปกติสินเชื่อจะขยายตัวสูงกว่าจีดีพีประมาณ 1.5 เท่า หากเศรษฐกิจไทยโตได้ร้อยละ 3 สินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3-5 และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีก็จะมีผลช่วยให้สถานการณ์ NPL ดีขึ้นเช่นกัน

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ส่งผลต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยไตรมาส 3 ปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 96,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยทรงตัวร้อยละ 2.74 ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0