โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ลดลง

สวพ.FM91

อัพเดต 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.29 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.29 น.
แนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ลดลง

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 16/2563 โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานด้าน ต่างๆ ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม.

ในวันนี้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ภาพรวมของโรคทั้งประเทศและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่กรุงเทพมหานครและประชาชนชาวกรุงเทพฯ ร่วมกันปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินมาถูกทิศทางแล้ว อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อควรลดลงมากกว่านี้

จากนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร สำรวจโรงแรมในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจับคู่เป็นสถานที่พักสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก หรือสถานที่รองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตราย เพื่อลดความแออัดของสถานพยาบาลในปัจจุบัน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหามาตรการเยียวยาสำหรับบุคลากรอาสาสมัครลานกีฬา บ้านหนังสือ ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร และมาตรการสำหรับชาวกรุงเทพฯ เรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

มั่นใจ กทม.กำจัดขยะหน้ากากอนามัยปลอดภัยไร้การแพร่กระจายโควิด-19

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซึ่งปัจจุบันการเก็บขนและทำลายมูลฝอยติดเชื้อรวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้กำจัดทำลาย โดยปัจจุบันปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บจากสถานพยาบาล ทั้งในส่วนโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกกว่า 4,000 แห่ง รวมประมาณ 40 ตัน/วัน โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 มีปริมาณมูลฝอยประเภทหน้ากากอนามัย และวัสดุปนเปื้อนต่างๆ รวมประมาณ 1.4 ตัน/วัน ทั้งนี้ที่ประชุม ได้มอบหมายสำนักสิ่งแวดล้อมประสานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพิ่มจุดจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อ ณ โรงแรมที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครจับคู่เป็นสถานที่พักสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก หรือสถานที่รองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตราย รวมทั้งให้ขอความเห็นชอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร งดเว้นค่าธรรมเนียมการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อสถานที่ดังกล่าวด้วย

สำหรับแนวทางการจัดการหน้ากากอนามัยใช้แล้วจากประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีกระบวนการดังนี้ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร จัดหาถังรองรับหน้ากากอนามัยพร้อมติดป้ายข้อความ “สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น” และจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมในการตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยจากประชาชน ประกอบด้วย สำนักงานเขต 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) บริเวณหน้าห้องตรวจโรค สำนักอนามัย ชั้น 1 ฝั่งถนนดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) บริเวณจุดคัดกรอง 4 จุด ประกอบด้วย อาคาร 1 (อาคารสำนักการโยธา) บริเวณทางเข้าด้านธนาคารกรุงไทย อาคาร 2 (อาคารสำนักการระบายน้ำ) บริเวณทางเข้าด้านห้องละหมาด อาคารธานีนพรัตน์ 2 จุด (ด้านฝั่งวิภาวดี และด้านฝั่งวงเวียนน้าพุ) และอาคารไอราวัตพัฒนา บริเวณทางเข้าชั้น B1 ใกล้ลานน้ำพุ พร้อมทั้งให้แนะนำขั้นตอนวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยให้ประชาชนทราบ

ทั้งนี้การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ จะกำจัดด้วยเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ โดยมูลฝอยติดเชื้อจะถูกป้อนเข้าสู่ห้องเผาที่ 1 ซึ่งจะทำการหมุนระหว่างการเผาเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะควบคุมอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นจะเข้าสู่ห้องเผาที่ 2 เพื่อกำจัดควันและกลิ่นให้สมบูรณ์ ซึ่งจะควบคุมอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ขั้นตอนต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนระบบบำบัดมลพิษทางอากาศต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ดูเพิ่มเติม สวพ.FM91