โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญา มีโทษหนัก

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 08.11 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม และถูกตำรวจไปจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนครพนม โดยอ้างว่าเป็นคนร้ายในคดีลักทรัพย์ ซึ่งก่อเหตุอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เหตุที่ตำรวจเชื่อว่า ชายคนดังกล่าวนี้เป็นผู้ก่อเหตุลักทรัพย์ เนื่องจากว่ามีสำเนาบัตรประชาชนของชายคนดังกล่าวเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อติดต่อกับผู้เสียหายก่อนที่จะก่อเหตุลักเพชรมูลค่าประมาณ 15,000,000 บาท ไปต่อหน้าต่อตาผู้เสียหาย อีกทั้ง ผู้เสียหายชี้ตัวชายคนดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายกฟ้องชายคนดังกล่าว เนื่องจากมีพยานหลักฐานยืนยันว่าชายคนดังกล่าวนั้น ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในกรุงเทพมหานคร แต่ขณะเกิดเหตุชายคนดังกล่าวอยู่ที่จังหวัดนครพนม ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

จากอุทาหรณ์เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้เสียหายชี้ตัวชายคนดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง การชี้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าว จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่

การชี้ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาถือว่า การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เนื่องจากผู้ชี้ตัวจะต้องลงนามรับรองข้อความเท็จด้วย กรณีจึงเป็นการแจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นการยืนยันตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวน แม้พนักงานสอบสวนจะไม่เชื่อข้อความเท็จของจำเลยก็ตาม หรือ พนักงานสอบสวนจะทราบว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ หรือ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิด เนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้น ศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่

ดังนั้น หากมีคนแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ทำให้ท่านได้รับความเสียหาย ท่านสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลคดีหลักถึงที่สุด

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2551

การแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่ พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หากกระทำ เพื่อกลั่นแกล้งให้ท่านถูกบังคับตามวิธีการ เพื่อความปลอดภัย หรือ ถูกกลั่นแกล้งให้ท่านต้องรับโทษในทางอาญาหรือต้องรับโทษหนักขึ้น

มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

สุดท้ายนี้ หากท่านเป็นผู้เสียหายและจำเป็นต้องชี้ตัวคนร้าย ขอให้ยึดหลักความจริง จำไม่ได้ ก็บอกตามตรง ถ้าท่านชี้มั่วอาจจะสร้างตราบาปให้ผู้อื่น และหากท่านถูกกลั่นแกล้งหรือถูกผู้เสียหายชี้ตัวคนผิด ให้รีบนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนให้มากที่สุด เพื่อให้พนักงานสอบสวน และ พนักงานอัยการ พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนคดี และมีความเห็นไม่สั่งฟ้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหาย และไม่ให้ท่านต้องตกเป็นแพะรับบาปครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Facebook: ทนายเจมส์ LK

Instagram: james.lk

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0