โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แจงเป็นฉาก “ขึ้นค่าจ้าง” ทุบธุรกิจเอกชนอ่วม

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 02.46 น.

วันที่ 6 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 5-6 บาท โดยค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 336 บาท (เฉลี่ย 321 บาทต่อวัน) หรือเพิ่มในอัตราระหว่าง 1.62–1.82%  ในมุมมองเอกชนชี้ส่งผลกระทบซ้ำเติมธุรกิจที่อยู่ในภาวะไม่ดี

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 5-6 บาทต่อวัน แรงงานจะมีรายได้ทางอ้อมเพิ่มขึ้นในอีกหลายส่วน และนั่นหมายถึงรายจ่ายที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นได้แก่ ค่าล่วงเวลาซึ่งกฎหมายกำหนดเป็นจำนวนเท่าของค่าแรง เช่น ค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ คิด เป็น 1.5 เท่า การทำงานในวันหยุดค่าแรงเป็น 2 เท่า ค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็น 3 เท่าของค่าแรงปกติ รวมถึงรายได้จากสวัสดิการอื่นๆ  ได้แก่ ค่าเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างจ่ายสมทบ 5% ของรายได้พนักงาน ซึ่งเมื่อค่าจ้างสูงขึ้น เงินส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับสถานประกอบการที่มีสวัสดิการกองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างสมทบขั้นต่ำ 2% ของรายได้ รวมถึงเงินโบนัสประจำปีซึ่งส่วนใหญ่มักกำหนดเป็นสัดส่วนของรายได้ลูกจ้าง

แม้ว่าคณะกรรมการค่าจ้างได้พยายามดูแลอัตราการปรับในครั้งนี้ เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับ อัตราเงินเฟ้อของประเทศ ที่ปรับเพิ่ม 0.8-1.0% ในปี 2562 โดยที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่รุนแรงเกินไป หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเกื้อหนุน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจหลายประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเหมือนเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ปัจจัยหลักที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของไทย ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และนโยบายที่เป็นอุปสรรคของภาครัฐ

 

การแข็งค่าของเงินบาทที่ยืดเยื้อยาวนานนับแต่ปลายปี 2561 ตลอดปี 2562 และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในปี 2563 ธุรกิจส่งออกที่เพิ่งพาวัตถุดิบในประเทศได้รับผลกระทบหนักมาก เนื่องจากราคาขายสินค้าในตลาดถูกลงจากการมีคู่แข่งที่มากขึ้น คำสั่งซื้อน้อยลงด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ การออกจากสมาชิกภาพยุโรปของอังกฤษ(เบร็กซิท) การสู้รบของคู่ขัดแย้งต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นต้น

ในขณะที่สถานการณ์ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 นี้ ส่งผลให้วัตถุดิบในประเทศมีราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบแต่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบบางรายการได้ เช่น มะพร้าว ทั้งที่ตลาดยังมีอนาคตสดใส หรือในกรณีที่วัตถุดิบล้นตลาด รัฐจะกำหนดราคาซื้อขั้นต่ำให้เกษตรกร สาเหตุเหล่านี้มาจากการนำนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรมาเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง ทำให้กลไกการตลาดถูกบิดเบือน

 

นอกจากนี้มีการนำนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนมาเป็นแนวทางหารายได้เข้ารัฐ เช่น การจัดเก็บภาษีน้ำตาล และ ภาษีโซเดียม รวมถึงการนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นนโยบายหาเสียง โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพของแรงงานน้อยมาก ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารของไทย และความสามารถของแรงงานในการปรับตัว เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงขาดโอกาสในการได้รับคัดเลือกเข้าทำงานซึ่งต้องใช้ทักษะใหม่มากมาย 

 

นโยบายรัฐที่จะให้การช่วยเหลือแรงงานและเกษตรกร ยังเป็นการมองปัญหาในจุดเดียว ไม่ได้มองผลกระทบทั้งระบบ ด้านรายได้เกษตรกรในปัจจุบันยังคงพิจารณาราคาต่อผล หรือต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ วนอยู่ที่เดิม หากเปลี่ยนมาเป็นพิจารณารายได้ทงั้หมดของเกษตรกร เช่น รายได้ต่อไร่ รายได้ต่อปี ก็จะเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาเป็นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเมื่อผลผลิตต่อไร่มาก ราคาผลผลิตจะถูกลง ในขณะที่รายได้ไม่ได้ลดลง เป็นต้น

 

สำหรับด้านแรงงาน หากพิจารณานโยบายยกระดับคุณภาพและทักษะให้สูงขึ้น รายได้ต่อเดือนหรือต่อปีแรงงานจะสูงขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมก็ดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้ จากมาตรการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ดำเนินมานับแต่อดีต ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับขึ้นในอัตราที่สูง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานซึ่งแม้มีค่าแรงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ด้วยเหตุที่รายจ่ายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายลดลง

การช่วยเหลือของรัฐแก่ผู้ต้องการโอกาสในสังคมเป็นสิ่งจำเป็น หากแต่โอกาสที่สำคัญเพื่อการอยู่รอดในอนาคต คือการหยิบยื่นโอกาสในการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และสามารถกระทำได้ตลอดชีวิต รวมถึงการให้ปัจจัยที่ส่งเสริมการดำรงชีพ หรือการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างต้องการโอกาสและปัจจัยดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังข้อเสนอแนะต่อไปนี้

ภาคแรงงาน

 -ยกระดับคุณภาพลูกจ้างให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมวิชาชีพที่จำเป็นต่าง ๆ โดยไม่มี ค่าใช้จ่าย หรือค่าใช้จ่ายถูก

 -สำรวจกลุ่มอาชีพที่ตลาดต้องการ รวมถึงจำนวนและคุณภาพที่ต้องการ เพื่อให้สามารถผลิตบุคคลากรได้ตรงความต้องการของตลาด

 -สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจเรียนสายอาชีวะ เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ ความถนัดในด้านเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ตรงตามความต้องการของตลาด เช่น ช่างซีมเมอร์ ช่างเทคนิคในอุปกรณ์และเครื่องจักรสมัยใหม่

 -สนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในอาชีพและพัฒนาฝีมือตามระบบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

ภาคผู้ประกอบการ

 -สนับสนุนภาคการเกษตรหันมาใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน

 -สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในสถานประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องการซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยให้มีระบบสินเชื่อในการผ่อนซื้อเครื่องจักรเป็น งวด ๆ

  -สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกรอบ FTA ต่าง ๆ เพื่อนำเข้าวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านที่ราคาต่ำกว่ามาแปรรูปใน ประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังคงความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

 -มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ใน ด้านหาแหล่งวตัถุดิบใหม่ในต้นทุนที่ถูกลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0