โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แจกหน้ากาก 10,000 ชิ้น ระดมฉีดน้ำล้างถนน : ตอนนี้ภาครัฐไทยแก้ปัญหา PM 2.5 ยังไงบ้าง?

The MATTER

อัพเดต 15 ม.ค. 2562 เวลา 09.31 น. • เผยแพร่ 15 ม.ค. 2562 เวลา 08.25 น. • Brief

หลายวันมานี้ ออกจากบ้านกันแต่ละทีต้องหยิบหน้ากากมาใส่ เพื่อเอาตัวรอดจากฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งเกินค่ามาตรฐาน ตามที่ภาครัฐส่งคำเตือนว่าอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของพวกเรา

คำถามสำคัญคือ นอกจากที่ประชาชนต้องหาวิธีดูแลตัวเองกันแล้ว (หลายคนออกตามหาหน้ากาก N95 ตามร้านค้าต่างๆ ที่หลายแห่งขายหมดสต๊อกกันอย่างรวดเร็ว) แล้วด้านนโยบายล่ะ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ นั้นมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในแบบเร่งด่วนเฉพาะหน้า และมาตรการในระยะยาวอย่างไรบ้าง?

จากการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้ว่า

มาตรการระยะสั้น

มาตรการแรกแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชน คือแจกหน้ากาก N95 ทั้งหมด 10,000 ชิ้นใน 8 พื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 เยอะเป็นพิเศษ ประเดิมจากการไปแจกในงานอุ่นไอรักเมื่อวานนี้ 3,000 ชิ้น ขณะที่เขตอื่นๆ ที่หน้ากากจะถูกกระจายไปได้แก่

-เขตสวนลุม 1,000 ชิ้น

-บางคอแหลม 1,000 ชิ้น

-ธนบุรี 1,000 ชิ้น

จตุจักร 1,000 ชิ้น

-บางกะปิ 1,000 ชิ้น

-บางขุนเทียน 1,000 ชิ้น

-ราชประสงค์ 1,000 ชิ้น

อีกแนวทางที่ กทม. จะประสานหน่วยงานต่างๆ ทำไปพร้อมกัน คือ ‘ฉีดน้ำ’ ขึ้นไปในอากาศเพื่อลดฝุ่นละออง และหมั่นล้างทำความสะอาดถนน รวมถึงทางเดินเท้าเพื่อลดฝุ่นละออง ท่ามกลางความสงสัยของสังคมและนักข่าวว่ามันจะช่วยได้จริงไหม

“วัตถุประสงค์ของการฉีดน้ำคือล้างถนน หรือเพื่อจับฝุ่นละออง?” นักข่าวยิงคำถามนี้ไปยังผู้ว่าฯ กทม. ในระหว่างการแถลงข่าว

“ล้างถนนครับ” คือคำตอบจาก พล.ต.อ.อัศวิน

“เราจะล้างถนนทุกวัน ตรงนี้เขาบอกว่ามันจะช่วยได้ คือทางกองทัพก็จะส่งมา ทางกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทยมีรถตรงนี้อยู่ เราก็จะล้างตลอด ผมอยากจะเรียนกับสื่อว่า เราคงจะต้องล้างไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าล้างวันนี้แล้วหยุด ล้างมันจนกว่ามันจะหาย” ผู้ว่าฯ กล่าว

“มีคนถามว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไหม ผมก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าใช่ แต่เราก็ต้องแก้อยู่ดี”

ด้านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประลอง ดำรงค์ไทย ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดขึ้นของ PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานว่า หลักๆ แล้วเกิดขึ้นจาก ‘การสันดาปที่ไม่สมบูรณ์’ ในรถยนต์เก่าและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

ดังนั้นมาตรการที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ขอความร่วมมือจากผู้ขับขี่รถใหญ่ไม่ให้เข้ามาในเขตเมืองในช่วงเช้าก่อน 9.00 นาฬิกา และระหว่าง 15.00-21.00 น. นอกจากนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่กรมขนส่งพบว่ารถคันไหนมีควันดำก็จะต้องหยุดใช้รถ และไปตรวจสภาพรถภายใน 1 เดือน

“ถามว่าทำไมปล่อยให้เกิดขึ้น กราบเรียนด้วยความเคารพว่า ตราบใดที่ยังมีรถวิ่งเขตชั้นใน กทม. เมื่อยังมีรถวิ่ง PM 2.5 ก็เกิด เราก็พยายามใช้หลายมาตรการ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วเร่งทำฝนหลวง

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สุรสีห์ กิตติมณฑล เปิดเผยว่า ได้สั่งจัดตั้ง ‘หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว’ ขึ้นมาแล้ว เพื่อเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งล่าสุด (15 ม.ค.) ได้เริ่มนำเครื่องบินขึ้นไปปฏิบัติงานแล้วที่บริเวณ จังหวัด ฉะเชิงเทรา และนครนายก โดยคาดหวังว่ากระแสลมจะพัดเข้ามาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ และน่าจะทำฝนหลวงได้ถึงวันที่ 18 มกราคม

4 นโยบายเร่งด่วนจากกระทรวงคมนาคม

หันไปดูที่คำสั่ง ‘เร่งด่วน’ จากกระทรวงคมนาคมกันบ้าง ทางรัฐมนตรี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้มีคำสั่งให้ออกมาตรการที่ต้องทำทันที 4 ข้อ ได้แก่

1) ให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้มงวดกับผู้รับเหมา ทำความสะอาดล้อรถขนดินและไส้กรองรถบรรทุก เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง

2) พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ รฟม. ดูแลเครื่องจักร ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด คืนพื้นผิวจราจรให้มากสุด โดยปิดช่องจราจรเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างที่จำเป็น ไม่ให้ใช้เกาะกลางเป็นที่เก็บของ

3) ห้ามรถโดยสารสาธารณะมีควันดําเกินมาตรฐานวิ่งโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับเรือที่ต้องบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างเคร่งครัด

4) ให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรณรงค์ให้ลดการใช้พาหนะส่วนบุคคล ด้วยการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ

ขยับมาดูกันที่ทางฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรมกันต่อ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีประจำกระทรวง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงปล่อยฝุ่นละออง โดยเฉพาะโรงงานที่มีกระบวนการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมากๆ เช่น โรงงานโม่หิน โรงงานผลิตแอสฟัลท์ติก หรือโรงงานที่ผลิตคอนกรีตสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ได้จัดให้มีคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นมามอนิเตอร์สถานการณ์เป็นระยะๆ

มาตรการระยะยาวจากกรมควบคุมมลพิษ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า ในอนาคตปัญหานี้น่าจะรุนแรงน้อยลง ยิ่งเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าได้เสร็จครบทุกสาย และภาคเอกชนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบรถจากดีเซลไปสู่รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น มลพิษที่จะเกิดตามมาก็ย่อมจะน้อยลง

นอกจากนั้น ยังเชื่อในสัญญาณที่ดีว่า ทางด้าน ขสมก. กำลังจะปรับเปลี่ยนรถเมลรุ่นเก่าๆ ให้เป็นรถเมลแบบ NGV มากขึ้น โดยเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้จะมีรถ NGV ใช้ได้เพิ่มขึ้นอีก 489 คัน

ส่วนรองเสนาธิการทหารบก พล.ท.ธเนศ กัลพฤกษ์ บอกว่า ทางกองทัพจะให้กำลังพลลงพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น และขอให้งดการเผาในที่โล่งแจ้ง

หลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อไป ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน?

และนโยบายในระยะยาวที่ออกมาจะถูกใช้อย่างจริงจัง จนเป็นทางออกในอนาคตได้จริงๆ หรือไม่

อ้างอิงจาก

https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000004881

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/824095

https://www.dailynews.co.th/bangkok/687750

https://www.thairath.co.th/content/1469731

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0