โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แข่งเดือด & ต้นทุนพุ่ง ป่วน 4 หุ้นการบิน “ไร้เสน่ห์”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 00.00 น.

รายได้อ่อนแอ ต้นทุนพุ่ง การแข่งขันรุนแรง !!

สารพัดเหตุผล ที่กดดันให้"ฐานะการเงิน"ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2561 ของ หุ้นกลุ่มบริการการบิน หมวดธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์"ขาดทุนสุทธิ"กันถ้วนหน้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน!

โดยตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2558-ไตรมาส 2/2561 ของ 4 หุ้นสายการบิน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีผลการดำเนินงาน"ไม่สดใส"อาทิ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ที่มี"กระทรวงการคลัง"ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 51.03% อยู่ที่ -13,067.67 ล้านบาท 15.14 ล้านบาท -2,107.35 ล้านบาท และ -3,099 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK ที่มี"กลุ่มจุฬางกูร"ถือหุ้นใหญ่ 52.35% พบว่า มีผลประกอบการ "ขาดทุนสุทธิ" -726.10 ล้านบาท -2,795.09 ล้านบาท -1,854.30 ล้านบาท และ -856.62 ล้านบาท ,บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA ของ"กลุ่มปราสาททองโอสถ"ถือหุ้นใหญ่ พบว่า 1,796.89 ล้านบาท 1,768.41 ล้านบาท 787.91 ล้านบาท และ -83 ล้านบาท ขณะที่บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ของ"ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์"ผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 41.32% อยู่ที่ 1,078.48 ล้านบาท 1,869.46 ล้านบาท 1,477.49 ล้านบาท และ -306.10 ล้านบาท

หันมาดู"มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด" หรือ Market Capพบว่า"หุ้น THAI"อยู่ที่ 20,081.50 ล้านบาท 49,548.92 ล้านบาท และ 37,761.95 ล้านบาท ล่าสุด 28,594.31 ล้านบาท"หุ้น AAV"อยู่ที่ 25,462.50 ล้านบาท 29,342.50 ล้านบาท และ 29,827 .50 ล้านบาท ล่าสุด 20,661 ล้านบาท"หุ้น BA"อยู่ที่ 48,510 ล้านบาท 47,670 ล้านบาท และ 35,910 ล้านบาท ล่าสุด 26,880 ล้านบาท และ"หุ้น NOK"อยู่ที่ 4,250 ล้านบาท 4,625 ล้านบาท และ 7,724.80 ล้านบาท ล่าสุด 5,452.80 ล้านบาท

ผลงานที่เริ่มต้นไม่สวย ยังกดดันให้ราคาหุ้น THAI หุ้น NOK หุ้น BA และหุ้น AAV ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวลดลงเฉลี่ย 21.97% 30% 24.56% และ 28.13 % ตามลำดับ

โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจสายการบินเดินหน้าขาดทุนต่อเนื่อง หนีไม่พ้นแรงกดดัน"ด้านรายได้"และ"ด้านต้นทุน"นั่นคือ รายได้ที่ธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันที่รุนแรงทำให้การปรับขึ้นราคาค่าตั๋วโดยสารเป็นเรื่องทำได้ยาก

ขณะที่ต้นทุนมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นับตั้งแต่ปี 2557 ถือว่าราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมทั้งไตรมาส 2 ของทุกปี เป็นปกติช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น)

แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตระดับตัวเลข"สองหลัก"จากจำนวนนักท่องเที่ยว"ต่างชาติ"ที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 19.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เดือนเม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังคงเติบโตต่อเนื่อง 9% จากช่วงเดียวกันของปี ก่อนมาอยู่ที่ 8.9 ล้านคน

"สัดส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 73% โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและอาเซียน ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน"

เมื่อธุรกิจสายการบิน ยังมี"ปัจจัยบวก"ในแง่การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินเอกชนบางราย มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ พลิกตัวขอความช่วยเหลือจาก"กลุ่มทุนหนา"เพื่อหวังเป็นการรักษาฐานรายได้และส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ให้เติบโตรับปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเทียวที่พุ่งขึ้น

อาทิ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ที่ขายหุ้น AAV ให้"กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์"ในสัดส่วน 39% ซึ่งในขณะนั้นให้เหตุผลว่าการเข้ามาถือหุ้นของตระกูลศรีวัฒนประภา เพื่อหวังจะผนึกธุรกิจดิวตี้ฟรีและธุรกิจสายการบิน ในการขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน โดยหวังว่าว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ มาช่วยต่อยอดให้ได้คอนเนกชันใหม่ๆ เพื่อรักษาการเติบโตของไทยแอร์เอเชียให้ได้ 20% ต่อปีเป็นอย่างน้อย

แต่ที่ผ่านมาการต่อยอดธุรกิจไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เท่าที่ควรส่งผลให้"ธรรศพลฐ์"ในฐานะเจ้าของหุ้นขอซื้อหุ้น AAV คืนจากกลุ่มคิง เพาเวอร์กลับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่นเดิม

ล่าสุดกับ "สายการบินนกแอร์" ที่มีกลุ่มทุนหนา ""กลุ่มจุฬางกูร"เข้ามาถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 52.35% หากย้อนดูกลุ่มจุฬางกูรทยอยเก็บหุ้น NOK ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 อ้างอิงตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยปี 2558"ณัฐพล จุฬางกูร"ทยอยเก็บหุ้น NOK ส่งผลล่าสุดเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 23.77% (ตัวเลขวันที่ 5 มี.ค.2561)

ต่อมาปี 2560"ทวีฉัตร จุฬางกูร"ทยอยเก็บหุ้น NOK ส่งผลให้ถือหุ้นในมือ 18.59% (ณ วันที่ 5 มี.ค.61) และล่าสุด"หทัยรัตน์ จุฬางกูร"ทยอยเก็บหุ้น NOK ส่งผลให้ถือหุ้นในสัดส่วน 9.99% (วันที่ 5 มี.ค.61)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานกแอร์ แจ้งเพิ่มทุน 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก บมจ.การบินไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ไม่สนใจเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 20% และกลุ่มจุฬางกูรขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่การบินไทยเพิ่มทุนในรอบที่สอง แต่สถานการณ์ของสายการบินนกแอร์ยังไม่ดีขึ้น

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย C สำหรับ หุ้น NOK ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาส 2/2561

สอดคล้องกับความเห็นของ"โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง"อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตาม ที่มีคู่แข่งในธุรกิจจำนวนมาก ที่นั่นย่อมไม่มี"กำไร"เหลืออยู่ !! ยิ่งธุรกิจบริการสายการบินมีต้นทุนที่อยู่เหนือขอบเขตการควบคุมอย่างราคาน้ำมันโลก รวมทั้งการปรับขึ้นราคาค่าตั๋วโดยสารทำได้ยาก เพราะสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง

"ตอนนี้ในธุรกิจสายการบิน เริ่มมองเห็นคนที่กำลังจะแย่ และคนที่กำลังจะรอด ผมมองว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย (AAV) น่าจะเป็นสายการบินน่าห่วงน้อยสุด ขณะที่น่าเป็นห่วงสุดคงไม่พ้นสายการบินนกแอร์ (NOK)"

ขณะที่ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียยอมรับว่า ปีนี้กำไรต่ำกว่าปีก่อน เหตุต้นทุนน้ำมันสูง และนักท่องเที่ยวจีนหดตัว เพราะปัญหาอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวทำให้ภาคการท่องเที่ยวซบเซา รวมถึงอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น แต่คาดว่าไตรมาส 4/61นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ 4-5 เส้นทาง ในอินโดจีน กระตุ้นยอดนักท่องเที่ยว และเพื่อบริหารการใช้เครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพเส้นทางบินให้แข็งแกร่งมากขึ้น

"คาดแนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก"

รวมทั้งการวางกลยุทธ์การเติบโตในอนาคตด้วย โดยการรุกฐานลูกค้าในตลาดอินเดียและอาเซียนเพิ่มขึ้น ขณะที่ยังคงรักษาฐานลูกค้าในตลาดจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเพื่อขับเคลื่อนให้ "ไทยแอร์เอเชีย" มีรายได้ที่มีเสถียรภาพที่มั่นคงและครองตำแหน่งผู้นำสายการบินราคาประหยัดอันดับหนึ่งของประเทศต่อไป

"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก ปัจจุบันนี้ผู้คนเลือกเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น แต่สายการบินก็มีจำนวนมาก ทำให้มีทางเลือกเยอะเช่นกัน การแข่งขันในธุรกิจสูง"

สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่าปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3 ปี 2561 มีจำนวน 9.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดการณ์รายได้ จำนวน 5.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่คาดการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยตลาดในประเทศ อยู่ที่ 38.7 ล้านคนต่อครั้ง เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเดินทางเข้าสู่เมืองรอง 17.0 ล้านคนต่อครั้งเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับแรงหนุนจากเทศกาลวันหยุด อาทิ วันอาสาฬหบูชาและวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าระดับน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณลดลงในช่วงเดือนมิ.ย. แต่ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ที่ผ่านมามีมติปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีสัญญาณการชะลอตัวในบางภูมิภาค เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ ก่อนหน้านี้"พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ"กรรมการผู้อำนวยการใหม่บมจ.การบินกรุงเทพ หรือBAผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เคยบอกไว้ว่า ยอมรับว่าธุรกิจการบินในไทยยังมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และมีการตัดราคากันอย่างมาก ทำให้อัตรากำไรสุทธิอ่อนตัวลงมาก ขณะที่แนวโน้มต้นทุนราคาน้ำมันก็สูงขึ้น

โดยคาดว่าราคาน้ำมันอากาศยานจะปรับตัวขึ้นไปถึง 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 30-35% ของต้นทุนรวม โดยบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงประมาณ 50-70% จนถึงสิ้นปีนี้

ขณะที่ มองว่าธุรกิจการบินโอกาสที่จะกลับไปเติบโตมากๆ เช่นในอดีตคงเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการสายการบินหน้าใหม่เข้าเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมองหา"พอร์ตลงทุนใหม่" (Diversify)โดยบริษัทเตรียมขยายธุรกิจไปสู่"ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร" (ดิวตี้ฟรี)เพื่อสร้างรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน และเห็นแนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

โดยบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปความร่วมมือภายใน 2-3 เดือน เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลบริหารพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ AOT จะเปิดประมูลปีนี้ รวมถึงในท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยบริษัทวางเป้าหมาย 3 ปีนี้ (2561-2563) คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจดิวตี้ฟรีในสัดส่วน 5% ของรายได้รวม

"เราเข้าธุรกิจดิวตี้ฟรี เพราะเห็นแนวโน้มเติบโต เราหาพันธมิตรต่างประเทศ จะเป็นเข้าร่วมทุน หรือจะเข้ามาบริหารจัดการก็คุยกันอยู่ คิดว่าน่าจะชัดเจนใน 2-3 เดือน ในมุมมองเราธุรกิจมีโอกาสอีกเยอะ"

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สนามบินสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา (พื้นที่ปัจจุบัน) และ สนามบินหลวงพระบาง หลังจากที่บริษัท บางกอกแอร์เวย์โฮลดิ้ง จำกัด เข้าซื้อกิจการ บริษัท มอร์แกนฟรี จำกัด โดยคาดว่าปีนี้จะยังมีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีการพิจารณาเม็ดเงินลงทุนต่อไป โดยในพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสมุยซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของ ได้เตรียมงบลงทุนปรับปรุงพื้นที่จำนวนกว่า 100 ตารางเมตร และงบลงทุนในพื้นที่ดิวตี้ฟรีใหม่หากชนะประมูล

--------------------------

โบรกฯ มองครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมบิน"ฟื้น"

"สุพพตา ศรีสุข"นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS)เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจสายการบิน พลิกขาดทุนสุทธิ สาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุน หลักๆ คือ 1.จำนวนผู้โดยสารที่ลดลง 9% เทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2. รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยที่อ่อนตัวลง 1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 9% จากไตรมาสก่อน

3.ราคาน้ำมันเครื่องบินที่สูงขึ้น เพิ่มขึ้น 37% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 8% เทียบกับไตรมาสก่อน 4.ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงขึ้น 5.ต้นทุนค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ที่สูงขึ้น 6.ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น และ 7.ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วม

สำหรับ แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเติบโตเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าจะเติบโตอย่างชะลอตัวจาก 12% ในช่วงครึ่งปีแรก เพราะว่าปกติไตรมาส 3 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวเมืองไทย

ทว่าข้อมูลในอดีตระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปรับตัวขึ้นไตรมาสก่อน และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นตามฤดูกาลจะหนุนให้สายการบินปรับเพิ่มค่าตั๋วโดยสารขึ้นได้ ในส่วนต้นทุน นอกจากรายได้ที่ได้แรงหนุนจากค่าธรรมเนียมน้ำมันที่อ่อนตัวลงไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 3/2561 การเพิ่มขึ้นของอุปทานในตลาดโลก คาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มสายการบินจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0