โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แกะรอย “เบาหวาน” (รวมดาว) เพชรฆาตเงียบ!

สยามรัฐ

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 23.50 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 23.50 น. • สยามรัฐออนไลน์
แกะรอย “เบาหวาน”  (รวมดาว) เพชรฆาตเงียบ!

14 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) หนึ่งในโรคสำคัญระดับโลก ที่องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ มุ่งหวังจะให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคนี้

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แม้โรคนี้จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง

ถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนตาบอด มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะจนทำให้เป็นโรคไตเสื่อม หลอดเลือดที่ขาเสียหายซึ่งมักเป็นร่วมกับอาการเท้าชา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าจนบางรายต้องตัดขา และเกิดปัญหากับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เมื่อมีการอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาล

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นสำคัญมาก ด้วยยาเบาหวานที่มีใช้กันทั่วไป สามารถคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45 – 60 กรัมต่อมื้อ การเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง วุ้นเส้น ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะมีใยอาหารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ยังต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรนำธัญพืชมากินเพิ่มจากข้าว เช่น กินข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัด และกินในปริมาณที่เหมาะสม นมจืดไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ประมาณ 12 กรัมต่อแก้ว) เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำ พร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน กำจัดเฉพาะไขมันในนม น้ำตาลนั้นไม่ได้ลดลง สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่มีน้ำตาลปริมาณสูงจึงไม่ควรกินทุกวัน

“ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ แนะการ เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากรู้สึกหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่สามารถพูดคุยได้จนจบประโยคโดยไม่หอบขณะเดินหรือออกกำลังกายแบบอื่น แล้วมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพัก แล้วค่อยเดินต่อ ไม่เปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า หมั่นดูแลสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10 – 15 นาที

ที่สำคัญควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน จึงควรตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางด้วย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0