โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เฮีย-ซ้อยังอึดแจกอั่งเปาเท่าเดิม ตรุษจีน 63 เงินหายในรอบ 12 ปี

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 22 ม.ค. 2563 เวลา 02.36 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 02.36 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ตรุษจีน 2563 เงินสะพัด 5.7 หมื่นล้านบาท ลดลงครั้งแรกรอบ 12 ปี ชี้คนกอดเงินไม่กล้าใช้จ่ายจากความกังวลเศรษฐกิจ ทั้งที่คนจำนวนมากยังมีเงิน โพลชี้คนร่วมกิจกรรมตรุษจีนยังคึกคักแต่ลดปริมาณซื้อของลง เผยเฮีย-ซ้อ 50% ยังแจกอั่งเปาเท่าเดิม ขณะที่ 45% จ่ายลดลง และ 4% จ่ายเพิ่มขึ้น

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,203 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.63 ว่า การใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้มีมูลค่า 57,639 ล้านบาท ลดลง 1.30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 58,398.21 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับจากที่มีการสำรวจมา เพราะประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น วางแผน เดินทาง ท่องเที่ยวน้อยลง ทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนมากยังมีเงิน

สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายดังกล่าว เป็นการซื้อของเซ่นไหว้ 3,392 บาท, ให้แต๊ะเอีย 3,457 บาท, ทำบุญ 1,449 บาท, ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 2,058 บาท,ไปเดินห้าง 2,265 บาท, สังสรรค์จัดเลี้ยง 3,396บาท, ซื้อกระเช้า 1,068 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อถามว่าราคาสินค้าในช่วงตรุษจีนปีนี้เทียบกับปี 2562 เป็นอย่างไร ผู้ตอบ 52.5% บอกไม่เปลี่ยนแปลงแต่ 47.7% ตอบเพิ่มขึ้น และ 0.1% ตอบลดลง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้จ่ายลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง ลดค่าใช้จ่าย รายได้ลดลง การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ

“บรรยากาศการไหว้เจ้า การทำบุญและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือว่ายังมีความคึกคักเช่นเดิมและประเมินแล้วหลายพื้นที่อาจคึกคักมากกว่าเดิม แต่ในภาพรวมพบว่า แม้คนจะไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก แต่ก็ลดปริมาณซื้อลงจากเดิม เช่น เคยซื้อของ 10 ชิ้น ก็จะเหลือ 8 ชิ้น หรือบางคนไปร่วมกิจกรรมแต่แทบจะไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากนักทั้งๆที่มีเงิน”

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน 600 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบ 44.5% บอกว่าบรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ คึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาห้างร้านต่างๆ จำเป็นต้องจัดทำโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้คนหันมาซื้อสินค้า ขณะเดียวกันเมื่อถามว่าในปีนี้ท่านเป็นผู้ให้หรือเป็นผู้รับแต๊ะเอีย ผู้ตอบ 74.8% ตอบเป็นผู้ให้ และอีก 25.2% เป็นผู้รับ

โดยกรณีที่เป็นผู้ให้ มากถึง 45.2% ตอบจะให้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนอีก 50.7% ตอบไม่เปลี่ยนแปลง และ 4.1% ให้เพิ่มขึ้น สำหรับกรณีเป็นผู้รับนั้น มากถึง 70.9% บอกคิดว่าปีนี้ยังได้รับแต๊ะเอีย และได้เท่ากับปี 62 แต่อีก 29.1% ตอบไม่ได้รับ
ส่วนสถานที่ที่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนอยากไปสักการะและขอพรมากที่สุด เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ กรุงเทพฯ, วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ, วัดบำเพ็ญ-จีนพรต กรุงเทพฯ, ศาลเจ้านาจาซาไท้จื้อ ชลบุรี, ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์สินค้าตรุษจีนปีนี้ ราคาใกล้เคียงกับปีก่อน แต่มี 2-3 รายการ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู ราคาสูงขึ้นจากปีก่อน กก.ละ 5-10 บาท ตามราคาหมูเป็นที่ปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการหมูเป็นจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน แต่กรมยังสามารถบริหารจัดการให้ราคาเนื้อหมูอยู่ในราคา กก.ละ 150 บาทได้อยู่ ส่วนไข่ไก่ราคาปรับเพิ่มขึ้นฟองละ 5-10 สตางค์ เนื่องจากช่วงนี้อากาศแล้ง แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง และยังมีส้มที่ราคาปรับขึ้น กก.ละ 5-10 บาท ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ของเซ่นไหว้ ผักสด ราคาทรงตัวกล้วยราคาลดลง เป็นต้น “ประเมินแล้ว ปีนี้ราคาสินค้าเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนทรงตัว เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากกว่าเมื่อก่อน สามารถเช็กราคาได้ว่าห้างไหนขายสินค้าราคาเท่าไร เจอที่ไหนถูกก็ไปซื้อ แล้วยังสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ ส่งสินค้าตรงถึงบ้าน ทำให้ประหยัดเวลา จะเป็นห่วงก็แต่ตลาดสด ที่ต้องหาสิ่งจูงใจให้คนไปเดินตลาด ไปเลือกซื้อสินค้า ซึ่งต้องเน้นรักษาคุณภาพ ดูแลเรื่องตาชั่ง เพื่อดึงดูดผู้บริโภค”.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0