โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เอ๊ะ! ลูกเรา “หูหนวก” หรือเปล่านะ

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 08.30 น. • Motherhood.co.th Blog
เอ๊ะ! ลูกเรา “หูหนวก” หรือเปล่านะ

เอ๊ะ! ลูกเรา "หูหนวก" หรือเปล่านะ

สิ่งที่คนเป็นพ่อแม่กังวลกันมากเมื่อมีลูกก็คือเรื่องพัฒนาการ เมื่อผ่านช่วง 3-4 เดือนแรกไปแล้ว หากเริ่มสังเกตว่าลูกไม่หันตามเวลาเราเรียก คงเริ่มใจเสียว่าลูก "หูหนวก" หรือเปล่า ทำไมดูเขาไม่หันตามเวลามีเสียงรบกวนหรือเวลามีคนเรียกเขาเลย แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกมีอาการบกพร่องทางการฟังจริงๆ ถ้าอยากทราบว่ามีหลักการดูอย่างไร หรือถ้ามีปัญหาขึ้นมาจริงๆจะแก้ไขอย่างไรให้ทันท่วงที ต้องติดตามบทความตอนนี้ค่ะ

หูหนวก (Deafness) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน

ความบกพร่องทางการได้ยินบางครั้งก็ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด
ความบกพร่องทางการได้ยินบางครั้งก็ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด

อาการของหูหนวก

อาการของหูหนวกมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวตั้งแต่เริ่มต้น หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ซึ่งการเอาใจใส่สุขภาพหรือคอยสังเกตอาการของตนเอง จะช่วยให้หาสาเหตุและรับการรักษาจากแพทย์ได้ทันท่วงที

อาการของหูหนวกในเด็กทารกหรือเด็กวัยหัดเดิน ได้แก่

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 4 เดือน เมื่อเกิดเสียงจะไม่หันไปหาที่มาของเสียง
  • เด็กไม่พูดหรือออกเสียงตามที่ควรจะเป็น แม้จะมีอายุ 1 ปี ตามปกติแล้ว เด็กอายุ 1 ปี ควรพูดคำที่มีความหมายได้ 1 คำ
  • เด็กจะตอบสนองเมื่อเห็นพ่อแม่ แต่จะไม่ตอบสนองหากถูกเรียกชื่อ
  • ไม่มีอาการผวาหรือตกใจเมื่อเกิดเสียงดัง
  • ได้ยินเสียงเพียงบางเสียงเท่านั้น จะไม่ได้ยินทั้งหมดทุกเสียง

อาการของหูหนวกในเด็ก ได้แก่

  • มีการเรียนรู้ที่จะพูดได้ช้า หรือพูดไม่ชัดเจน
  • เด็กจะต้องให้ผู้อื่นพูดซ้ำอีกรอบ หรือตอบคำถามได้ไม่เหมาะสม เนื่องจากฟังไม่ถนัด
  • เมื่อเรียกแล้วไม่มีการตอบสนอง
  • เด็กมักจะพูดเสียงดังมาก
  • มักจะเปิดเสียงโทรทัศน์ดังมาก
  • มักจะมองและเลียนแบบจากผู้อื่น หากได้รับคำสั่งให้ทำกิจกรรมบางอย่าง เนื่องจากเด็กไม่ได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินก็มีอยู่หลายระดับ
การสูญเสียการได้ยินก็มีอยู่หลายระดับ

ระดับของการสูญเสียการได้ยิน

  • หูตึงเล็กน้อย เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 21-40 เดซิเบล บางรายอาจทำให้ได้ยินเสียงพูดได้ไม่ถนัด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงดังรอบข้าง
  • หูตึงปานกลาง เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 41-70 เดซิเบล อาจทำให้ฟังเสียงพูดได้ลำบาก หากไม่ได้ใช้เครื่องช่วยฟัง
  • หูตึงรุนแรง เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 71-90 เดซิเบล กรณีนี้ผู้ป่วยต้องใช้วิธีอ่านปากหรือใช้ภาษามือในการสื่อสาร ในขณะที่ใช้เครื่องช่วยฟังร่วมด้วย
  • หูหนวก เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยินต้องมากกว่า 90 เดซิเบล โดยกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) หรือต้องสื่อสารด้วยการอ่านปากและใช้ภาษามือ

การสังเกตอาการลูกในระยะเริ่มต้น

นับเป็นเรื่องยากมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่จะรู้ทันท่วงทีว่าลูกมีความบกพร่องต่อการรับรู้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีคร่าวๆ ดังนี้

  • วัยแรกเกิด เด็กทั่วไปหลังคลอดจะส่งเสียงร้องออกมา เพราะความตกใจหรือได้ยินเสียงของโลกภายนอกเสียงที่ไม่เคยได้ยิน การส่งเสียงของเด็กจะแสดงให้เรารู้ว่า เด็กมีการรับรู้เสียงได้อย่างชัดเจน ส่วนเด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน จะไม่แสดงอาการส่งเสียงร้องออกมามากนัก เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงของหมอ เด็กจึงมักจะร้องต่อเมื่อหิวอาหารหรือป่วยหนักจริงๆเท่านั้น
  • วัย 3 เดือนขึ้นไป จุดสังเกตเบื้องต้นคือ เมื่อพ่อแม่พูดหรือส่งเสียงเรียกเขาแล้ว แต่เด็กไม่มีการตอบรับ ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายของเด็กให้เร็วที่สุด
  • วัย 6 เดือน ให้พ่อแม่ใช้วิธีเรียกหรือส่งเสียงให้เขารับรู้ หากเด็กได้ยิน เขาจะแสดงพฤติกรรมโดยการเอียงหูหรือหันหน้ามาหาพ่อแม่ หากไม่พบการแสดงออกเช่นนี้ แสดงว่าเด็กอาจจะมีการสูญเสียการได้ยินไปบ้างเล็กน้อย
  • อายุ 8-12 เดือน สังเกตพฤติกรรมได้จากการรับชมทีวี การหัวเราะ ว่ามีพฤติกรรมอื่นนอกเหนือจากเด็กทั่วไปหรือไม่ ปกติแล้วหากเด็กดูการ์ตูนหรือดูทีวี จะแสดงท่าทีที่ชอบและหยอกล้อกับสิ่งที่เขาเห็น
  • เด็กอายุ 2 ปี ปกติแล้วเมื่อเด็กมีอายุครบ 2 ปี ถือว่าเด็กจะต้องมีการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้พอสมควรแล้ว และการรับรู้หรือการรับเสียงจะเต็มที่เมื่ออายุครบ 2 ปี

หากพ่อแม่สงสัยว่าลูกไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือมีความบกพร่องทางการได้ยิน แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

พ่อแม่ต้องหมันสังเกตอาการของลูก หากมีปัญหาก็จะแก้ได้เร็ว
พ่อแม่ต้องหมันสังเกตอาการของลูก หากมีปัญหาก็จะแก้ได้เร็ว

การวินิจฉัยหูหนวกในเด็ก

  • ตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด (Newborn Hearing Screening) การตรวจนี้จะช่วยให้ทราบถึงการได้ยินของเด็ก และหากพบว่าเด็กมีปัญหาการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร จะช่วยให้หาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • ตรวจหู แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อหาสาเหตุที่มีผลต่อการได้ยิน เช่น ขี้หู การอักเสบ หรือการติดเชื้อ รวมไปถึงตรวจดูส่วนต่างๆ ในช่องหูที่อาจเกิดปัญหาและเป็นสาเหตุให้สูญเสียการได้ยิน

การรักษาอาการหูหนวก

การรักษาหูหนวกมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

  • หากขี้หูอุดตันจนทำให้การได้ยินเสียงแย่ลง แพทย์จะนำขี้หูออกโดยการใช้น้ำมันหยอดหูทำให้ขี้หูนิ่มลง ใช้ยาละลาย เขี่ยออก หรือดูดออก
  • หากการสูญเสียการได้ยินมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ
  • การผ่าตัดจะมีความจำเป็นหากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือหากเกิดการติดเชื้อซ้ำที่ต้องสอดท่อเพื่อระบายน้ำออก รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลว ซ่อมแซมแก้วหูที่ทะลุ หรือแก้ไขกระดูกที่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียการได้ยินที่มีสาเหตุมาจากความเสียหายของหูชั้นในหรือโสตประสาทจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวร โดยวิธีที่ช่วยให้ได้ยินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียงให้ผู้ป่วยได้ยินชัดขึ้นและช่วยให้ได้ยินง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยต้องปรึกษากับนักตรวจการได้ยินถึงประโยชน์ในการใช้เครื่องช่วยฟัง หรือวิธีการใช้และความเหมาะสมในการใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งเครื่องช่วยฟังมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ เครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางอากาศ (Air conduction Hearing Aid) หรือเครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางกระดูก(Bone Conduction Hearing Aid)
  • ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานทดแทนหูชั้นในส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะช่วยกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียงให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มักจะใช้กับผู้ป่วยที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรง

หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจและหมั่นสังเกต ความผิดปกติที่ถูกพบได้ไวนี้ ก็จะทำให้การช่วยเหลือลูกไวขึ้นตามไปด้วย โอกาสที่จะมีสิทธิกลับมาได้ยินเสียงเหมือนเด็กคนอื่นๆก็จะพอมีความเป็นไปได้ค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0