โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เอ็มพาตี้ Empathy - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 06.43 น. • ศุ บุญเลี้ยง

มีคำว่าเอ็มพาตี้ (Empathy) กับ ซิมพาตี้ (Sympathy)  ซึ่งครูภาษาอังกฤษ บอกว่าเป็นคำที่ ซินโนนิม (Synonym) กัน คือใช้แทนกันได้ 

แต่ความหมายที่แท้จริงมีความแตกต่างกันเมื่อเข้าไปใส่ใจดูในรายละเอียด

คำหนึ่งแปลว่า เข้าอกเข้าใจอีกคำหนึ่งแปลว่า เห็นอกเห็นใจ 

คำแปลไทยก็ฟังคล้ายๆ กัน 

แต่ถ้าจะอธิบายให้พอเข้าใจได้มากขึ้น

คำหนึ่ง หมายถึง หมอเห็นอกเห็นใจคนป่วย พอคนป่วยมารับการรักษาก็จะเห็นใจสงสาร

แต่อีกคำหนึ่ง อาจใช้แทนภาวะขณะที่หมอเกิดป่วยแล้วกลายเป็นคนไข้ อาจจะเข้าใจได้มากกว่าว่าคนไข้คิดหรือรู้สึกอย่างไร

เคยมีข้อมูลจากกรมอนามัยของนครปักกิ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีค.ศ.2009 รายงานไว้ว่าได้เชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาล ใหญ่ที่มีชื่อเสียง19 แห่ง แยกย้ายกันลองไปเป็น ผู้ป่วยหนึ่งวัน ยังรพ.อื่นๆ เพื่อรับรู้ด้วยตนเองถึงความรู้สึกของประชาชนคนธรรมดาว่าเวลามาหาหมอตรวจโรคนั้นเป็นเช่นไร

เพื่อให้ผู้บริหารได้รับความรู้สึก สามนานสองสั้น’  คือลงทะเบียนนาน รอตรวจนาน รอรับยานาน  แต่สอบถามอาการใช้เวลาสั้น ตรวจอาการของโรคก็แสนสั้น

จากสถิติบอกว่า ผู้อำนวยการรายหนึ่ง เริ่มเข้าแถวลงทะเบียนจนออกจากโรงพยาบาลใช้เวลา เกือบ 7 ชั่วโมง แต่เวลาหมอตรวจจริงเพียง 20 นาที

ถือเป็นประสบการณ์พิเศษที่ทางกรมจัดให้กับผู้อำนวยการ 

นอกจากเวลาเนิ่นช้าแล้วท่านยังได้รับการบริการอันเย็นชา กระด้าง หรือพบกระบวนการที่ทำให้การได้เจอว่า การรับการรักษาของผู้ป่วยนั้นเลวร้ายแค่ไหน เผื่อจะได้นำความรู้สึกนั้นไปคิดหาทางบริหารจัดการให้ดีขึ้น

 

คำว่าเอ็มพาตี้นี้มีที่มาและกำลังจะมีที่ไปน่าสนใจยิ่ง เมื่อรวมเข้ากับการสื่อสาร  จึงหมายความว่า สื่อสารอย่างไรจึงจะเข้าอกเข้าใจกันได้ดี( Empathy Communication )

 

อย่างตอนแม่เราไม่สบาย แล้วมีคนถามไถ่เข้ามา คำหนึ่งซึ่งไม่ชอบเอาเสียเลยคือคำเอ่ยที่ว่า เข้าใจดีเพราะเคยมีพ่อแม่เจ็บป่วยมาก่อน

คนที่พูดแบบนี้ คือคนที่คิดว่าคนอื่นจะรู้สึกเหมือนกับตัวเอง

แม้มีความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ แต่กลับนึกไปเองว่าเข้าใจคนอื่น คิดว่าคนอื่นจะรู้สึกเหมือนกับตัวเองรู้สึก คือการยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

หรือกับการบอกสอนว่า ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรานี่ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เราจะรู้ได้ยังไงว่าใจเขาคิดยังไง อยู่ดีๆ ไปเอามาใส่ใจเรา มันได้เลยซะเมื่อไหร่

ยิ่งถ้าคิดว่า ตัวเราคิดยังไง อยากให้คนอื่นทำกับเรายังไง เราก็ทำกับคนอื่นยังงั้นไง

นั่นแหละที่เราจะไม่เข้าอกเข้าใจกันอย่างแท้จริง

 

ยกตัวอย่าง เราอยากจะให้เขาจูบเราเราก็เลยจูบเขา แบบนี้มันใช่ที่ไหน

หรือเราชอบให้คนมาล้อมหน้าล้อมหลัง พอคนอื่นมาเราก็ไปล้อมหน้าล้อมหลังเขา เขาอาจจะรำคาญก็ได้

คนเรามันไม่เหมือนกันอุปมาเหมือนต้นไม้ที่ไม่ได้ต้องการให้รดน้ำชุ่มฉ่ำเสมอไปบ้างชอบแดดบ้างชอบฝน

และยิ่งคนละเวลาคนละอารมณ์ เราจึงไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่า เขาจะชอบอะไรกันแน่ แม้แต่ตัวเราเองคนเดียว บางวันอารมณ์ยังไม่เหมือนกัน วันนี้อย่างพรุ่งนี้อย่าง

 

ของที่ระลึกก็เช่นกัน

วันก่อนไปบรรยายที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรื่อง เอ็มพาตี้ 

เพื่อจะให้คนเชิญและคนฟังเข้าใจมากขึ้น ผมถามเขาว่า เตรียมของที่ระลึกอะไรไว้ให้วิทยากร

เขาบอกว่า เตรียมถุงผ้าลดโลกร้อน

ผมถามเขาว่า คิดว่าผมชอบใช่ไหม

เขาว่าก็เห็นพี่เป็นคนมีแนวคิดในการอนุรักษ์

ผมถามเขาว่า คิดว่าผมมีถุงผ้าแบบนี้กี่ใบที่บ้านรู้ไหม

เขาบอกไม่ได้คิด อยากให้ก็ให้

ผมจึงต้องบอกเขาว่ามันมากมายจนจะเต็มตู้อยู่แล้ว ต้องเอาไปไล่แจกคนอื่นๆ เพราะมีแต่คนผลิตถุงผ้าออกมาและเอามาแจกให้

แบบนี้คือการไม่เอ็มพาตี้ 

คนให้คิดว่าอยากจะให้ แต่ไม่ได้คิดว่าผู้รับ อยากจะได้ หรือได้แล้วจะนำไปใช้หรือไม่

การแสดงความเอ็มพาตี้นี้ อาจพอทดสอบใช้หน่วยวัดด้วยการให้ของขวัญกับผู้คน ถ้าคุณให้ของที่เขาอยากได้ พึงพอใจเมื่อได้รับ นั่นพอจะอนุมานว่าเราเข้าใกล้จิตใจของเขา ไม่ใช่สักแต่ว่าเราอยากจะให้ก็ให้

อยากจะให้พระแต่เขาไม่นับถืออยากจะให้หนังสือแต่เขาไม่ชอบอ่านเป็นต้น

 

คนคิดจะให้คนอื่น ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความสงสาร ด้วยความปรารถนาดี แบบนี้เรียกว่าซิมพาตี้ 

แต่ถ้าคนที่ให้คนอื่น แล้วเขาได้ของที่อยากได้ หรือได้แล้วสามารถนำไปใช้ ได้พอเหมาะพอดี แบบนี้เรียกว่าเอ็มพาตี้

 

ในหลายๆ กรณีการแก้ไขปัญหารัฐบาล หรือให้สัมภาษณ์ฟังแล้วกลับรู้สึกราวกับว่า พวกเขากำลังมองข้ามศรัทธาของคนในชาติ

ทำเหมือนไม่เห็นหัวชาวบ้าน

 

บางคราวดูราวกับไม่เข้าอกเข้าใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะของมวลชน

ช่างเป็นรัฐมนตรีที่ไม่เอ็มพาตี้เลยทีเดียวเชียว

__

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0