โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

เอเอฟซี ยกพลเยือนไทยตรวจความพร้อมสนามจัดเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย

Khaosod

อัพเดต 20 ก.พ. 2562 เวลา 10.02 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 10.02 น.
เอเอฟซี

เอเอฟซี ส่งทีมงานร่วมประชุมสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยฯ เตรียมความพร้อมจัดลูกหนังชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ด้าน “บิ๊กอ๊อด” นายกลูกหนังพาตรวจสนามแข่งที่เสนอชื่อทั้ง 6 แห่งเชื่อดีพอผ่านเกณฑ์

เอเอฟซี – เมื่อวันที่ 20 ก.พ. “บิ๊กอ๊อด”พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ นำเจ้าหน้าที่จากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี ตรวจสอบสภาพสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขตามกฎ ระเบียบ เรื่องการใช้สถานที่สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ

การตรวจสนาม ในครั้งนี้ นำโดย ยู จิน โฮ ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), เชลตัน กูลการนิ ฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์, เชง ยิง ได ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), คูมาราซัน ชันดราน ฝ่ายการตลาดและพาณิชย์, โมฮาหมัด ราซากีดิน บิน ราซาลลี ฝ่ายบริการทั่วไป, ฟาดฮิล อัซรี บิน อิสมาอิล ฝ่ายออกแบบสนาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ฝ่ายจัดการแข่งขันและฝ่ายต่างประเทศ

“บิ๊กอ๊อด” กล่าวว่า “จากการที่ประเทศไทย ได้รับเลือกจากเอเอฟซี ให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ประจำปี 2020 ในเดือนมกราคมปีหน้า วันนี้ทางเอเอฟซี ได้ส่งเจ้าหน้าทีมาตรวจความพร้อมของสนามทั้งหมด 6 สนาม ประกอบไปด้วย สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬา สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ สนามบางกอกกลาส สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา สนามเมืองทอง และ สนามม.ธรรมศาสตร์ รังสิต”

“ซึ่งเจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะตรวจสอบว่าทั้งหมด 6 สนาม ว่ามีสนามใดผ่านข้อกำหนด ไม่ผ่านข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งตรงกับนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะปรับปรุงสนามภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 3 สนามคือราชมังคลากีฬาสถาน, สนามที่เชียงใหม่ และนครราชสีมา”

“เป็นโอกาสดีที่ทางเอเอฟซี ที่ได้สำรวจความบกพร่องและแจ้งให้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ฟุตบอลรายการนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นที่ประเทศไทย ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย เพราะฉะนั้นสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยลำพังไม่สามารถทำได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งคือการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงรัฐบาล ถ้าเราไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดของเอเอฟซีได้ มีประเทศที่รอประเทศไทยพลาดโอกาสถึงสี่ประเทศ”

“ถ้าเราทำไม่ได้ถือว่าน่าเสียดาย เพราะว่าฟุตบอลรายการนี้มจะนำไปสู่การจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้นไปอีก”

“ทางเอเอฟซี บอกข้อกำหนดแล้ว แต่ทางที่ดีคือให้เขาให้การบ้านเรา และเราทำตอบโจทย์ตามที่เขาต้องการ ตอนนี้เราได้สิทธิแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ตอนนั้นเราต้องให้คำมั่นเขาว่าเราจะสามารถจัดการแข่งขันได้ตามข้อกำหนด”

“หลายๆ อย่าง เราดูจากความเป็นไปได้ทั้งหมด ทั้งเรื่องของแสงไฟส่องสว่าง ห้องพักนักกีฬา และสภาพสนาม รวมถึงที่นั่งในสนามด้วย หลังจากนี้ต้องคุยกับทางเอเอฟซี คิดว่าเราสามารถทำงานภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย การเลือกสนามส่วนใหญ่เราจะดูเรื่องความเหมาะสมทั้งหมด”

“เราจะมีการพูดคุยอีกครั้ง เพื่อเช็กการบ้านที่ทางเอเอฟซี มอบให้กับพวกเรา เราได้ตั้งคณะทำงาน ที่จะร่วมมือกันระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าจะทำตรงนั้นได้หรือไม่ ในเบื้องต้นในที่ประชุมทางการกีฬาแห่งประเทศไทยมั่นใจว่าสามารถทำได้”

“เราทำการบ้านมาสองปีแล้ว ในเรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกรุ่นเยาวชน แต่ขึ้นอยู่กับทางฟีฟ่าว่าจะเลือกประเทศใดเป็นเจ้าภาพ จะต้องยื่นข้อเสนอ ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ซึ่งถ้าหากเราได้จัดฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ฟุตบอลรายการอื่นๆ เรามีโอกาสมากขึ้น เพราะทำให้ฟีฟ่ามั่นใจขึ้น แต่ไม่ได้มีประเทศไทย ประเทศเดียวที่สนใจ ส่วนใหญ่หลายประเทศต้องการจัดร่วม อย่างเช่นฟุตบอลโลกที่บังคับว่าอย่างน้อยต้องมี 4 ประเทศเป็นเจ้าภาพ”

สำหรับฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020 จะมีการแข่งขันในช่วงเดือนมกราคม 2563 และคัดเลือก 3 ชาติ ผ่านเข้าไปเล่นในมหกรรมโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไป

 

อ่านข่าวอื่นที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0