โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เอิ้น พิยะดา' คุณหมอนักแต่งเพลง ที่ใช้การฟังเพื่อรักษาความสุข

LINE TODAY

เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2562 เวลา 05.06 น. • nawa.

"เสน่ห์ของจิตแพทย์คือเป็นหมอที่ทำหน้าที่รักษาความสุขของคน" คำบอกเล่าของ 'เอิ้น พิยะดา หาชัยภูมิ' หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม 'หมอเอิ้น' เจ้าของฉายาคุณหมอนักแต่งเพลง จากเส้นทางการเป็นจิตแพทย์ นักธุรกิจ ศิลปิน สู่การเป็นนักเขียน สร้างสรรค์ผลงานเขียน งานเพลง ไปพร้อมกับรักษาสภาพจิตใจผู้ป่วยไปด้วย เธอทำหน้าทั้งหมดนี้ได้อย่างไร LINE TODAY พาไปทำความรู้จักกับคุณหมอผู้ใช้การฟังเพื่อเยียวยารักษาความสุขของรอบข้างคนนี้กันให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของ เอิ้น พิยะดา ในฐานะนักแต่งเพลง 

"เริ่มต้นจากการเป็นนักแต่งเพลงก่อน แต่งเพลงมา 20 ปี เหมือนเรารู้ตัวว่ามีพรสวรรค์ด้านการแต่งเพลง ตอนนั้นก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นในครอบครัวคือคุณพ่อเสียชีวิต ก็เลยรู้สึกอยากแบ่งเบาภาระทางบ้าน อีกอย่างตอนที่คุณพ่อป่วย เราช่วยคุณพ่อไม่ได้ เราก็เลยมีอุดมการณ์ใหม่เกิดขึ้น ว่าถ้าจะทำอะไรสักอย่างเป็นอาชีพ เราอยากช่วยคน เลยตั้งใจเรียนหมอ เลยเป็นเส้นทางควบคู่กันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย คือเรียนหมอเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และเป็นนักแต่งเพลงเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง "

การแต่งเพลงคือพรสวรรค์ 

หมอเอิ้นเล่าว่าเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่ป.4 ในขณะที่เด็กคนอื่นชอบเขียนไดอารี่ แต่เธอกลับหลงใหลในการเขียนบทเพลง ใส่ทำนองเข้าไป ทุ่มเทจินตนาการไปกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่

"เราแต่งเพลงในฐานะผู้ฟัง เพราะฟังเพลง พอแต่งเสร็จก็เอาไปโชว์คนอื่น เรียกได้ว่าโชว์เรี่ยราดเลย! อีกย่างคือตอนเด็กเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ใจกล้าหน้าด้านมากคือการร้องเพลงที่ตัวเองแต่งให้คนอื่นฟัง ที่สำคัญเลยคือเราแต่งเพลงเป็นชีวิตประจำวัน เวลาเราโกรธกับพี่ เราก็แต่งเพลง ‘อยากจะขอ ขอโทษ อยากให้หาย หายโกรธ~’ หรืออยากมีโมเมนต์น่ารัก ๆ กับแฟน ก็แต่งเพลง ‘คำถามที่ใครต่างคนหาความหมายที่แท้ของคำว่าความรัก~’ มันคล้ายกับว่าเป็นการสื่อสารเดียวที่เรามั่นใจในตอนนั้นค่ะ "

จาก เอิ้น พิยะดา สู่ หมอเอิ้น พิยะดา 

"ที่เลือกเรียนจิตวิทยาเพราะส่วนตัวรู้สึกว่าเราอยากมีความสุข อยากเข้าใจตัวเอง บ่อยครั้งที่เกิดคำถามกับตัวเองว่า ตกลงเราเป็นคนคิดเยอะ คิดน้อย ใจเย็น หรือยังไง ประกอบกับเราเป็นนักแต่งเพลงที่เกิดจากการเป็นผู้ฟัง เราติดนิสัยฟังคนอื่น ฟังเพื่อจะทำความเข้าใจเค้า แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นเนื้อเพลง อีกอย่างคือเรามีความเชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจกัน มันจะทำให้เรามีความสุข สรุปคือที่อยากเป็นจิตแพทย์เพราะอยากเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นค่ะ "

กลายเป็นคุณหมอนักเขียน 

"จุดเริ่มต้นในวงการเขียนน่าจะเริ่มจากที่เขียนเพลงนี่แหละค่ะ พอมาเป็นนักแต่งเพลงเราได้พบเจอสังคมอีกสังคมนึงที่น่ารักและกลุ่มคนที่ให้โอกาสเรา พอเขียนเพลงก็ได้ทำอัลบั้มเต็ม ชื่อ Behide the song ได้ทำทุกอย่างเองก็เริ่มเห็นความเป็นมาทั้งหมด เลยกลายมาเป็นอยากเขียนเรื่องราวของแต่ละเพลง เป็นงานเขียนแรกที่เป็นหนังสือชื่อเดียวกับอัลบั้มค่ะ ต่อมาก็เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารต่าง ๆ เรื่อย ๆ มาตลอด "

เอิ้น พิยะดา เป็นทั้งจิตแพทย์ นักเขียน นักแต่งเพลง นักธุรกิจ วิทยากร และอีกมากมายที่เธอสามารถทำได้ แต่เมื่อถามถึงบทบาทที่ชอบที่สุด กลับได้คำตอบว่า

"ชอบทุกบทบาทเลยนะ ทุกอย่างมันมีเสน่ห์ ทำให้เรารู้สึกว่ามนุษย์มีศักยภาพมาก ๆ ที่จะทำอะไรหลายอย่างได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะ เวลา และโอกาสของชีวิต อย่างเราเองมีอาชีพนึงที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ แต่ต้องทำและหนีไปไหนไม่ได้ด้วยก็คือทำธุรกิจ ต้องเป็นเจ้าของโรงแรม ช่วยสามีบริหารงานของครอบครัว ตอนที่เราเริ่มทำคือติดลบเลย หลายคนมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจ แต่ตอนเข้าไปเรารู้สึกได้เลยว่า นี่คือความสวยงาม ธรรมชาติ เราต้องดูแลให้ดีที่สุด เพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้ดีขึ้น "

หลายบทบาท แต่ไม่ขัดแย้ง 

"ความขัดแย้งของแต่ละหน้าที่มันไม่เคยเกิดขึ้น เรื่องเวลาอาจมีปัญหาบ้าง แต่เราพยายามทำให้มันเป็นเรื่องเดียวกันหมด ต้องทำความเข้าใจคนให้มาก เราเอาศาสตร์ด้านนี้มาบริหารกับทุกอย่างที่ทำ แม้กระทั่งเรื่องธุรกิจ อย่างช่วงแรกที่ทำธุรกิจ ใช้การบริหารแบบธุรกิจจ๋าเลย มองตัวเลข ผลกำไรอย่างเดียว กลายเป็นทุกคนเครียด เราเครียด ลูกน้องก็เครียด เลยต้องกลับลำมาเป็นบริหารใจคนแทนจะดีกว่า จะทำยังไงให้ลูกน้องมีความสุข จะทำยังไงให้ลูกน้องได้ใช้ศักยภาพอย่างมากที่สุด จะทำยังไงให้การบริการมีประสิทธิภาพมากที่สุด สุดท้ายเค้าจะดำเนินธุรกิจแทนเราอย่างมีความสุขเอง "

แม้ว่าจะเป็นคุณหมอที่ดูแลสุขภาพจิตของคนอื่นเป็นหลัก แต่เมื่อถามว่า เอิ้น พิยะดา นิยามตัวเองว่าเป็นใคร เธอบอกแค่สั้น ๆ ว่า เป็นคน! 

"(หัวเราะ) เราเป็นคนธรรมดาคนนึงที่เข้าใจความเป็นคน แล้วเราก็อนุญาตให้ตัวเองเป็นคนแบบไหนก็ได้นะ ไม่ได้สนใจว่าใครจะมองเรายังไง"

ให้งานเขียนสะท้อนตัวตน 

"คนอื่นมักจะมองว่าเรามีมุมโลกสวยอะไรแบบนี้ เพราะเพลงหรืองานเขียนมันจะเป็นมุมมองบวก ๆ เสียส่วนใหญ่ แต่เชื่อไหมว่าเราไม่ได้ตั้งต้นแบบนั้นนะ ออกจะมุมลบด้วยซ้ำ แต่ในมุมลบเราก็มองหามุมบวกในตัวมัน อย่างบางเพลงก็เริ่มต้นด้วยปัญหา เพียงแต่ว่ามันจบด้วยความสุขเท่านั้นเอง สำหรับเรา โลกสวยคือการมองโลกด้านเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวัง ถ้ามองสองด้าน บวกบ้างลบบ้างมันก็บาลานซ์กันเอง" 

การมองโลกผ่านสายตาคนเป็นจิตแพทย์ 

"เห็นโลกรอบด้านมากขึ้น เมื่อก่อนที่ยังไม่เรียนด้านนี้ เราจะมองแบบโลกในแบบที่เราสบายใจเท่านั้น มองตัวเองแต่ด้านดีด้วยนะ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่วันนึงพอเราเจอคนที่พูดถึงด้านลบ แน่นอนว่าต้องรู้สึกไม่ดี แล้วมันจะทำร้ายความรู้สึกเราเองนั่นแหละ แต่พอได้เป็นจิตแพทย์ ช่วงแรก ๆ ก็แปลกใจเหมือนกัน ทำไมยิ่งเรียนยิ่งเห็นด้านลบมากขึ้น ทั้งของตัวเองและของคนอื่น อย่างเมื่อก่อนไม่ชอบคนเอาแต่ใจ พออยู่ไป ๆ อ้าวเราก็เป็นนี่นา (หัวเราะ) มีช่วงนึงถึงขั้นอยากลาออกเลยนะ เพราะเห็นแต่เรื่องลบ ๆ แต่พอเราทุกข์มาก เราก็ได้ยินคำสอนของพระอาจารย์คำเขียน ท่านบอกว่าโลกนี้มันไม่มีอะไร ทุกอย่างเป็นปกติ เราสามารถคิด สามารถรู้สึกยังไงก็ได้ วันนั้นฟังแล้วก็เข้าใจเลย เข้าใจโลกมากขึ้น "

ความสุขของหมอเอิ้น 

"ความสุขคือการไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องรู้สึกอะไร การที่เราได้อยู่กับตัวเองจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องไปคิดถึงอย่างอื่น คนอื่น ไม่ต้องห่วงใคร คิดถึงใคร แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว "

การเป็นจิตแพทย์ ทำให้ต้องรับฟังเรื่องราวจากคนที่เข้ามาปรึกษาอยู่เสมอ ๆ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหมอเอิ้นได้เยียวยาทางใจผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมถึงเยียวยาตัวเองด้วย

รับฟังเรื่องเครียด ๆ ของผู้อื่น แต่ไม่เคยเก็บมาเครียดเอง

"ทุกครั้งที่เราทำหน้าที่จิตแพทย์ เจอผู้ป่วยวันละเป็นร้อยคน เราต้องฟัง จริง ๆ ต้องมากกว่าฟังนะ เพื่อที่จะเยียวยาเขาในระยะเวลาอันจำกัด เราต้องฝึกหลายอย่าง นั่งสมาธิก็เป็นสิ่งที่เราทำเป็นประจำทุกวัน เวลาว่าง 5-10 นาทีก็นั่งนะ พอเรามีสติ มีสมาธิ เราก็จะไม่เอาตัวเองไปเป็นเขา เราจะไม่ทุกข์ไปกับเขาด้วย อยู่กับตัวเองส่วนนึง อยู่กับเขาส่วนนึง มันจะทำให้เราไม่เป็นเขา "

ขัดกับความ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ หรือเปล่า 

"ไม่ขัดเลย นี่คือการเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างแท้จริง ถ้าเราเอาตัวเองไปเป็นเขา แปลว่าเรื่องนี้มีคนดรามา 2 คนทันทีใช่ไหม เราต้องถอยออกมามอง เหมือนการที่เรามองคนอื่น เราเห็นหน้าเขา แต่เขาไม่เห็นหน้าตัวเอง แบบนั้นเลย ถ้าเราไปรู้สึกแบบเขา 100% มันก็เหมือนนั่งตักกัน อึดอัดไหมล่ะ ก็อึดอัดกว่าเดิม แถมไม่ได้เห็นอะไรมากขึ้นด้วย

เวลาเพื่อนมาปรึกษาเราแล้วเราอินกับเรื่องของเขา ทำไมรู้ไหม เพราะมันมาสะกิดแผลในใจเราไง จริงนะ มันอาจจะเคยเป็นประสบการณ์บางอย่างของเรามาก่อน ทำให้เรารู้สึกตามไปด้วย"

คำแนะนำในการเยียวยาจิตใจ 

"ต้องไม่ปฏิเสธตัวเอง ส่วนใหญ่คนเราจะเริ่มป่วยเมื่อเราปฏิเสธตัวเองมานาน อย่างเช่น ทัศนคติในการมาพบจิตแพทย์ถ้าเรามัวแต่แคร์เสียงรอบข้าง แคร์คนอื่น แต่ไม่แคร์ข้างในตัวเอง ละเลยเสียงข้างในตัวเองเลยว่าตอนนี้เราอ่อนแอ เราต้องการกำลังใจแค่ไหน ต้องการการเยียวยาแค่ไหน เราลองสละเสียงรอบข้างแล้วกลับมาเยียวยาหัวใจตัวเองจะดีกว่าไหม

เสน่ห์ของจิตแพทย์คือเป็นหมอที่ทำหน้าที่รักษาความสุขของคน มากไปกว่านั้นก็คือทำหน้าทีดึงศักยภาพของคนนั้นออกมาด้วย เราไม่ได้รักษาแค่หูแว่ว ภาพหลอน ถ้าทุกคนมองและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของจิตแพทย์มากขึ้น มันจะช่วยให้เราสละทัศนคติเก่า ๆ ออกไปได้นะ"

จริงหรือไม่ ‘คนสมัยนี้มีความสุขกันยากขึ้น’  

"จริง ๆ เรามีความสุขกันยากขึ้นเพราะเราอยู่กับตัวเองกันไม่เป็น แค่นั้นแหละ เพราะมีอะไรล่อตาล่อใจเราเยอะมากในสมัยนี้ แต่ก่อนคนเครียดก็แค่ออกไปช็อปปิง แต่ตอนนี้เราไม่ต้องไปเนอะ ทำในมือถือก็ได้ ทุกอย่างมันง่ายไปหมด แต่ความง่ายจากภายนอกมันทำให้ข้างในเรายาก ก็เลยอยู่ยาก อยู่กับตัวเองยากขึ้น"

งานเขียนใน THINK TODAY 

"ความตั้งใจคืออยากสื่อสาร อยากทำให้เรื่องการดูแลจิตใจเป็นเรื่องง่ายขึ้น ตั้งใจว่าบทความที่เขียนจะแนบลิ้งก์เพลงเข้าไปตอนท้ายด้วย เพราะเราเชื่อว่าศิลปะมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้ง่ายขึ้น  

จริง ๆ มีตั้งใจไว้ว่าอยากเขียนเกี่ยวกับ ความหมายของการฆ่าตัวตายที่ผิดเพี้ยน เพราะว่าคนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายเท่าไหร่ พอเจอคนใกล้ตัวกระทำก็ไม่สามารถจัดการได้ อย่างเพลง เจ็บแต่จบ ที่เขียนไว้ก็มีที่มาจากเรื่องของคนไข้นี่แหละ ใน LINE TODAY ก็อยากเขียนที่มาที่ไปของแต่ละบทเพลงเหมือนกันค่ะ"

ติดตามผลงานเขียนของหมอเอิ้น พิยะดา ได้ที่คอลัมน์ THINK TODAY และเว็บไซต์ http://www.earnpiyada.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0