โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เอกชนแหยงเป้าส่งออกโต8% ผนึกกำลังตั้ง"วอร์รูมการค้า"

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 20 ต.ค. 2561 เวลา 12.30 น.
สมคิด-เศรษฐกิจไทย

“สมคิด” จี้ทูตพาณิชย์พลิกตำราดันส่งออกปี”62 ไปให้ถึง 8% สูงกว่าคาดการณ์แบงก์ชาติ-เอกชนเกือบเท่าตัว สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ (สรท.)ระบุเป้าปีหน้า “ท้าทายมาก” เอกชนผนึกกำลังตั้งศูนย์เตือนภัย “Trade Alert” ลุ้นส่งออกแอฟริกา-EU-รัสเซียโตต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 64 แห่งทั่วโลก ให้เร่งจัดทำกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อผลักดันการส่งออกปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมายขยายตัว 8% มูลค่า 2.76 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นหมายถึงตลาดส่งออกทุกตลาดต้องขยายตัวเป็น “บวก” แบ่งเป็น ตลาดที่บวกตัวเลข 1 หลัก ได้แก่ อเมริกาเหนือ 6.1%, สหภาพยุโรป 3%, ตะวันออกกลาง 3%, ละตินอเมริกา 6%, เอเชียใต้ 8%, ไต้หวัน 7%, ญี่ปุ่น 7%, เกาหลีใต้ 7%, ตลาดอาเซียน 8.3% และออสเตรเลีย 6% ส่วนตลาดที่ส่งออกขยายตัว 2 หลัก ได้แก่ แอฟริกา 10%, รัสเซีย-CIS 10%, จีน 12% และฮ่องกง 12%

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การกำหนดเป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์โดยรวมนั้น “สูงกว่า” หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 1 เท่าตัว

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า การส่งออกจะขยายตัวเพียง 4.3% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยคาดว่า จะขยายตัวเพียง 5% ส่วนศูนย์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เห็นว่าจะขยายตัว 4.7% ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะกระทบรุนแรงขึ้นในปีหน้า

สงครามการค้ากระทบหนัก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการมอบนโยบายให้กับทูตพาณิชย์ว่า ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างหนัก เพราะในปี 2562 สงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด “ทูตพาณิชย์ต้องคิดล่วงหน้า มองวิกฤตให้เป็นโอกาส สินค้าไหนที่จะทำตลาดได้ สินค้าไหนได้รับผลกระทบและจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร และควรจะทำตลาดที่ไหนเป็นสำคัญ” เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย

“ตลาดจีนจะทำอย่างไรให้ขยายสินค้าเข้าจีนได้ จากปัจุบันมีเพียงทุเรียน-ยางพารา-ข้าว ส่วนตลาดอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ไทยจะต้องเชื่อมโยงการค้าให้ได้เพื่อขยายส่งออกไปจีน-ญี่ปุ่น” ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังนอกจากสงครามการค้าแล้วก็คือ “เรื่องค่าเงินผันผวน” โดยค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนการส่งออกปี 2561 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 8%

โดยในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัว 10%ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำโครงการ Creative Economic “ปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ใหม่” ส่วน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์จัดทำรายละเอียด 10 สินค้าที่จะได้รับผลจากสงครามการค้านำมาจัดทำแผนผลักดันการส่งออก ภายใน 2 สัปดาห์

สรท.ตั้งศูนย์ Trade Alert

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ สรท.จะประชุมประเมินสถานการณ์ทิศทางการส่งออกไตรมาส 4/2561 และแนวโน้มการส่งออกในปี 2562 หลังจากทราบตัวเลขคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินว่าส่งออกขยายตัว 8% ซึ่งถือว่า “เป็นตัวเลขที่มีความท้าทายมาก” โดยในปี 2562 สงครามการค้ายังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และที่สำคัญแต่ละตลาดอาจเพิ่มการใช้มาตรการทางการค้ามากขึ้น เพื่อปกป้องประเทศตนเองจากปัญหาขาดดุทางการค้า

“จำเป็นต้องมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังทางการค้า (trade alert) ซึ่งทาง สรท.อาจจะตั้งศูนย์เฝ้าระวังการใช้มาตรการทางการค้าขึ้นมา เพื่อประสานข้อมูลระหว่างสมาชิกว่า มีรายใดที่ถูกใช้มาตรการ และมีการดำเนินการแก้ไขอย่างไรบ้าง รวมถึงการรวบรวมข้อมูลและส่งต่อให้ภาครัฐในการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐต่อรัฐคู่ขนานกันไป”

จีนลงทุนแอฟริกาส่งออกโต 10%

นายอภิรักษ์ แพพ่วง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวถึงการตั้งเป้าหมายตลาดแอฟริกาขยายตัว 10% ว่า ตลาดนี้มีประเทศแอฟริกาใต้ เป็นตลาดหลักที่มีสัดส่วน 30% ปัจจัยบวกจะมาจาก “อานิสงส์” สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้จีนหันมาลงทุนในแอฟริกามากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งแอฟริกาเป็นฐานผลิตและประกอบขายในทวีปที่มีประชากร 1,200 ล้านคน ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งก็ยังมีแนวโน้มเติบโตดี เพราะแอฟริกาไม่สามารถผลิตข้าวสำหรับบริโภคได้เพียงพอต้องนำเข้า “แผนในปีหน้าจะมุ่งเน้นธุรกิจบริการโดยเฉพาะร้านอาหาร-สปามากขึ้น”

สานต่อ FTA ไทย-EU 

ด้าน นางพรพิมล เพชรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ผลจาก Brexit ทำให้มีธุรกิจการเงินที่เคยอยู่ในอังกฤษจะย้ายเข้ามาในปารีส

มากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและกำลังซื้อ ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวของฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่ขยายตัวดี ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารไทยได้รับความนิยมสูงมาก

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศสดีขึ้นอย่างมาก หลังจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาเยือน ทำให้มีการยกระดับความร่วมมือในทุกระดับ จะนำไปสู่การสานต่อการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-อียู หลังการเลือกตั้งของประเทศไทยต่อไป การเจรจาลดภาษีจะช่วยให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ปัจจุบันเสียเปรียบข้าวจากกัมพูชา-เวียดนาม (โควตาภาษี)” นางพรพิมลกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการฝ่ายการค้าสหภาพยุโรป ในเวทีผู้นำเอเชีย-ยูโรป ครั้งที่ 12 (ASEM) ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม ที่เบลเยียมนั้น ทางอียูจะเร่งทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนมากขึ้น ทั้ง EU-เวียดนาม (EVFTA) ที่จะลงนามในปลายเดือนนี้, กรอบ EU-สิงคโปร์ คาดว่าจะลงนามในสัปดาห์นี้ และจะเร่งกรอบ EU-อินโดนีเซียะให้เร็วขึ้น

ส่วนความเคลื่อนไหวในเรื่องของการทบทวนข้อเสนอของอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะครบตามกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2562 “อาจจะเลื่อนออกไป” เนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้รายงานผลประเมินผลกระทบ Brexit จะทำให้ลอนดอนมีความเสี่ยงจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เนื่องจากกลุ่มธนาคารสัญชาติญี่ปุ่น-สหรัฐ-ฝรั่งเศสต่างส่งสัญญาณว่า จะมีการโยกย้ายนักการเงินหลายพันตำแหน่งออกจากลอนดอน ไปยังปารีส-แฟรงก์เฟิร์ต และดับลินแทน

รัสเซียลุ้นสหรัฐแซงก์ชั่น

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำมอสโก รัสเซีย กล่าวว่า ในปี 2562 การส่งออกไปรัสเซียคาดการณ์ขยายตัว 10% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตรา 2 หลัก ติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว (ปี 2560 ขยายตัว 79%-ปี 2561 ขยายตัว 30%) โดยในช่วง 8 เดือนแรก ส่งออกไทยขยายตัว33% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจรัสเซียฟื้นตัว มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และอาหาร

“ปีหน้าที่เราตั้งเป้าส่งออกชะลอตัวลง 10% ก็เพราะต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากการที่สหรัฐประกาศยกระดับมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจมีผลให้ธนาคารรัสเซียไม่สามารถทำธุรกิจด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐได้ ดังนั้น รัสเซียจึงพยายามขยายความสัมพันธ์ทางการค้าไปยังกลุ่ม BRICS มุ่งใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้า ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ (D-Dollarization) รวมถึงตุนเงินยูโรและทองคำ ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เป็นแรงผลักดันทำให้จีนส่งสินค้ามาขายยังรัสเซียมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบสินค้าไทยได้” นายกิตตินันท์กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0