โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว งานดีที่ปากช่อง

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 09 ธ.ค. 2565 เวลา 06.58 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2565 เวลา 21.00 น.
7 เห็ด

ความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรไทยไม่เป็นสองรองใคร การพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีเกิดจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าส่วนราชการ เอกชน หรือจากตัวเกษตรกรเอง ต่างก็มีส่วนร่วมทำให้การพัฒนาการเกษตรรุดหน้าก้าวไกล นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่กำเนิดนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน

การเผยแพร่ข้อมูลทางด้านการเกษตรเป็นหน้าที่ของเราที่จะนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวความคิดให้ต่อยอด หรือเป็นตัวอย่างให้ปฏิบัติตาม จากการยืนหยัดมาร่วม 32 ปีแล้ว ทำให้ข้อมูลต่างๆ เข้มข้นขึ้น และเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีภาคเกษตรพัฒนาก้าวหน้าไปมากมาย ข้อเขียนบางครั้งผ่านไป 10-20 ปีแล้วยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่บางข้อเขียนผ่านไปแค่ปีเดียวกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้วในปัจจุบัน

เราคุ้นเคยกับเห็ดฟางกองเตี้ยที่เพาะกลางแจ้งเมื่อหลายสิบปีก่อน กาลเวลาผ่านไปกลายเป็นเห็ดฟางในโรงเรือนที่มีหลายๆ ชั้น เห็ดนางฟ้า เห็ดแครง เห็ดขอน ถูกบรรจุใส่ถุงอันมีส่วนผสมของขี้เลื่อยเป็นหลักนำมาเปิดดอกในโรงเรือนล้วนเป็นวิวัฒนาการทางความคิดของชาวเกษตรทั้งสิ้น ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับเทคโนโลยีระดับชาวบ้านแต่ซ่อนไว้ด้วยความไม่ธรรมดาที่จะนำเสนอ

เจอาร์ฟาร์ม Jr MushroomFarm เป็นฟาร์มเห็ด หมู่ที่ 5 ตำบลวังไทร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีคุณบี หรือคุณจิราพร จันตะเภา และหุ้นส่วนที่จบมาทางด้านเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำกิจการเพาะเห็ดฟางโดยทำเป็นแปลงกองเตี้ย และได้ศึกษาจนสามารถทำเชื้อเห็ดฟางเองได้

สมัยนั้นการทำเห็ดฟางจะทำเป็นกองเตี้ยในพื้นที่โล่ง ต้องมีไม้ตีกั้นเป็นบล็อกใส่ฟางรดน้ำย่ำแล้วจึงโรยเชื้อและโรยอาหาร เช่น เปลืองถั่ว เปลือกมันลงไป ทำเป็นชั้นๆ ทำอยู่หลายปีจึงได้เปลี่ยนเป็นทำก้อนเชื้อเห็ดมุ่งเน้นที่ทำเห็ดตระกูลนางฟ้า ที่ก้อนเชื้อจะต้องมีส่วนผสมของขี้เลื่อยเป็นหลัก และมีขี้ฝ้าย ไส้นุ่น เปลือกเมล็ดบัว และขี้ม้าผสมอยู่ด้วย ทำอยู่หลายปีเช่นกัน ตั้งแต่ขี้เลื่อยราคาคันรถละ 15,000 บาท จนขึ้นถึง 28,000 บาท เห็นท่าจะไม่ไหวจึงมาคิดว่ามีวัสดุทางธรรมชาติใดที่สามารถนำมาแทนขี้เลื่อยได้

สิ่งแรกที่มองเห็นคือ ฟางข้าว ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย จึงทดลองนำมาเป็นส่วนผสมแทนขี้เลื่อยในก้อนจำนวน 10% ปรากฏว่าได้ผลดี ต่อมาจึงทดลองใช้ฟางข้าวเพิ่มมากขึ้นจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ผลดีเหมือนกับใช้ขี้เลื่อย

ฟางมีคุณสมบัติดีกว่าขี้เลื่อย

ฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุที่มีซิลิกาที่ไม่ละลายน้ำ ในรูปแบบเดียวกับทราย กระจกหรือแก้ว ซึ่งมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่สูงถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอินทรียวัตถุอื่น ในฟางข้าวน้ำหนัก 1 ตันจะมีซิลิกาสูงถึง 40 กิโลกรัม โดยจะเคลือบอยู่ผิวด้านนอกของฟางที่เราเห็นเป็นมันวาว เราจึงจำเป็นต้องแช่น้ำให้ฟางนิ่มก่อนนำมาใช้หลายชั่วโมง ซึ่งทำให้ฟางชุ่มน้ำมากเกินไป เพราะถ้าฟางมีความชื้นมากเกินก็ทำให้เน่าเสียได้ง่าย แต่การสับด้วยเครื่องสับฟางที่ทางฟาร์มผลิตขึ้นมาจะได้ฟางที่มีคุณสมบัติตรงต่อความต้องการคือ เล็ก สั้น ร่วน ละเอียด และนุ่ม ทำให้ฟางนุ่มซึมซับน้ำได้ง่ายโดยไม่ต้องแช่น้ำ และมีขนาดสม่ำเสมอ การที่ฟางนุ่มและถูกตัดสับให้เล็กลงทำให้เชื้อเห็ดสามารถชอนไชเข้าไปกินอาหารในเนื้อฟางได้ง่ายขึ้น สรุปเหตุผลคือฟางเป็นเซลลูโลสที่ย่อยง่ายกว่าขี้เลื่อย ดอกเห็ดจึงออกถี่กว่าและใหญ่กว่า

นวัตกรรมใหม่เชื้อเห็ดแท่ง

จากขนาดถุงมาตรฐานของแบบที่ใส่ขี้เลื่อยจะใช้ถุงขนาด 6.5 คูณ 12.5 นิ้ว ทางฟาร์มได้ปรับเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมคือ ใช้ถุงขนาด 9 คูณ 14 นิ้ว ซึ่งมีปริมาตรเป็นหนึ่งเท่าของถุงขนาดเดิม และยังคงใช้วิธีการเขี่ยเชื้อไว้ด้านบนของถุงแบบเดิม ต่อมาได้เพิ่มขนาดถุงบรรจุให้ใหญ่กว่าเดิมคือขนาด 12 คูณ 18 นิ้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาตรเป็น 5 เท่าของถุงเก่า แต่มีปัญหาคือเรื่องเชื้อไม่สามารถเดินจากปากถุงให้กระจายตลอดทั้งถุงได้ในเวลาที่กำหนด

ด้านส่วนบนมีการออกดอกเห็ดแล้วแต่กลางถุงลงไปเชื้อยังกระจายไม่ถึง ทำให้ยากในการจัดการ ทางฟาร์มจึงใช้หลายวิธีในการนำเชื้อเข้าถุง เช่น การกรีดถุงใส่เชื้อ แต่ปรากฏว่าเชื้อราเข้าไปได้ง่ายและเปลืองเชื้อเห็ดมาก

ต่อมาจึงคิดกรรมวิธีนำเอาไม้เสียบลูกชิ้นนำมาทำขั้นตอนเดียวกับการเพาะและเขี่ยเชื้อในห้องแล็บ เนื่องจากเห็นว่าเห็ดในธรรมชาติบางชนิดเกิดบนขอนไม้ เพราะฉะนั้น ไม้ไผ่ก็อาจนำไปทำเป็นแท่งเชื้อได้เช่นกัน ปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ เชื้อสามารถเกาะที่ไม้ไผ่แทนที่จะเกาะบนเมล็ดข้าวฟ่าง เพราะไม้ไผ่เมื่อผ่านกระบวนการย่อยของเอนไซม์ของเส้นใยเห็ด แล้วก็กลายเป็นแป้งซึ่งเป็นอาหารของเห็ดได้เหมือนกัน เมื่อทำแบบนี้เชื้อก็สามารถที่จะกระจายได้ทั่วทั้งก้อนเนื่องจากไม้เสียบลูกชิ้นได้เสียบลงไปจากปากถุงเกือบถึงก้นถุง

ปัจจุบันทางฟาร์มได้ใช้ถุงเห็ดขนาด 12 คูณ 18 นิ้ว ซึ่งมีปริมาตรมากกว่าเดิม 5 เท่า แต่เวลาที่เชื้อเห็ดเดินจนเต็มถุงก็ใช้เวลาเหมือนถุงเล็กคือ 30 วัน หลังจากนั้น จะเกิดตาดอกเห็ดใช้เวลาประมาณ 5 วันเห็ดจะสมบูรณ์เต็มที่ มีน้ำหนักตั้งแต่ 400 กรัมขึ้นไปต่อช่อ หลังจากเก็บแล้วจะใช้เวลาประมาณ 7 วันก็จะออกช่อใหม่ แต่น้ำหนักช่อดอกจะเหลือประมาณ 3 ขีด ก็จะเก็บถุงออก เพราะต้องการเนื้อที่ในการวางถุงใหม่ แต่ในกรณีที่มีเนื้อที่เพียงพอก็สามารถรอเก็บดอกรุ่นต่อๆ ไปได้อีก 2-3 เดือน แต่ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

ความจริงแล้วการที่เห็ดออกมากน้อยไม่เกี่ยวกับปริมาณข้าวฟ่างที่มีเชื้อเห็ดที่เราหยอดเข้าไป เพียงแค่ข้างฟ่างเม็ดเดียวแต่มีเชื้อเห็ดอยู่ก็สามารถกระจายได้ทั้งก้อน แล้วแต่การหยอดจากปากถุงเชื้อเห็ดต้องใช้เวลาในการกระจายให้ทั่วถุงโดยเริ่มจากปากถุงจากบนลงล่าง ส่วนการทำเป็นเชื้อแท่งเสียบเข้าไปจนลึกเกือบถึงก้นถุงเป็นการกระจายจากจุดศูนย์กลางพร้อมๆ กันจึงทำให้เวลาการกระจายของเชื้อเท่ากันกับถุงเล็ก แม้ว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าถึง 5 เท่า

รายได้หลักของฟาร์มคือการจำหน่ายผลผลิตเห็ดสดให้กับโรงงานแปรรูปเห็ดที่วังน้ำเขียวและแม่ค้าตลาดทั่วไป คุณบี บอกว่า เห็ดที่เพาะจากฟางข้าวจะมีคุณสมบัติกรุบกรอบและมีกลิ่นหอมกว่าเห็ดที่ผลิตจากขี้เลื่อย เห็ดที่ทางฟาร์มผลิตจะเป็นเห็ดตระกูลนางฟ้า คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดนางรมเทา ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-70 บาท แล้วแต่ฤดูกาล

ปัจจุบันฟาร์มจะมีผลผลิตเห็ดวันละ 100-200 กิโลกรัม ส่วนการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำก้อนเชื้อเห็ดจะเปิดอบรมปีละหลายครั้ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ การอบรมในเดือนมีนาคมนี้ทางฟาร์มขอเลื่อนไปเนื่องจากเหตุผลไข้หวัดโควิด-19 ในรอบต่อไปจึงเป็นวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท ต่อ 1 ท่าน

เนื่องจากคุณบีจบทางด้านวิศวกรรมจึงสามารถออกแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำเชื้อเห็ดได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์ที่ทางฟาร์มออกแบบไว้มี 3 อย่าง คือ เครื่องสับฟาง เครื่องอัดก้อน และเตานึ่ง เครื่องสับฟางจะมี 3 ขนาด คือ 1. เครื่องสับฟางแนวนอนให้กับมอเตอร์ 3 แรง หรือใช้เครื่องยนต์ 5.5 แรง ขายเฉพาะเครื่องเปล่า 21,500 บาท ถ้ามีเครื่องยนต์จะเพิ่มอีก 5,000 บาท เหมาะกับฟาร์มเห็ดที่ทำในครอบครัว 1 ชั่วโมงสับฟางได้ 20 ฟ่อน สามารถปรับความละเอียดได้ 1-5 นิ้ว 2. คือเครื่องสับฟางแนวตั้ง เหมาะกับฟาร์มขนาดกลาง เป็นชนิดติดมอเตอร์ 3 แรง ราคาเครื่องพร้อมมอเตอร์ 37,500 บาท สามารถสับฟางได้ชั่วโมงละ 30 ฟ่อน ส่วนเครื่องขนาดใหญ่ใช้กับเครื่องยนต์ 16 แรงขึ้นไป สามารถใส่ฟางได้ทั้งฟ่อน ราคาเครื่องละ 65,000 บาท

ส่วนเครื่องอัดก้อนมีขนาดเดียว สามารถเปลี่ยนหัวได้ 2 ขนาด คือ 8 คูณ 14 นิ้ว และ 12 คูณ 18 นิ้ว ใช้มอเตอร์ 1 แรง ราคา 27,500 บาท อัดได้ประมาณ 360 ก้อน ต่อชั่วโมง สำหรับเตานึ่งจะเป็นเตาที่ประหยัดพลังงานจะใช้ไม้ฟืน เป็นระบบเติมน้ำอัตโนมัติ เรียกว่าเตาล่องหน เพราะสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ บรรจุได้ 432 ก้อน ราคา 19,500 บาท ซึ่งเครื่องทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อการทำเชื้อก้อนด้วยเห็ดฟางโดยเฉพาะ

สนใจการทำก้อนเชื้อเห็ดเพื่อทำฟาร์มเห็ดขายดอกเป็นอาชีพ สามารถติดต่อเข้ารับการอบรม หรือติดต่อซื้ออุปกรณ์ได้ที่ คุณบี (093) 639-4454 หรือเฟซบุ๊ก JrFarm Mushrooman

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ.2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0