โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เหลือเชื่อ! “ล่าสัตว์” มี “ถูกกฎหมาย” ด้วยหรือ? ทำไม “เงิน” ถึงเปลี่ยน “การล่าสัตว์” ให้ชอบธรรมได้?

TheHippoThai.com

อัพเดต 21 ต.ค. 2561 เวลา 05.58 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 01.00 น.

เหลือเชื่อ! ล่าสัตว์มีถูกกฎหมายด้วยหรือ? ทำไมเงินถึงเปลี่ยนการล่าสัตว์ให้ชอบธรรมได้?

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลายๆคนคงจะได้เห็นข่าวประธานบริษัทใหญ่ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจับในเขตพื้นที่อุทยาน ด้วยข้อกล่าวหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมหลักฐานเป็นซากเสือดำและอาวุธครบมือ ทำให้เกิดเป็นกระแสสังคมขึ้นมาอย่างกว้างขว้างกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ในสังคมไทยแต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกอีกด้วย ทั้งในออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ยุโรป ฯลฯ ต่างมีคนมากมายออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสือดำที่ตายไป และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคจับกุมปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ยภายในพื้นที่อุทยาน พร้อมกับซากหมีขอและอาวุธ 

จริงๆแล้วประเด็นลักลอบล่าสัตว์ป่ามีให้เห็นกันในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อยู่ตลอด เพียงแต่กรณีไหนจะได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งกรณีที่ได้ความสนใจจากสังคมมักจะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง มียศ/ตำแหน่งในสังคม เช่นกรณีเสือดำที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นประธานของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง กรณีหมีขอที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นปลัดอำเภอ หรือหากย้อนกลับไปหน่อยก็มักจะมีผู้เกี่ยวข้องกับคดีลักลอบล่าสัตว์เป็นนักการเมืองท้องถิ่นบ้าง นักธุรกิจบ้าง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนร่วมเองเสียด้วยซ้ำ

ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ไม่ได้เป็นปัญหาแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศเองก็ประสบกับปัญหานี้มานาน ทั้งทุ่งหญ้าในทวีปแอฟริกา ป่าอเมซอนในบราซิล ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ฯลฯ สัตว์ป่าหลายต่อหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปแล้ว 

ทำไมคนที่มีอำนาจหรือพวกที่ร่ำรวยล้นฟ้าจึงมักชื่นชอบการล่าสัตว์ใหญ่เพื่อความบันเทิง?

คำถามนี้ถูกถามไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นหัวข้อที่ถูกถกเถียงกันมานานในโลกตะวันตก แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การล่าสัตว์ป่า “เพื่อความบันเทิง” นั้นในอดีตเคยเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็น “ปกติ” ในหมู่ชนชั้นนำของโลกตะวันตกอย่าง “Theodore Roosevelt” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯเองก็เป็นหนึ่งในนักล่าตัวยง แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีกฎหมายห้ามล่าสัตว์ป่า หลายประเทศในแถบแอฟริกาเปิดให้มีการล่าสัตว์ได้ในเขตที่รัฐอนุญาต เศรษฐีฝรั่งทั้งหลายจึงมักใช้เวลาว่างไปไล่ล่าสัตว์ในเขตเหล่านี้ และบ่อยครั้งที่แอบเข้าไปในเขตหวงห้ามเพื่อล่าสัตว์ในเขตหวงห้าม 

การล่าสัตว์ป่าในฐานะที่เป็น “การแสดงอันตื่นตาตื่นใจ” เป็นวัฒนธรรมทางชนชั้น ที่สืบทอดกันในหมู่ราชวงศ์ที่มีมานานหลายพันปี การล่าสัตว์เป็นทั้งเพื่อแสดงความบันเทิงในหมู่ชนชั้นสูง และเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจอันเกรียงไกรของกษัตริย์ มหรสพการล่าสัตว์นั้นจะต้องมีกษัตริย์นั่งเป็นผู้ชม และการล่าสัตว์ที่ถือว่ายอดเยี่ยมนั้น สัตว์ที่ถูกล่าจะต้องเป็นสัตว์ที่ไม่สมยอมต่ออำนาจของมนุษย์ และเป็นสัตว์ที่มนุษย์ถือว่าอันตราย 

แม้ในปัจจุบันการล่าสัตว์หายากที่นิยมกันจะแตกต่างไปจากประเพณีการล่าสัตว์สมัยโบราณ แต่มันก็สะท้อนอุดมการณ์การแสดงความเหนือกว่าทางอำนาจของชนชั้นนำ หัวของสัตว์ที่ประดับอยู่บนข้างฝาของบ้านเศรษฐีเหล่านี้ เป็นไปทั้งเพื่อชื่นชมในหมู่เพื่อนฝูงร่วมชนชั้น และเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์เศรษฐีเหล่านี้เหนือสัตว์ที่ไม่เคยศิโรราบต่อมนุษย์ รูปถ่ายที่บรรดาพรานชั้นสูงเหล่านี้ถ่ายคู่กับสัตว์ที่พวกเขายิงได้ ณ จุดที่สัตว์ล้มลงอย่างภาคภูมิใจเป็นสัญญะทางชนชั้นที่สำคัญ ที่ไม่ได้แค่แสดงให้คนได้ชม แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าทางชนชั้นและสถานะ ที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถและไม่มีปัญญาเข้าถึงอภิสิทธิ์นี้ได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดาเหล่านักล่าสูงศักดิ์เหล่านี้ มักอ้างว่า เงินที่เขาจ่ายให้กับประเทศยากจนในการล่าสัตว์ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ สามารถอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ที่ไม่อยากเชื่อหูตัวเอง น่าจะเป็นการที่แม้แต่ World Wide Fund For Nature (WWF) ยังออกมาอ้างว่า ในกรณีที่มีการควบคุมและจำกัดอย่างเข้มงวดเพื่อสงวนรักษาสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าการล่าสัตว์สามารถช่วยให้การอนุรักษ์สัตว์นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับ WWF ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายที่มองการล่าสัตว์ในฐานะทรัพยากรเศรษฐกิจโดยปริยาย

พวกกลุ่มธุรกิจล่าสัตว์เพื่อการท่องเที่ยวเหล่านี้มักอ้างว่าการเปิดให้มีการล่าเชิงพาณิชย์นั้นช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำ ดังนั้นจึงช่วยลดการลักลอบล่าสัตว์ผิดกฎหมายโดยคนจนลงได้ 

คำถามสำคัญในประเด็นเรื่องล่าสัตว์ป่าที่มีมาตลอดทศวรรษ จึงได้แก่ เหตุใดจึงต้องยอมให้พวกคนร่ำรวยใช้ข้ออ้างเรื่องเงินและการอนุรักษ์ลวงๆ เพื่อเป็น license ในการสังหารสัตว์ป่าได้อย่างชอบธรรม ทั้งยังลดทอนสัตว์ให้กลายเป็นวัตถุที่เสริมสร้างอำนาจให้กับตัวเอง ในขณะที่ปากก็อวดอ้างการรักธรรมชาติ การอนุรักษ์ได้อย่างไม่ละอาย?

 

อ้างอิง

https://www.livescience.com/59229-why-hunt-for-sport.html

https://news.thaipbs.or.th/content/269976

https://sites.google.com/site/kaemnitta/kar-la-satw-pa

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0