โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เหรียญ 18 พระสังฆราช 9 หน้า 9 หลัง วัดรวกสุทธาราม บางกอกน้อย ธนบุรี, ราม วัชรประดิษฐ์

สยามรัฐ

อัพเดต 07 เม.ย. 2563 เวลา 23.50 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 23.50 น. • สยามรัฐออนไลน์
เหรียญ 18 พระสังฆราช 9 หน้า 9 หลัง วัดรวกสุทธาราม บางกอกน้อย ธนบุรี, ราม วัชรประดิษฐ์

พระเครื่อง / อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์

วัดรวกสุทธาราม อยู่บริเวณบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏบันทึกประวัติความเป็นมาและผู้สร้าง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา แม้จะไม่เป็นที่คุ้นหูของหลายๆ ท่าน แต่สำหรับชาวบางกอกน้อยและชาวธนบุรีแล้ว เป็นที่เคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง มักแวะเวียนไปกราบสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเป็นประจำ โดยเฉพาะ “หลวงพ่อดำ” พระประธานในอุโบสถเก่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่วัดมาช้านาน มักมีผู้คนมากมายมาบนบานศาลกล่าวขอพร ซึ่งก็จะประสบผลสมความตั้งใจเสมอมา

วัตถุมงคลของวัดรวกสุทธาราม มีการจัดสร้างออกมาหลายต่อหลายรุ่น เพื่อหาปัจจัยมาบูรณะและสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดให้คงสภาพความสมบูรณ์สืบต่อไป ซึ่งล้วนเป็นที่ศรัทธาและนิยมสะสมของพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับเหรียญที่จะกล่าวถึงนี้ ถึงแม้จะไม่มีข่าวคราวเป็นที่ฮือฮาเฉกเช่นบางเหรียญบางพระเกจิ แต่จากการพิจารณารูปแบบและแนวคิดในการจัดสร้างเหรียญ รวมทั้งสาระสำคัญของพิธีพุทธาภิเษกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งเหรียญที่ทรงคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งความเข้มขลังทางพุทธานุภาพน่าจะเป็นที่ปรากฏได้อย่างเด่นชัดทีเดียว นั่นคือ “เหรียญ 18 พระสังฆราช 9 หน้า 9 หลัง ปี 2518”

เหรียญ 18 พระสังฆราช 9 หน้า 9 หลัง จัดสร้างเนื่องในโอกาส ‘ฉลองกำแพงวัด’ ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2518 โดยสร้างพร้อมวัตถุมงคลหลายประเภท แต่ความโดดเด่นของเหรียญนี้อยู่ที่แนวความคิดในการจำลองรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 18 พระองค์ ผู้ทรงเกียรติคุณและคุณูปการมากมายต่อพระบวรพุทธศาสนามารวมในเหรียญเดียว อีกทั้งแบ่งเป็นด้านหน้า 9 พระองค์ ด้านหลัง 9 พระองค์ ในชื่อ ‘9 หน้า 9 หลัง’ อันถือเป็นนามมงคลยิ่งอีกด้วย พระสังฆราชทั้ง 18 พระองค์ มีพระนามดังนี้ 1. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (พ.ศ.2325-2337) 2. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2337-2359) 3. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2359-2362) 4. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2363-2365) 5. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2365-2385) 6. สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะราชวรวิหาร (พ.ศ.2386-2392) 7. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวัณณรังสี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2394-2396) 8. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (พ.ศ.2434-2435) 9. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (พ.ศ.2435-2442) 10. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (พ.ศ.2453-2464) 11. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (พ.ศ.2465-2480) 12. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2481-2487) 13. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (พ.ศ.2488-2501) 14. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (พ.ศ.2503-2505) 15. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2506-2508) 16. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร (พ.ศ.2508-2514) 17. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2515-2517) 18. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (พ.ศ.2517-2531)

นอกจากรูปทรงของเหรียญจะออกแบบได้อย่างสวยงามลงตัว แล้วการจัดสร้างมี เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และ เนื้อทองแดงรมดำ พิธีพุทธาภิเษกก็ถือได้ว่ายิ่งใหญ่มาก จัดงานปลุกเสกกันถึง 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 9 -11 เมษายน พ.ศ.2518 โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นเมตตาเข้าร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกคืนละ 9 รูป รวม 27 รูป ประกอบด้วย หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยานิมิตร, หลวงพ่อมิ่ง วัดกก, หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม, หลวงพ่อฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิตร, หลวงพ่อสา วัดราชนัดดาราม, พระอาจารย์สงัด วัดพระเชตุพน, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลย์, หลวงพ่อมุต วัดยางสุทธาราม, หลวงพ่ออยู่ วัดใหม่หนองพะอง, หลวงปู่เส่ง วัดน้อยนางหงส์, หลวงพ่อเฟื่อง วัดเจ้ามูล, พระครูจอย วัดบัวงาม, พระอาจารย์ประเดิม กทม., หลวงพ่อจ้วน วัดพระพุทธบาทเขาลูกช้าง, หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี, หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง, หลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์, หลวงพ่อเฉลียว วัดถ้ำพระธาตุ, หลวงพ่อหวน วัดโพธิ์โสภาราม, หลวงพ่อเข็ม วัดสุทัศน์, หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อระเบียบ วัดอัมพวา และ พระครูสมุห์พล วัดอัมพวา ประการสำคัญคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร พระสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ทรงเมตตาเป็นประธานจุดเทียนชัยและดับเทียนชัยอีกด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ น่าจะพอสนับสนุนคำกล่าวเบื้องต้น ที่ว่า “ทรงคุณค่าทางจิตใจ และเข้มขลังทางพุทธานุภาพ” ได้เป็นอย่างดี สนนราคาก็ยังเช่าหากันได้อยู่ จึงนับเป็นหนึ่งเหรียญยุคกลางเก่ากลางใหม่ที่น่าสนใจสะสมทีเดียวครับผม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0