โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เหยื่อ"เรียกร้องภาครัฐเพิ่มโทษเมาแล้วขับ จำคุกขั้นต่ำ 12 ปี เลี่ยงการลดโทษ #วันเหยื่อโลก

JS100 - Post&Share

อัพเดต 17 พ.ย. 2562 เวลา 11.25 น. • เผยแพร่ 17 พ.ย. 2562 เวลา 11.24 น. • JS100:จส.100
“เหยื่อ"เรียกร้องภาครัฐเพิ่มโทษเมาแล้วขับ จำคุกขั้นต่ำ 12 ปี เลี่ยงการลดโทษ #วันเหยื่อโลก

          เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บริเวณหน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม “วันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance forRoad Traffic Victims) โดยกิจกรรมดังกล่าว มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ ภาคเอกชน จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

          นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ในฐานะประธานเครือข่ายนิติบัญญัติเพื่อถนนปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การลดจำนวนผู้สูญเสียบนท้องถนนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินปีละ 500,000 ล้านบาท และส่งผลให้คนไทยต้องเสียชีวิตปีละ 20,000 คน บาดเจ็บอีก 1,000,000 คน ไม่รวมผู้พิการทุพพลภาพอีกประมาณ 60,000 คน ทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในอันดับที่ 9 และเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย

          นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า วันนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเรื่องเมาแล้วขับเดินทางมากันเป็นจำนวนมาก หลายคนต้องมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จากความสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ทุพพลภาพ และพิการ หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญคืออยากให้ภาครัฐเพิ่มโทษคดีเมาแล้วขับ จากเดิมจำคุก 3 - 10 ปี เพิ่มเป็น 12 - 15 ปี เนื่องจากที่ผ่านมายังมีช่องว่าง หากผู้ที่ถูกจับเมาแล้วขับรับสารภาพอาจถูกลดโทษลงครึ่งหนึ่ง และหากเป็นการทำผิดครั้งแรก จะเป็นการรอลงอาญา แต่หากโทษขั้นต่ำจำคุก 12 ปี แม้จะลดโทษลงมาครึ่งหนึ่งเหลือ 6 ปี จะไม่สามารถรอลงอาญาได้ เพราะโทษนั้นสูงกว่า 5 ปี จะทำให้เกิดความตื่นกลัวมากกว่าเดิม หลังจากนี้ทางมูลนิธิจะทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามมองว่าปัจจุบันภาครัฐยังไม่สามารถลดการสูญเสียทางท้องถนนได้ดีเท่าที่ควร ไม่มีแนวทางหรือมาตรการใดที่เป็นรูปธรรมชัดเจน หากเทียบกับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง หรือการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ประชาชนยังตื่นตัวมากกว่า ทั้งที่จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนนั้นมากกว่าความสูญเสียจากโรคระบาด หรือจากภัย ก่อการร้าย หลายเท่าตัว 

          ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้กลายเป็นภัยคุกคามประชากรของโลก จากสถิติพบว่าในแต่ละปีมีประชากรของโลกเสียชีวิต 1,000,000 คน บาดเจ็บและพิการกว่า 10,000,000 คน ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงเห็นความสำคัญของปัญหาการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และกำหนดให้วันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มีกิจกรรมร่วมยืนไว้อาลัยและวางดอกกุหลาบต่อหน้ารูปผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อรำลึกถึงผู้จากไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0