โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เหยียบแผ่นดินลี้ภัยเม็กซิโก 'โมราเลส'ผู้นำโบลิเวียประกาศกร้าวไม่วางมือทางการเมือง

Manager Online

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 19.32 น. • MGR Online

รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งของโบลิเวีย เดินทางถึงเม็กซิโกเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันอังคาร(12พ.ย.) พร้อมประกาศกร้าวยังไม่วางมือทางการเมือง ขณะเดียวกันทหารและตำรวจในบ้านเกิดเมืองนอนอของเขาได้ออกรักษาการณ์ตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวงลาปาซ เพื่อยุติความรุนแรงและฟื้นฟูความสงบ ส่วนฝ่ายตรงข้ามหาทางตั้งประธานาธิบดีชั่วคราวขึ้นมาแทน เพื่อเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ

หลังจากเดินทางมาถึงเพื่อลี้ภัยในเม็กซิโก โมลาเลสได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลเม็กซิโกที่ปกป้องชีวิตของเขาและย้ำความกล่าวหาที่ระบุว่าฝ่ายตรงข้ามก่อรัฐประหารขับไล่เขาพ้นจากอำนาจ หลังเกิดการประท้วงรุนแรงตามหลังศึกเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความโกลาหลเมื่อเดือนที่แล้ว

"ตราบใดที่ผมยังมีชีวิต ผมจะยังอยู่ในแวดวงการเมือง" โมราเลสบอกกับพวกผู้สื่อข่าวสั้นๆ หลังลงจากเครื่องบิน โดยมี มาร์เซโล เอ็บราร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโกรอให้การต้อนรับ พร้อมกั้นนั้น โมราเลส ยังได้กล่าวปกป้องช่วงเวลาที่เขาทำหน้าที่กุมบังเหียนรัฐบาลและบอกว่าความผิดเดียวที่เขากระทำลงไปนั้นก็คือการที่เขาเป็นคนพื้นเมืองแต่กำเนิดและเป็นพวกต่อต้านจักรวรรดินิยม

จากนั้นภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นว่า โมราเลส ถูกพาตัวไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทหารลำหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่เม็กซิโกไม่ยอมเปิดเผยว่าเขาจะไปพักที่ไหน โดยอ้างความกังวลด้านความปลอดภัย

โมราเลส เดินทางจากเมืองชิโมเร มายังเม็กซิโก ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศเม็กซิโกลำหนึ่ง ทั้งนี้เมืองชิโมเร เมืองเล็กๆ บริเวณภาคกลางของโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่มั่นของพวกผู้สนับสนุนตัวเขา และเป็นสถานที่ซึ่งเขาถอยมาตั้งหลักตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการเถลิงอำนาจยาวนาน 14 ปีของเขาสิ้นสุดลง

ก่อนหน้านี้โมราเลสเองระบุในข้อความที่เขาทวิต ยืนยันว่าเขากำลังออกจากประเทศมุ่งหน้าสู่เม็กซิโก แต่ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมาด้วย “ความเข้มแข็งและพลัง” ที่เพิ่มมากขึ้นอีก

การเดินทางออกนอกประเทศของโมราเลส ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายซ้ายคนสุดท้ายในกระแสคลื่นผู้นำฝ่ายซ้ายที่เข้าครอบงำการเมืองของละตินอเมริกาในช่วงเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีขึ้นหลังจากองค์การนานารัฐอเมริกัน(Organization of American States) ประกาศเมื่อวันอาทิตย์(10พ.ย.) ว่ามีความผิดปกติร้ายแรงระหว่างศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม กระตุ้นให้พันมิตรพรรคร่วมรัฐบาลพากันลาออกและกองทัพกดดันให้ โมราเลส ยอมสละอำนาจ

พวกสมาชิกรัฐสภาพรรคฝ่ายค้านต้องการตอบรับการลาออกของโมราเลสอย่างเป็นทางการและเริ่มแผนเสาะหาผู้นำชั่วคราวก่อนหน้าการจัดเลือกตั้งใหม่ แต่แผนของพวกเขาดูแล้วตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากพรรคขบวนการสังคมนิยม (Movement for Socialism หรือ MAS) ของโมราเลสบอกว่าจะคว่ำบาตรการประชุมดังกล่าว

พวกชาวบ้านในกรุงลาปาซ ซึ่งถูกสั่นคลอนจากเหตุประท้วงและปล้นสะดมมาตั้งแต่เสร็จศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว แสดงความหวังว่าพวกนักการเมืองจะประสบความสำเร็จในการคืนความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมืองในท้ายที่สุด

ในช่วงเช้าของวันจันทร์ (11พ.ย.) พวกผู้สนับสนุนโมราเลสจำนวนนับพันนับหมื่น เริ่มต้นออกเดินขบวนมุ่งหน้าสู่กรุงลาปาซ จากเมืองเอลอัลโต ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดความแตกตื่นขึ้นในหมู่ตำรวจของเมืองหลวง และพวกเขาขอร้องให้ชาวเมืองหลวงป้องกันไม่ให้พวกผู้ประท้วงบุกเข้ามา ด้วยไม้กระบองและอาวุธอื่นๆ ที่จำเป็น

รอบๆ จัตุรัสมูริญโญ ใจกลางลาปาซตลอดจนส่วนอื่นๆ ของเมืองหลวงแห่งนี้ พวกผู้ประท้วงที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล ได้พากันจัดตั้งเครื่องกีดขวางถนนซึ่งทำจากเศษโลหะและขยะอื่นๆ

ก่อนหน้ามีรายงานข่าวการเดินทางออกจากประเทศของโมราเลส ทางกองทัพแถลงว่าจะร่วมมือกับฝ่ายตำรวจของโบลิเวียที่กำลังเผชิญกับภารกิจที่หนักเกินกำลัง ในการออกลาดตระเวนตรวจตราตามท้องถนนของกรุงลาปาซ หลังจากที่มีการประท้วงทำลายสถานีตำรวจไปอย่างน้อย 4 แห่ง ท่ามกลางเหตุปล้นชิงข้าวของในบางพื้นที่

ผู้นำที่ปัจจุบันอายุ 60 ปีผู้นี้ ก้าวขึ้นมาจากเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน ที่ทั้งเคยเลี้ยงฝูงยามาและปลูกต้นโคคา เขาถูกผู้คนจำนวนมากมองว่าเป็นผู้ปกปักรักษาคนยากจนด้วยการทำให้เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แต่คนอื่นๆ เห็นว่าเขาเป็นผู้เผด็จการรวบอำนาจโดยกำลังท้าทายผลการลงประชามติในเรื่องการจำกัดจำนวนสมัยของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0