โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เหตุผลที่เราควร ‘เข้าใจและยอมรับ’ ใครสักคนไปพร้อม ๆ กัน (สำหรับทุกความสัมพันธ์) - ห้องแนะแนว

LINE TODAY

เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.

 ด้วยความที่เราแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ตั้งแต่หน้าตา, นิสัยใจคอ, ความชอบ, มุมมองต่าง ๆ บางครั้งการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ บ้างก็ขัดแย้งทางกาย บ้างก็ขัดแย้งทางใจ แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายปรองดองกันได้คือ ‘ความเข้าใจและการยอมรับ’ 

 แต่เข้าใจไม่เท่ากับยอมรับเสมอไป เรื่องบางเรื่องเราเข้าใจสิ่งที่มันเกิด แต่หากให้ยอมรับความจริง คงไม่ได้ เหมือนเวลาพูดคุยกันแล้วมักจะมีประโยคทำนองว่า ‘เข้าใจนะ แต่ว่า…’ นั่นแหละค่ะ น่าจะดีหากในคน ๆ เดียว มีทั้งสองอย่างนี้อยู่

 การยอมรับ ในทางจิตวิทยาให้คำอธิบายไว้ว่า มันคือปฏิกิริยาที่เรายินยอมต่อความจริง, ขั้นตอน, เงื่อนไข แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีก็ตาม โดยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง,ต่อต้าน หรือหลีกหนี หากจะพูดกันให้ง่ายกว่านี้คือ การที่เรายินยอมจะเห็นใคร, สิ่งของ, สถานการณ์ ใดก็ตาม เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่มันเป็น 

 การเข้าใจ ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว จะเป็นขั้นตอนหลังจากการยอมรับอีกทีหนึ่ง คือเป็นกระบวนการที่เข้าถึงความรู้, ความรู้สึกเกี่ยวกับใครสักคนหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ โดยไม่สงสัยหรือต่อต้านอะไร

 โดยทั้งสองเกี่ยวพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เพราะความเข้าใจที่ปราศจากการยอมรับ หรือการยอมรับ แต่ไม่เข้าใจ ก็ไม่สมบูรณ์แบบ สำหรับวิธีที่จะช่วยให้เรา ‘เข้าใจและยอมรับ’ ผู้อื่นได้ ลองทำตาม 6 ข้อเหล่านี้ดูนะคะ เผื่อจะนำไปปรับใช้กับทุก ๆ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ค่ะ

 1.วางอคติลง  

เป็นปกติที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะชอบควบคุมสิ่งรอบตัว เพราะเมื่อควบคุมให้ได้ดั่งใจ เราก็มีความสุข แต่ในเรื่องนี้ เราต้องไม่พยายามตัดสินผู้อื่นด้วยมุมมองของตัวเอง ไม่เอาตัวเราไปคอนโทรลคนอื่น เพราะนั่นจะทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกกดดัน พาลจะไม่แฮปปี้เอาได้ ควรเปิดใจให้กว้าง เปิดรับความต่างให้ได้ดีกว่าค่ะ บางทีความไม่เข้าใจกันก็เกิดจากที่ต่างฝ่ายต่างมีอคติซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่รู้ตัว หากปล่อยวางอคติความลำเอียงทั้งหมดลงแล้วเผชิญหน้ากับความเป็นจริง พูดคุยกัน หาจุดสมดุลของทั้งสองฝ่าย เท่านี้ก็ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับกันได้มากยิ่งขึ้นนะคะ

 2.ฟังอย่างตั้งใจ 

ทักษะพื้นฐานที่เราทุกคนควรฝึกไว้คือการฟัง ใช้หูฟังโดยไม่ต้องใช้ปากตอบโต้ ในสังคมแห่งความหลากหลาย และเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน ใครบางคนต้องการเล่า, ระบายออกมาเพื่ออธิบายสิ่งที่อยู่ในใจของเขาให้ฟัง เพื่อปลดเปลื้องความอึดอัดเหล่านั้นสู่โลกภายนอก จริงอยู่ที่คนฟังอาจไม่ถูกใจเรื่องราวเหล่านั้นเสียทั้งหมด แต่อย่าลืมว่า เวลานี้เราเป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น ไม่มีสิทธ์ไปตัดสินความคิดความชอบของเขาเลยค่ะ หากแสดงความคิดเห็นหรือคำชี้แนะในแบบของเราออกไป อาจจะเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันมากยิ่งกว่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาเป็นผู้ฟัง ก็ต้องเปิดใจรับฟังอย่างเต็มที่จะมีคุณค่ามากกว่าค่ะ บ่อยครั้งที่อีกฝ่ายกำลังอธิบายอะไรบางอย่าง แต่เรากลับแสดงความคิดเห็นหรือพูดโพล่งขึ้นมาแทรกกลางโดยอดไม่ได้ นั่นอาจทำให้การสนทนาที่กำลังเป็นไปด้วยดีต้องติดขัดลงไปด้วยความไม่ตั้งใจฟังของเราก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าเหตุใดเราจึงควรใช้ใจฟังโดยไม่แสดงความคิดเห็นหากไม่จำเป็นจริง ๆ ค่ะ

ลองอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการฟังเพิ่มเติมได้ที่นี่

 3.ทุกคนย่อมอยากเป็นตัวของตัวเอง 

เราทุกคนถูกสรรสร้างมาในแบบของตัวเอง ไม่มีใครเหมือนใครทั้งนั้นใช่ไหมคะ เราก็อยากเป็นในแบบของเรา คนอื่นก็เช่นกัน ไม่มีใครอยากอยู่ในกรอบที่คนอื่นวาดให้หรอกค่ะ เราต่างก็มีแนวทาง, จังหวะ, เวลาของตัวเองทั้งนั้น เคยมีประโยคหนึ่งที่คุณโอปอล์และคุณหมอโอ๊คกล่าวไว้ว่า ลูกแฝดคลอดมาพร้อม ๆ กัน กินเหมือนกัน เลี้ยงดูเหมือนกัน แต่เขายังมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป อันนี้เห็นภาพมาก ๆ นะคะ ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าการได้เป็นตัวเองของเองอย่างแน่นอน ชีวิตคนเราก็เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ต้องสร้างสรรค์ด้วยตัวเองค่ะ ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจตัวตนของอีกฝ่าย จะช่วยให้เราสามารถประคับประคองความสัมพันธ์ได้อย่างถูกทางมากขึ้น

 4.ไม่เปรียบเทียบ  

 ไม้บรรทัดของแต่ละคนยาวไม่เท่ากัน อย่าตัดสินหรือวัดคนอื่นจากความคิดส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว เพราะมันอาจไม่ถูกเสมอไป คล้าย ๆ กับข้อที่บอกว่าแต่ละคนมีแนวทางชีวิตเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าการเปรียบเทียบใครกับใครจึงไม่ใช่คำตอบ ในการทำความเข้าใจหรือยอมรับจะต้องมองในสิ่งที่แต่ละคนเป็นเท่านั้น จึงจะถูกต้อง ทุกคนล้วนดีในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคนนู้นคนนี้เลยค่ะ

 5.อยู่กับปัจจุบัน 

ไม่มุ่งแต่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง และไม่พูดถึงแต่อดีตที่ผ่านมา เพราะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย จงโฟกัสกับสิ่งที่กำลังเกิด สิ่งที่กำลังเป็นจะดีที่สุด การจดจ่อกับปัจจุบันจะทำให้เราค่อย ๆ ซึมซับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตรงนี้แหละเป็นจุดที่จะหล่อหลอมให้เราค่อย ๆ รับรู้ ทำความเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ และยอมรับตัวตน, เหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างเต็มหัวใจ และมีความสุขได้ง่ายยิ่งขึ้น

 6.เอาใจเขามาใส่ใจเรา  

พยายามศึกษาหรือทำความเข้าใจสิ่งที่คนนั้นสนใจ เพื่อหาจุดร่วม หรือหากไม่มีอะไรสนใจเหมือนกันจริง ๆ ก็ต้องหาทางสายกลาง ลองคิดว่าหากเราเป็นเขาในสถานการณ์นั้น เราจะทำอย่างไรบ้าง ลองแทนตัวเองลงไปในความรู้สึกเขาดูค่ะ การเอาใจเขามาใส่ใจเราจะทำให้เราเองมองโลกได้กว้างขึ้น มองมุมที่ต่างออกไป และสุดท้ายจะได้เข้าใจว่าเราต่างคนต่างคิด ไม่มีถูกไม่มีผิดแบบเดียวเสมอไป 

 ขอยกตัวอย่างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มักจะเจอปัญหาบ่อย ๆ อย่างเช่น เวลาพ่อแม่วาดฝันให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหัวอกลูกเลย นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตแบบที่เขาอยากเป็น ตรงนี้ต้องมองอย่างใจกว้างว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการดีไซน์ชีวิตของตนเอง อยากเป็นแบบไหนก็ปล่อยให้เขาลองผิดลองถูกเอง ตรงไหนที่พ่อแม่สามารถสนับสนุนได้ ก็สนับสนุน ตรงไหนที่ช่วยให้คำปรึกษาได้ ก็ชี้แนะกันไป แต่อย่าถึงขั้นตีกรอบให้ชีวิตลูกจนอึดอัดใจเลยดีกว่าค่ะ เข้าใจและยอมรับคือคำตอบในโจทย์ชีวิตข้อนี้ จริง ๆ แล้วไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นแบบไหน ทุกคนย่อมต้องการการยอมรับและเข้าใจทั้งนั้นล่ะค่ะ

 แน่นอนว่าทั้งหมดที่แนะนำไปนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย การยอมรับหรือเข้าใจใครสักคนอย่างลึกซึ้งต้องใช้เวลาและกระบวนการทางใจอย่างมาก ในเมื่อทุกคนมีเส้นทางชีวิตของตนเอง รู้สึกได้อย่างที่อยากรู้สึก เป็นได้อย่างที่เขาต้องการเป็น การได้รับความเข้าใจและการยอมรับจากคนรอบข้างน่าจะเป็นส่งเสริมความสุขให้กับเขาได้อย่างมาก เมื่อเขามีความสุข เราก็มีความสุข จริงไหมคะ

.

.

อ้างอิง

1,2

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0