โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากทหารเรือ จากพระราชบันทึกรัชกาลที่ 6

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 05 ต.ค. 2565 เวลา 07.06 น. • เผยแพร่ 04 ต.ค. 2565 เวลา 23.33 น.
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

เรื่องที่ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงถูกปลดจากราชการทหารเรือในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีผู้กล่าวถึงกันหลายกระแส

กระแสหนึ่งที่มีการอ้างถึงกันมากคือเรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท (เจือ สหนาวิน) ได้บันทึกไว้ว่า

วันหนึ่งนักเรียนนายเรือหนุ่ม 2 คนซึ่งเป็นศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์แต่งตัวเครื่องแบบขาวนักเรียนนายเรือเดินผ่านไปทางถนนสนามไชย ผ่านพวกมหาดเล็กหนุ่มๆ กลุ่มใหญ่ที่กำลังเตะฟุตบอลกันอยู่ พอมหาดเล็กเห็นนักเรียนนายเรือ 2 คน ซึ่งหนึ่งในสองคนนั้นคือ นักเรียนนายเรือเจือ สหนาวิน เดินผ่านไป แล้วหยุดทำความเคารพธงชาติตอนหกโมงก่อนที่จะก้าวเดินออกไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันพวกมหาดเล็กเกิดนึกสนุกขึ้นมาส่งเสียงเป็นจังหวะว่า หนึ่ง หนึ่ง หนึ่งสอง ตามจังหวะก้าวเดิน

นักเรียนนายเรือเห็นมหาดเล็กมาลูบคม จึงเกิดถามทำนองต่อว่ากัน ถามกันไปถามกันมาไม่มีใครยอมรับ ก็เลยเกิดเป็นมวยหมู่ขึ้นมาระหว่างนักเรียนนายเรือ 2 คนและมหาดเล็กหลายสิบชกต่อยกันชุลมุนอยู่พักใหญ่ มหาดเล็กตะโกนให้ทหารยามหน้ากระทรวงกระลาโหมจับนักเรียนนายเรือ ทหารยามไม่กล้าจับ มีนายทหารคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ก็ร้องบอกให้นักเรียนนายเรือหลบหนีไปเสีย เพราะว่ากำลังของอีกฝ่ายมากกว่า นักเรียนนายเรือทั้งสองก็เลยแหวกพวกมหาดเล็กซึ่งไม่กล้าทำอะไรจริงกลับบ้านไปได้

เมื่อความทราบไปถึงผู้บังคับการโรงเรียน นายนาวาตรี หลวงพินิจจักรพันธุ์ (สุริเยศ อมาตยกุล ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสาครสงคราม) เรียกตัวไปตักเตือนและให้ทำรายงานเสนอขึ้นไป แต่ก็แค่นั้นเพราะดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ต่อมา 3-4 เดือน เรื่องที่นึกว่าจบกันไปแล้วก็กลับลุกลามเป็นเหตุใหญ่โต ด้วยมหาดเล็กกลุ่มนั้นไปกราบบังคมทูลฟ้องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่าถูกนักเรียนนายเรือมาข่มเหงถึงหน้าวัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กริ้วว่าผู้ก่อเหตุเป็นนักเรียนของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์มารังแกมหาดเล็กของพระองค์ จึงทรงทำเรื่องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงทราบและทรงสืบสาวราวเรื่องหาข้อเท็จจริงได้แล้ว ก็ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ชวนกันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลว่าในความเป็นจริง มีนักเรียนนายเรือแค่ 2 คนเท่านั้น แต่มหาดเล็กหลายสิบคน ใครข่มเหงใครกันแน่ ไม่มีกฎหมายที่ไหนออกว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ทรงสนับสนุนว่าเป็นความจริง ทั่วโลกไม่มีกฎหมายว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก มีแต่คนมากข่มเหงคนน้อย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผินพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า “พ่อโตก็ไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มากล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราว เสียเวลา” นายเจือก็เลยรอดพ้นจากความผิด เรียนจบเข้ารับราชการในกองทัพเรือ เข้าวังได้ใกล้ชิดกับพระโอรสธิดาที่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งชราจึงได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้รู้กันสำหรับคนรุ่นหลัง

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่ทหารเรืออีกว่า เมื่อแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัตินั้น นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม และจัดถวายพระกระยาหารค่ำ ทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบร้อย จนเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วถึงได้เกิดเรื่องขึ้นมา เมื่อนักเรียนนายเรือหนุ่มบางคนไม่ระวังปาก พูดจาพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทำนองล้อเลียนว่าพระเกศาบางบ้าง อวดว่าเจ้านายตนเก่งกว่าบ้าง พูดจากันเสียงดังไปหน่อย สันนิษฐานว่าเสียงลอยลมข้ามคลองวัดแจ้งไปถึงบ้านพระยานรฤทธิ์ราชหัช ความจึงทราบถึงพระเนตรพระกรรณ เพราะเป็นไปได้ว่าพระยานรฤทธิ์ราชหัชนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่ว่าเป็นคนช่างฟ้อง แต่ทว่าเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี่ถ้ารู้แล้วอุบเงียบไว้ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิด ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นอาจจะถึงกับติดคุกหัวโต หรือไม่ก็ต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตกันทั้งครอบครัว กล่าวกันว่า พระยานรฤทธิ์ราชหัชนั้นก็ต้องระวังตัวกลัวทหารเรือเอาเรื่อง ประตูหน้าบ้านจึงต้องตีไม้ทับปิดตายเอาไว้ ต้องเดินเข้าออกทางหลังบ้านทะลุตรอกไปทำงาน

เรื่องนี้พวกทหารเรือเชื่อกันว่า น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ว่าอาจจะทรงคบคิดกับ นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ชิงราชสมบัติ เรื่องนี้กลายเป็นข่าวลือกันหนาหู เพราะเจ้าจอมมารดาโหมดและพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตนั้นต่างก็สืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 6 เดือนก็ทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จากกองทัพเรือแบบสายฟ้าแลบ

เมื่อทรงถูกปลดจากราชการแล้ว เล่ากันในแวดวงทหารเรือว่า ข่าวลือทำท่าจะเป็นข่าวจริง แต่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระอาจารย์ทรงห้ามไว้ โดยเตือนสติว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อย่าไปขัดท่านเลย” พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จึงทรงได้สติ ถึงกับก้มลงกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้กลับเข้ารับราชการในทันที ต้องทรงอยู่นอกราชการถึง 6 ปี จึงได้เสด็จกลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง ภายหลังจากที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้ว โดยระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการนั้นได้ทรงหาเลี้ยงชีพเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า “หมอพร” และในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งอยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย

เรื่องราวความขัดแย้งดังที่บอกเล่ากันมาทั้ง 2 กระแสนั้น ออกจะชวนให้ฉงนสนเท่ห์อยู่ไม่น้อยว่าเพียงเรื่องราวเท่านี้หรือที่จะเป็นสาเหตุสำคัญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระราชหฤทัยปลด นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการทหารเรือ

คำตอบที่ชัดเจนจาก “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2”

จากข้อสงสัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความสืบค้นเพื่อหามูลเหตุที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยในคราวนั้น ซึ่งในที่สุดก็ได้พบคำตอบที่ชัดเจนใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบันทึกพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ว่า

“ในตอนต้นปี พ.ศ. 2454 ได้มีเรื่องขึ้นเรื่อง 1, ซึ่งฉันเองก็ตัดสินใจไม่ใคร่จะถูกได้ว่าฉันได้ประพฤติผิดหรือถูก, ฉะนั้นจะต้องเล่าไว้ในที่นี้ตามเหตุผลที่ได้เปนไป. เรื่องนี้คือเรื่องกรมชุมพรออกจากประจำการในกองทัพเรือ, ซึ่งเฃ้าใจว่าจะมีคนน้อยคนที่รู้ความในตลอด. เพื่อให้เฃ้าใจเรื่องนี้โดยแจ่มแจ้ง ฉันจำจะต้องกล่าวข้อความย้อนขึ้นไปในอดีตสักหน่อย.

ตามที่เธอได้รู้อยู่แล้ว, แต่เดิมมากรมชุมพรกับฉันได้เคยเปนผู้รักใคร่ชอบพอกันอย่างสนิธ, เพราะนอกจากที่เกิดปีเดียวกัน ยังได้ออกไปศึกษาพร้อมๆ กัน, และเมื่อกลับเฃ้ามากรุงเทพฯ แล้ว ฉันก็ยังได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวกรมชุมพรเปนหลายคราว. ฉนั้นต่อๆ มาฉันจึ่งรู้สึกประหลาดใจและเสียใจเปนอันมากที่ได้สังเกตเห็นว่า, จำเดิมแต่เวลาที่หญิงทิพสัมพันธ์[1]ตายไปแล้ว, กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที. ในชั้นต้นฉันเฃ้าใจเอาเองว่า คงจะเปนเพราะกรมชุมพรกับพระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต, จ่อมาเปนพระยามหาโยธา) ได้เกิดผิดใจกันขึ้น, และพระยาราชวังสันเปนผู้ไปมาหาสู่ฉันอยู่เสมอ, กรมชุมพรจึ่งพลอยไม่ชอบฉันไปด้วย. แต่ฉันรู้สึกว่าสาเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะทำลายความไมตรีระหว่างกรมชุมพรกับฉัน, ฉันจึ่งตั้งต้นแสวงหาสาเหตุต่อไป. ฉันรู้อยู่ดีว่า กรมชุมพรนั้น, ถึงแม้ท่าทางและปากพูดเก่งก็จริง, แต่ที่แท้มิใช่คนที่มีใจหนักแน่นปานใดนัก, เปนคนที่ลังเลและเชื่อคนง่าย, ฉะนั้นฉันจึ่งเริ่มต้นมองหาตัวผู้ที่เปน ‘ครู’ ของกรมชุมพร. ฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า กรมชุมพรเคยฝากตัวเปนศิษย์กรมราชบุรี[2], และมีความนิยมตามกรมราชบุรีหลายประการ, มีสำแดงตนเปน ‘ผู้ชอบเปนอิศระ’ และถือพวกถือก๊กเปนที่ตั้ง. โดยนิสสัยของพระองค์เอง กรมชุมพรชอบพูดอวดดีแสดงความกล้าหาญและมีวิทยาอาคมอย่างแบบเก่าๆ, สักลายไปทั้งตัว, และ ‘ขลัง’ อะไรต่างๆ, มีพวกหนุ่มๆ นิยมอยู่บ้างแล้ว: ครั้นได้ไปฟังคำสั่งสอนของกรมราชบุรีเฃ้าด้วยก็เลยบำเพ็ญเปนหัวโจกมากขึ้น.

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เปนสาเหตุที่จะทำให้พร่าไมตรีกับฉัน, เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่ชอบพอกับฉันโดยสม่ำเสมอตลอดมา, คงไม่ยุให้กรมชุมพรแตกกับฉัน. ฉันได้สืบแสวงไปจนได้ความว่า กรมชุมพรได้เกิดชอบพอกับกรมหลวงประจักษ์, ก็เฃ้าใจได้ทันทีถึงเหตุที่กรมชุมพรเกิดไม่ชอบฉัน, เพราะกรมหลวงประจักษ์เปนผู้ที่ไม่ชอบฉันอย่างยิ่ง, และพยายามให้ร้ายแก่ฉันอยู่เสมอๆ. ที่ฉันรู้ได้โดยแน่นอนว่ากรมชุมพรตกไปอยู่ในอำนาจของกรมหลวงประจักษ์นั้น เพราะได้เกิดคดีขึ้นเรื่อง 1 ซึ่งถ้าเปนแต่โดยลำพังตัวกรมชุมพรคงมิได้เปนการใหญ่โตเลย. เหตุมีนิดเดียวที่พวกเด็กๆ ของฉันได้พาไปเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์, มีนักเรียนนายเรือ 2 คนเดิรผ่านไปทางถนนสนามชัย, อยู่ดีๆ ก็ตรงเฃ้าไปขู่พวกเด็กๆ ของฉันว่า ห้ามไม่ให้หัดทหาร, จึ่งเกิดเปนปากเสียงกันขึ้น. ฉันจึ่งให้พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล), ซึ่งเวลานั้นเปนหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ตำแหน่งเลฃานุการส่วนตัวของฉัน, มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ, และขอให้สั่งสอนว่ากล่าวพวกศิษย์ให้เฃ้าใจเสียว่า การที่เด็กอื่นๆ ปรารถนาจะฝึกหัดให้อกผายไหล่ผึ่งบ้าง ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม. ฉันเฃ้าใจว่าเมื่อให้มีจดหมายไปเช่นนั้นแล้วก็คงเปนอันจบเรื่องกัน. ฉนั้นฉันประหลาดใจมากเมื่อวัน 1 ฉันได้ถูกพระเจ้าหลวงรับสั่งให้หาเฃ้าไปในที่รโหฐานและทรงต่อว่าเรื่องที่ให้เลฃานุการมีหนังสือไปขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ.

นัยว่ากรมชุมพรตกใจและเกรงกลัวภยันตราย จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล, เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง. ทูลกระหม่อม[3]ทรงสั่งสอนว่า ฉันจะได้เปนใหญ่เปนโตต่อไป, ต้องระวังอย่าทำให้ผู้น้อยนึกสดุ้งหวาดหวั่นต่ออำนาจอาชญาอันอาจต้องรับกรรมความดาลโทษะของฉัน. ฉันก็รับพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ โดยมิได้แก้ตัวว่ากระไร, เพราะเห็นว่าพระเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะให้เรื่องสงบไป. ในวันเดียวกันนั้นเอง บริพัตร์[4], ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ได้ตามออกมาจากวังสวนดุสิตไปหาฉันถึงที่วังสราญรมย์, แสดงความเสียใจ และขอโทษในการที่ฉันต้องถูกกริ้วโดยไม่มีมูลอันควรเลย, และออกตัวว่า เธอเองมิได้รู้เห็นในคดีนั้นจนนิดเดียว, เพราะกรมชุมพรมิได้นำเรื่องเสนอเธอก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล. ต่อเมื่อองค์อุรุพงศ์[5]เล่าใฟ้ฟังว่าฉันถูกกริ้ว บริพัตร์จึ่งได้รู้เรื่อง, และรับว่าจะต่อว่ากรมชุมพร และจะขอให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเปนอันฃาด. เมื่อฉันได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รู้แน่ว่าแก่ใจว่า กรมชุมพรคงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, ผู้ชอบก่อเหตุน้อยเปนใหญ่เช่นนี้เสมอ.

นับจำเดิมแต่เมื่อได้ตกไปอยู่ในอำนาจกรมหลวงประจักษ์แล้วไม่ช้า กรมชุมพรได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น. ในยุคนั้นกรมชุมพรได้ริอ่านทำการค้าฃาย, คือตั้ง ‘บริษัทชุมพร’, มีพวกนายทหารเรือหนุ่มๆ ถือหุ้นอยู่หลายคน; บริษัทนั้นกระทำกิจไม่เปนผลสมปรารถนา, เกิดมีหนี้สินรุงรังขึ้น, จึ่งต้องขอพระราชทานกู้เงินพระคลังฃ้างที่ไปใช้, และพระเจ้าหลวงทรงยึดที่ดินไว้เปนประกัน, รับสั่งว่าถ้าประพฤติเรียบร้อยต่อไปจึ่งจะพระราชทานคืนให้. โดยความแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, กรมชุมพรจึ่งได้ริอ่านหาความชอบในส่วนพระองค์พระเจ้าหลวงโดยอาการ…ในชั้นต้น, เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท, กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั้น, ทุกๆ เดือนได้มีผักเฃ้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท, แต่ซึ่งที่แท้เที่ยวหาซื้อเอาดื้อๆ.

การหลอกพระเจ้าหลวงเช่นนี้อย่างไรๆ ก็คงเปนความคิดของ ‘ครู’, เพราะตัว ‘ครู’ ก็ประพฤติเปน ‘ลิงหลอกเจ้า’ อยู่เช่นนั้นเสมอ, และสำคัญเสียว่าพระเจ้าหลวงท่านไม่ทรงรู้เท่า; แต่ฉันเชื่อแน่ว่าพระเจ้าหลวงท่านทรงรู้เท่าดีทีเดียว, ความชอบจึ่งไม่ได้แก่กรมชุมพรสมปรารถนา. ต่อนั้นจึ่งกลายเปนช่าง, รับอาสาเขียนรูปภาพต่างๆ ติดผนังห้องเฝ้าในพระที่นั่งอัมพร, แต่ก็ไม่เห็นได้ทำอะไรเปนชิ้นเปนอันเหลือไว้เลย. นอกจากเปนช่างเขียนเกิดเปนนักดนตรี, มีน่าที่สำคัญคือกะวางลำสำหรับลคอนนฤมิตร์ของกรมนราธิป. กิจการอันท้ายนี้เปนเหตุให้กรมหลวงประจักษ์กับกรมนราธิปเกิดบาดหมางกันจนเปนเหตุใหญ่โต, ดังได้แสดงมาแล้ว ณ แห่งอื่น

การที่กรมชุมพรไม่ไปทำงานทางทหารเรือเลย แต่ก็คงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มที่นั้น, นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ. ประการ 1 พวกศิษย์พากันเห็นไปเสียว่าครูของตนเปนคนสำคัญเหลือประมาณ, อย่างไรรัฐบาลก็ต้องง้อไว้ใช้. อีกประการ 1 ทำให้พวกหนุ่มตีราคาตนสูงเกินควรไป, คือพากันเฃ้าใจเสียว่าถ้าเปนผู้มีวิชาแล้วจะทำงานหรือมิทำก็ต้องเลี้ยง. ข้อที่ร้ายคือกรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก.

ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน, คือเมื่อวันที่ 3 เมษายน[6]พระยาราชวังสัน, ซึ่งเวลานั้นเปนผู้บัญชาการเรือกลและป้อม, ได้เล่าให้ฉันฟังว่า ในการที่ฉันได้สั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดิรทเล, ซึ่งได้คั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น, ได้มีนายทหารเรือผู้ 1 กล่าวว่า ฉันต้องสั่งอนุญาตเช่นนั้นเพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายพวกเฃาจะ ‘เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ’, ซึ่งตีความกันว่าพวกเฃาจะ ‘สไตร๊ก’. พระยาราชวังสันว่าจะไปขออนุญาตทำโทษนายทหารผู้นั้นให้เปนตัวอย่าง. แต่ฉันรับสารภาพว่าในเวลานั้นฉันยังหวาดหวั่นอยู่ด้วยเรื่องฃ้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดงาน, เกรงว่าถ้าทหารเรือหยุดงานบ้างจะทำความลำบากมากกว่าอีก.

ความฟุ้งสร้านต่างๆ ของทหารเรือหนุ่มๆ มีอยู่เปนเอนกประการ, และปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว 1 เพื่อกำราบให้ละพยดลง, และจะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น เสนาบดีทหารเรือนั้น, แม้ได้รู้เรื่องอวดดีฟุ้งสร้านต่างๆ ของพวกศิษย์กรมชุมพร และรู้ความบกพร่องของกรมชุมพรอยู่ดีก็จริง, แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรให้แตกหักลงไปได้เลย, เพราะเปนคนขี้วิตกและขี้เกรงใจ. ถ้าขืนทอดทิ้งช้าไว้ฉันเกรงอยู่ว่าความสำเร็จเด็ดฃาดและอำนาจในกองทัพเรือจะไปตกอยู่ในมือกรมชุมพร, ซึ่งในเวลานั้นยังคงชอบกับกรมหลวงประจักษ์, ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก.

ครั้น ณ วันที่ 6 เมษายนได้มีประชุมเสนาบดีสภาตามธรรมดา, แล้วฉันจึ่งได้พบพูดเรื่องกรมชุมพรกับน้องชายเล็ก[7] และกรมนครไชยศรี[8]. ท่านทั้งสองนี้ก็ออกความเห็นว่าควรให้กรมชุมพรออกเป็นกองหนุนเสียคราว 1, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เฃาทั้งหลายตีราคาไว้.

ต่อมาวันที่ 8 เมษายนฉันจึ่งได้มีโอกาสให้หาเสนาบดีทหารเรือเฃ้าไปพูดจาเรื่องนั้น, และฉันได้ชี้แจงความเห็นของฉันให้ฟังโดยพิสดาร. ดูท่าทางบริพัตร์ออกจะวิตกอยู่, คือเกรงว่า ถ้าให้กรมชุมพรออกพวกนายทหารที่เปนศิษย์จะหัวเสียและอาจจะทำบ้าอะไรได้ต่างๆ มีลาออกพร้อมกันเปนต้น. แต่ลงปลายก็รับว่าผู้ที่ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว จะให้ทำราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญไม่ได้อยู่เอง, แล้วและเลยกล่าวขึ้นว่าเห็นควรให้วุฒิชัย[9]เปนเจ้ากรมยุทธศึกษาแทน, ฉันก็ตกลงเห็นชอบด้วย.

ครั้น ณ วันที่ 11 เมษายน ฉันได้รับจดหมายจากบริพัตร์แสดงความวิตกต่างๆ ในการที่จะให้กรมชุมพรออกจากราชการประจำ; แต่ความเห็นของฉันก็ยังมียืนอยู่ตามเดิมว่าต้องให้ออก, เพื่อรักษาอำนาจแห่งราชการ. ฉันได้ส่งจดหมายของบริพัตร์ไปให้น้องชายเล็กและกรมนครชัยศรีดู, ก็ได้รับตอบในวันรุ่งขึ้น ว่าไม่ควรรั้งรอไว้อีกต่อไป, ฉันจึ่งได้ตกลงตอบไปยังบริพัตร์ สั่งให้กรมชุมพรออกจากประจำการกรมทหารเรือ หนังสือต่างๆ เนื่องด้วยเรื่องนี้มีอยู่บริบูรณ, รักษาไว้ที่กรมราชเลฃาธิการ.

ต่อมาอีกไม่ช้า, ใน พ.ศ. 2454 นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเฃ้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิม ที่ฉันรับเอาเฃ้าทำราชการกรมมหาดเล็กนั้น เพราะต้องการควบคุมให้ได้สดวกประการ 1, กับอีกประการ 1 ฉันบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนฃ้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่. แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่.”[10]

จากพระราชบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงติดใจเอาความในเรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กเลย และเมื่อตรวจสอบเรื่องการพระราชทานนามสกุลยังพบอีกว่า นายเรือตรี เจือ กระทรวงทหารเรือ หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เป็น นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “สหนาวิน” เป็นนามสกุลลำดับที่ 231 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ย่อมชวนให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า หากนักเรียนนายเรือ เจือ สหนาวิน เป็นคู่กรณีวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่ได้บันทึกไว้จริง นักเรียนนายเรือ เจือ จะกล้าขอพระราชทานนามสกุลและจะได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับต้นๆ เพียงระยะเวลาเดือนเศษๆ นับแต่เริ่มมีการพระราชทานนามสกุลเชียวหรือ?

ส่วนการที่ทรงปลด นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการเป็นกองหนุนเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2454 ทั้งที่เพิ่งจะทรงตั้งพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2453 นั้น ความในพระราชบันทึกก็ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงต้องทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นออกเป็นกองหนุน เพื่อให้ทรงสำนึกผิด แต่ถัดมาวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 หรืออีกเพียง 3 เดือนเศษ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก รับพระราชทานยศชั้น “หัวหมื่น” หรือที่ในเวลานั้นเรียกว่า “ชั้นที่ 2 เอก” ซึ่งเป็นชั้นยศเทียบเท่านายพันเอกทหารบก และคงโปรดให้รับราชการในกรมมหาดเล็กมาจนคราวที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 แล้ว และ นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลสำนึกผิดและทรงอาสาเข้ารับราชการทหารเรือเพื่อทำหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรในสภาวะสงครามอีกครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือในตำแหน่งจเรทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2460

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้ว ก็ได้ทรงรับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาแห่ง “คณะที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” ทั้งยังได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และต่อมายังได้ทรงเป็นผู้แทนราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และทรงบังคับการเรือนั้นร่วมกับนายทหารเรือไทยนำเรือรบหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษมาถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ นับเป็นการเดินเรือข้ามทวีปครั้งแรกโดยคนไทย เป็นอาทิ จึงทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนมชีพ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมเคยชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

“มีความสลดใจเปนอันมากที่จำเปนต้องจดลงในรายวันนี้ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเฃตอุดมศักดิ์ได้สิ้นพระชนม์เสียที่ตำบลหาดรี, ปากน้ำชุมพร, เมื่อเวลา 11 นาฬิกาก่อนเที่ยงวันนี้. ฃ่าวนี้ได้รับในเวลาดึก.

เมื่อเดือนเมษายน กรมชุมพรได้ขอลาพักรักษาพระองค์ 1 เดือน โดยคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์[11], นายแพทย์ใหญ่กระทรวงทหารเรือ, ผู้ที่ได้กล่าวในใบตรวจพระอาการว่า กรมชุมพรประชวรเปนพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ. ตั้งแต่เมื่อทำบุญอายุเจ้าจอมมารดาโหมดได้สังเกตเห็นกรมชุมพรเดินง่องแง่งไม่ใคร่ถนัดอย่างไรอยู่. เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ได้ขอยืมเรือพวก ‘ทเล’ ลำ 1 ลงเดินทางออกไปว่าจะไปประพาศทางมณฑลสุราษฎร์. แรกที่จะได้ฃ่าวว่าประชวรครั้งสุดท้ายนี้ คือเจ้าพระยารามราฆพได้นำโทรเลขของเจ้าจอมมารดาโหมดมีมาถึงเธอนั้นมาให้เราดู, มีความว่ากรมหลวงชุมพรประชวรเป็นไข้พิษ พระอาการหนัก. ครั้นเวลาค่ำได้รับโทรเลขพระองค์เจ้าธานี[12]บอกฃ่าวมาว่า กระทรวงทหารเรือได้จัดส่งหม่อมเจ้าถาวรออกไปทางรถไฟยังชุมพร, และส่งเรือ ‘พระร่วง’ ออกไป โดยคำขอร้องของเจ้าจอมมารดาโหมด, เพื่อจะได้รับกรมชุมพรกลับเฃ้าไปกรุงเทพ. ครั้นเวลาดึกจึ่งได้ฃ่าวว่ากรมชุมพรได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วที่หาดรี เมื่อ 11 นาฬิกาเช้า. ตำบลหาดรีนี้, ได้ทราบจากพระยาเวียงใน[13](ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ว่า เปนที่มีไข้ป่าชุกชุม, และในฤดูเดือน 6 เดือน 7 ไม่มีใครอยู่ได้โดยปลอดไข้.

กรมชุมพรประสูติวันที่ 19 ธันวาคม, (ปีมะโรง) พ.ศ. 2423, ฉะนั้นมีพระชนม์ได้ 42 ปี กับ 5 เดือน; และเพราะได้เปนเพื่อนกันมาแต่เด็กเราจึ่งรู้สึกเสียดายและใจหายมาก”[14]

ความในพระราชบันทึกที่อัญเชิญมาข้างต้นย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงขัดแย้งกับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังทรงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกันมาแต่ทรงพระเยาว์ตราบจนพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 แล้ว ก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทหารเรือไว้ทุกข์ด้วยการลดธงครึ่งเสามีกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นวันที่เรือเชิญพระศพกลับถึงกรุงเทพฯ

นอกจากนั้นยังเล่ากันต่อมาว่า เมื่อเวลาที่ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นพระชนม์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แล้วก็ทรงเหลียวมามีพระราชดำรัสอะไรสั้นๆ ซึ่งมหาดเล็กเวรที่เฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้นก็ไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อะไร ถึงวันรุ่งขึ้นเมื่อพระทายาทของพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์แทนพระบิดา ก็มีรับสั่งว่า “รู้แล้ว”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

เชิงอรรถ :

[1] หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

[2] พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[4] นายพลเรือโท สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

[5] พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

[6] วันที่ 3 เมษายน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)

[7] นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[8] นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

[9] นายนาวาเอก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร

[10] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2. น. 3-10.

[11] หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์

[12] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

[13] พระยาเวียงในนฤบาล (ชุบ โอสถานนท์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประชากิจกรจักร์

[14] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช 2466 รัตนโกสินทรศก 142 เปนปีที่ 14 ในรัชกาล. น. 50-51.

บรรณานุกรม :

“แจ้งความกรมมหาดเล็ก”,ราชกิจจานุเบกษา 28 (6 สิงหาคม 130), น. 905.

“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”,ราชกิจจานุเบกษา 27 (25 ธันวาคม 129), น. 2243.

“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”,ราชกิจจานุเบกษา 28 (16 เมษายน 130), น. 91-92.

“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา 34 (5 สิงหาคม 2460), น. 1356.

ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2539). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2539.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช 2466 รัตนโกสินทรศก 142 เปนปีที่ 14 ในรัชกาล. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)

__. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)

วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 (11 พฤศจิกายน 2527).

วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (1 มกราคม 2528).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0