โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน "สินทรัพย์ดิจิทัล"

aomMONEY

อัพเดต 18 ก.พ. 2562 เวลา 06.09 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 06.09 น. • ลงทุนศาสตร์
เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน
เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล”

ช่วงเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมาอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของสกุลเงินดิจิทัลเลยก็ว่าได้

               ด้วยราคาบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดวิ่งจาก 964.46 USD/BTC ณ สิ้นปี 2559 ขึ้นมาทำจุดสูงสุดที่ 19,607.50 USD/BTC ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2560 หรือคิดเป็นผลตอบแทนถึง 20 เท่า ภายในเวลา ไม่ถึง 1 ปี เรียกได้ว่าสร้างผลตอบแทนมากมายมหาศาลมาก 

               แน่นอนว่าผลตอบแทนที่สูงมากย่อมจูงใจให้ผู้เล่นจำนวนมากเข้าสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี จากปริมาณการซื้อขายต่อวันในหลัก 200 ล้านเหรียญสหรัฐช่วงสิ้นปี 2016 พุ่งไปสูงถึง 14,554 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน หรือเติบโตมากกว่า 70 เท่าภายในเวลาไม่ถึงปี คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง จึงกลายเป็นกระแสใหม่ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง ไปทางไหน คุยกับใคร ก็ได้ยินแต่คำว่าบิทคอยน์ 

เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน
เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน

ข้อมูลราคาบิทคอยน์ย้อนหลัง (อ้างอิง : coinmarketcap.com)

               แน่นอนว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ย่อมมีความเสี่ยง (หรือความไม่แน่นอน) ที่สูงมากเช่นกัน และการลงทุนในคริปโทฯ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสู๊ง (เติมเสียงสูงเข้าไปอีกให้รู้ว่าสูงมาก) ความเสี่ยงของคริปโทฯ มาทั้งในรูปแบบความผันผวนของราคาที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับการลงทุนแบบอื่น อย่างบิทคอยน์ ที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุดในเครือคริปโทฯ ก็เคยแสดงปาฏิหาริย์ผลตอบแทน 20 เด้ง ภายในหนึ่งปีมาแล้ว ในทางตรงกันข้าม

               ถ้าใครเข้าไปลงทุนที่จุดยอดดอยก็ขาดทุนได้มากเหมือนกัน อย่างในสิ้นปี 2561 ที่บิทคอยน์มีราคาเหลืออยู่เพียง 3,803.81 USD/BTC ผู้ที่เข้าไปซื้อตอนราคาสูงสุดต้องขาดทุนอย่างหนัก เพราะในเวลาเพียงปีนิด ๆ สิ่งที่ลงทุนไป 100 บาท เหลือมูลค่าเพียง 20 บาทเท่านั้น 

               ความเสี่ยงอีกอย่างที่น่ากลัวกว่าความผันผวนของราคา คือ ความเสี่ยงจากการถูกเอาเปรียบโดยผู้มีเจตนาไม่สุจริต หรือพูดแบบบ้าน ๆ ก็คือสารพัดการโกงที่แปะป้ายมากับการลงทุนในคริปโทฯ นั่นแหละ กรณีดัง ๆ ก็มีทั้งการใช้คำว่า "คริปโทฯ" มาเป็นเรื่องบังหน้าของขบวนการแชร์ลูกโซ่ การหลอกลวงประชาชนให้ไปลงทุนในโครงการเกี่ยวกับคริปโทฯ ก่อนจะหนีหายไปพร้อมเงินลงทุน และการฉ้อโกง

               แน่นอนว่าภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งดูดาย และมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อช่วงกลางปี 2561 และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็เป็นหน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกหรือเอาเปรียบ ป้องกันการฟอกเงิน
 หรือการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางไม่สุจริตอีกด้วย 

เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน
เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน

ตัวอย่างข่าวการหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับบิทคอยน์ (อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ)

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนอาจยังงง สินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร? ตกลงมันดีหรือไม่ดียังไง? เดี๋ยวลงทุนศาสตร์จะพาไปรู้จักกับโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล แบบคร่าว ๆ กัน

ขอเริ่มจาก “สินทรัพย์ดิจิทัล” ก่อน คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกรวมทั้ง คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยคริปโทฯ จะถูกเก็บรักษาไว้ในระบบของบล็อกเชนซึ่งควบคุมการเข้าถึงโดยการเข้ารหัส คริปโทฯ ถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างแพร่หลาย เนื่องจากจำนวนที่มีจำกัดในระบบ เหรียญใหม่จะเกิดขึ้นจากการขุด (mining) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของการนำคอมพิวเตอร์ของตนไปใช้ในการตรวจสอบการทำธุรกรรมให้ระบบบล็อกเชนนั่นเอง คริปโทฯ ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธอร์เลียม (Ethereum) เป็นต้น 

และนอกจากคริปโทฯ แล้วก็ยังมีสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภท คือ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือเหรียญดิจิทัล โทเคนดิจิทัลแบ่งได้เป็น Utility Token หรือเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่น ๆ และ  Investment Token หรือเหรียญดิจิทัลที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน กลไกการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล จะเป็นการระดมทุนในลักษณะที่เรียกว่า ICO หรือย่อมากจาก Initial Coin Offering

ICO คือการระดมทุนที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย นักลงทุนจะได้สินทรัพย์ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในโทเคนฯ / ICO ผ่านส่วนต่างราคาจากการนำโทเคนฯ ไปขายต่อ หรือได้ส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์ตามที่ผู้ออกเหรียญตกลงไว้

เงื่อนไขของการทำ ICO จำนวนเหรียญที่จะระดมทุน รวมไปถึงรูปแบบของผลตอบแทนที่จะได้รับ ผู้ออก ICO จะต้องระบุไว้อย่างละเอียดใน White Paper หรือเอกสารประกอบการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั่นเอง

เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน
เสี่ยงสูงอย่างเข้าใจก่อนการลงทุนใน

กลไกและผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ ICO (อ้างอิง : www.เสี่ยงสูง.com)

ทั้งคริปโทฯ และโทเคนดิจิทัลสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็น ระบบการเก็บข้อมูลเป็นบล็อก ๆ โดยแต่ละบล็อกจะอ้างอิงไปข้อมูลของบล็อกก่อนหน้าเพื่อ ให้แน่ใจว่าข้อมูลมีความต่อเนื่อง ข้อมูลทั้งหมดจะถูกสร้างสำเนาขึ้นมาและไม่ได้เก็บรวมกันไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะถูกกระจายกันเก็บไว้กับผู้ใช้จำนวนมากบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้บล็อกเชนมีจุดเด่น คือ ข้อมูลแก้ไขดัดแปลงได้ยากมาก เพราะถ้าอยากแก้ไขข้อมูล จะต้องแก้ไขข้อมูลในบล็อกนั้น และย้อนกลับไปแก้ไขในบล็อกก่อนหน้าทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มีข้อมูลนั้นอยู่ด้วยการเข้ารหัสระดับสูง บล็อกเชนจึงเป็นเหมือนระบบการเก็บข้อมูลบนโลกออนไลน์แบบกระจายตัว โดยอาศัยผู้ใช้จำนวนมากช่วยกันตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน

คำถามที่สำคัญกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผลตอบแทนมากแค่ไหน คือ เรารับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มากแค่ไหน?

               ถึงแม้ว่าวงการคริปโทฯ รวมไปถึงโทเคนที่ระดมทุนผ่าน ICO ต่าง ๆ จะมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง แต่อย่างไรก็ตาม ดินแดนนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็น สมรภูมิเดือดเสียทีเดียว เพราะนักลงทุนที่ลงทุนอย่างจริงจัง มีความรู้รอบคอบ และมีวินัยในการลงทุนอย่างมากก็ยังสามารถเอาชีวิตรอดอยู่ได้ (แต่จะกำไรหรือไม่กำไรขึ้นกับตลาดแต่ละช่วงปีด้วย) คำถามที่สำคัญที่สุด คือ เราพร้อมกับสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วหรือยัง พร้อมรับความเสี่ยงแล้วหรือยัง หากมีความสนใจอยากลงทุนจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะรู้ถึงความเสี่ยงที่รายล้อมอยู่ แนะนำให้แบ่งเงินมาลองลงทุนเป็นจำนวนน้อย ๆ อาจสักไม่เกิน 10% ของเงินลงทุนที่มี หรือจะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ที่เราคิดว่าเราพร้อมแล้วที่จะเสียไปทั้งหมดเพื่อเป็นค่าครู

“อย่าลืม! ขาดทุนจากราคา ตก ไม่น่าเจ็บใจเท่ากับโดนมิจฉาชีพหลอก”

               ดังนั้น ก่อนจะลงทุนทุกครั้ง ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจหรือโครงการที่เราลงทุนด้วยเสมอว่าได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.แล้วหรือยัง ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีความเสี่ยงสูงพออยู่แล้ว ผู้ลงทุนจึงควรลดความเสี่ยงจากการโดนโกงด้วยการเลือกลงทุนกับตัวเลือกที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว  ที่สำคัญ การลงทุนกับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต จะทำให้
 ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองจากการถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นเกราะป้องกันจากการถูกหลอกและถูกโกงได้ดีเลยทีเดียว 

ฝากไว้ได้ประโยชน์ เน้นย้ำว่า ได้ประโยชน์จริงๆ เห็นคนโดนหลอกมาเยอะ ไม่อยากให้ใครโดนหลอกอีก

  • รายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการรับรองจากก.ล.ต. >>> https://sec.or.th/digitalasset
  • ความรู้เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล >>> https://เสี่ยงสูง.com
  • แบบประเมินตนเองถึงความพร้อมในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล >>>  https://เสี่ยงสูง.com/checklist/ 

มีความสุขกับการลงทุนในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนะ ; )

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0