โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เสียงปืนดับลง เสียงคนด่าสื่อยังดัง' ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการกำกับดูแลสื่อ

The MATTER

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 น. • Social

ช่วงค่ำของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ คงเป็นค่ำคืนที่ยาวนานสำหรับใครหลายๆ คน ที่ได้ติดตามข่าวเหตุกราดยิงที่จังหวัดโคราช และเอาใจช่วยให้เจ้าหน้าที่ในการคลี่คลายสถานการณ์ในเทอร์มินอล 21 โคราช  กว่าเหตุการณ์จะคลายความตรีงเครียดลง เวลาก็ล่วงเลยมาถึงตอนเช้าของวันที่ 9 กุมภาพันธ์แล้ว

แม้เจ้าหน้าที่จะวิสามัญผู้ก่อเหตุในครั้งนั้นแล้ว แต่สังคมยังพูดถึงคนร้ายอีกคนหนึ่ง ก็คือ ‘สื่อ’ ที่รายงานข่าวเหตุการณ์ในครั้งนั้นอย่างไม่เหมาะสม เช่น รายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ ทำให้คนร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในเทอร์มินอล 21 โคราชรู้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การทำงานของสื่อถูกตั้งคำถามจากสังคม แต่มันได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นเดียวกับวิธีการกำกับดูแลสื่อที่ก็ถูกตั้งคำถามมานานแล้วเช่นกัน

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861574
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861574

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861574

‘ขาดการวิจารณ์’ - ‘ขาดบทลงโทษ’ ปัญหาสำคัญของการกำกับดูแลกันเอง 

ในสังคมที่ปกครองกันแบบประชาธิปไตย ‘เสรีภาพการแสดงออกถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการปกป้อง เพราะฉะนั้น การที่ภาครัฐจะเข้ามากำกับดูแลสื่อแบบเบ็ดเสร็จ จะทำให้ภาครัฐถูกตั้งคำถามจากสังคมได้

คนในวงการสื่อจึงเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลกันเองระหว่างองค์กรมากกว่า

แต่มีนักวิชาการหลายคนที่เห็นว่าการกำกับดูแลสื่อด้วยวิธีการดังกล่าวในบ้านเรา มีปัญหาที่ทำให้มันไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะเปลี่ยนแปลงสื่อที่กระทำผิด ให้หันกลับมากระทำในสิ่งที่ถูกต้องได้

หนึ่งในนั้น คือ อ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาจารย์เป็นคนที่ยังเชื่อมั่นในวิธีการกำกับดูแลกันเองของสื่ออยู่ แต่มองว่า การกำกับดูแลกันเองในบ้านเรา ไม่ได้มีการกำกับดูแลกันเองจริง และมีสื่อจำนวนน้อยที่วิพากษ์วิจารณ์กันเอง

ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงสื่อมวลชน อ.สกุลศรี เห็นว่า ควรมีการนำวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลกลับมา เพราะบางครั้งสื่อก็ไม่ได้ตั้งใจทำผิด แต่อาจจะหลงในวังวนบางอย่าง หากมีใครมาสกิดให้เขาเห็น เขาก็อาจจะปรับปรุงตัว

หากพูดถึงกลไกในการกำกับดูแลกันเองที่มีอยู่ในวิชาชีพ อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองว่า หลายอย่างมีความชัดเจน มีการปฏิบัติ มีการร้องเรียน มีการตักเตือน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ บทลงโทษ

นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างบางประเทศที่มีการกำกับดูแลสื่ออย่างจริงจัง เช่น ออสเตรเลีย หรือ สวีเดน ที่ถ้าสื่อทำผิดก็มีการปรับ ลงโทษ และอังกฤษ ซึ่งหากผู้ประกาศข่าวรายงานข่าวแบบไม่เหมาะสม มีเสียงตอบรับของประชาชนเข้ามา หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าผิดจริยธรรมจริง สามารถโดนพักงาน 6 เดือน หรือ 1 ปี

“มันเป็นการลงโทษจริง ไม่ใช่แค่ตักเตือน ตีพิมพ์คำขอโทษ แล้วทำซ้ำ เหมือนบ้านเรา”

สังคมกำกับดูแลสื่อได้

หนึ่งในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุกราดยิงที่จังหวัดโคราช คือ การที่ชาวเน็ตเริ่มทำ ‘การแบนสื่อ’

ในช่วงที่เหตุกราดยิงยังมีความตรึงเครียด (วันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์) โลกออนไลน์ได้พูดถึงการทำงานข่าวสื่อมวลชนบางแห่ง ที่รายงานข่าวเหตุกราดยิงแบบไม่เหมาะสม จนเกิดแฮชแท็กต่างๆ ในทวิตเตอร์ เช่น #แบนช่องone #แบนAmarinTV หรือ #สื่อไร้จรรยาบรรณ ซึ่งบางคนก็มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้สื่อได้ทบทวนตัวเอง

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่เพจ ‘อีจัน’ ถูกอันไลก์เป็นหลักล้าน จากการรายงานข่าวเหตุกราดยิงที่จังหวัดโคราช ด้าน อ.สกุลศรี ให้ความเห็นว่า ยุคนี้ผู้รับสารมีอำนาจมาก แต่ผู้รับสารอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีบทบาทในกระบวนการของการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น สมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย เวลาจะฟีดแบกให้สำนักข่าว ต้องเขียนจดหมาย แต่ยุคนี้มีช่องทางที่สามารถสะท้อนถึงสื่อได้แบบเรียลทาม เพราะฉะนั้นคนตรวจสอบสื่อได้

หากย้อนกลับไปดู การทำหน้าที่ของสื่อในช่วงวิกฤติ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้ว ซึ่งกรณีที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน อย่าง เหตุการณ์ถ้ำหลวง ซึ่งเจ้าหน้าทั้งในและจากต่างประเทศ ได้ร่วมกันทำภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนนางนอน จังหวัดเชียงราย ก็มีกรณีที่สื่อถูกวิจารณ์เหมือนกันว่าขัดขวางเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้โดรนบินตามเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้ประสบเหตุ เป็นต้น แม้จะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่เราก็ยังพบสื่อที่กระทำผิดอยู่ในเหตุกราดยิงโคราช

อ.สกุลศรี แนะนำว่า เวลาเจอสื่อทำไม่ดี ให้แบนเลย เพราะเป็นสื่งที่สื่อกลัวที่สุด คนไม่อ่าน ยอดวิวหาย หรือ ทำให้เขาเห็นว่า เขาทำหน้าที่ตามที่เราคาดหวังไม่ได้ และให้โอกาสเขาในการปรับปรุงตัว

“อาจเป็นกระบวนการตรวจสอบสื่อที่ดีกว่า การที่เรามีองค์กรวิชาชีพตรวจสอบกันเองด้วยซ้ำไป เพราะสื่อบ้านเราอยู่ได้ด้วยการมีคนดู คนอ่าน เพื่อให้มีโฆษณา และมีรายได้”

นอกจากนี้ อาจารย์นิเทศฯ เผยว่า หากบริษัทต่างๆ หยุดลงโฆษณากับสื่อที่ไม่มีคุณภาพ เพราะกลัวว่าทำให้เสียภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้สื่อถอยหลังกลับมาคิดได้ว่า วิธีการอยู่รอด ด้วยวิธีการหวือหวา หรือ วิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรม มันไม่ได้ตอบโจทย์คนอีกต่อไป

https://twitter.com/PakBungSuayy/status/1226316941410717696

การกำกับดูแลสื่อที่มีคุณภาพ ทุกส่วนต้องมีคุณภาพ

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ถูกมองว่ามีปัญหาในช่วงที่เกิดเหตุกราดยิง คือ การนำเสนอภาพ หรือ การไลฟ์สด ที่ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การไลฟ์สดรายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ ที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำให้คนร้ายรู้ข้อมูลการปฏิบัติงานหรือไม่ ถึงแม้ในช่วงนั้น กสทช.จะมีคำสั่งให้ทุกช่องห้ามทำแบบนั้น และกสทช. เผยว่า มีบางสถานีข่าวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ซึ่งก็ได้มีการโทรแจ้งเตือนและทำให้การรายงานข่าวที่กระทบกับเข้าหน้าที่ลดลง แต่การกำกับดูแลสื่อมีปัญหาหรือไม่ยังคงเป็นคำถามที่สำคัญ

อ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงวิธีการกำกับดูแลสื่อ 4 วิธี ได้แก่

การกำกับดูแลโดยรัฐ การกำกับดูแลตนเอง การกำกับดูแลกันเองผ่านสมาคมวิชาชีพสื่อ การกำกับดูแลโดยสังคม ซึ่งและแต่ละวิธีก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป โดย อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของแต่ละวิธีไว้ดังนี้

สำหรับกำกับดูแลโดยรัฐ หรือ การกำกับด้วยกฎหมาย อ.วิไลวรรณ มองว่า หากมีมากเกินไป เสรีภาพในการสื่อสาร ที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรก็มีน้อย ทุกวันนี้คิดว่ามีมันมากพอแล้ว แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ โดยเฉพาะแนวทางในการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ของ กสทช.ที่ไม่มีความชัดเจน ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกับบทบาทของ กสทช.

ส่วนเรื่องการกำกับดูแลตนเอง นักวิชาการด้านสื่อ เผยว่า วันนี้ไม่มีกองเซนเซอร์เหมือนในอดีต ทีวีแต่ละช่องกำกับตนเอง มีกองเซนเซอร์ภายในช่องของตัวเอง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมช่องนี้ได้ ช่องนี้ไม่ได้ ก็เป็นโจทย์ของกสทช. ที่ต้องควบคุมอีกว่าจะมีมาตรฐานในการกำกับอย่างไร

ด้านการกำกับดูแลกันเองผ่านสมาคมวิชาชีพสื่อ อ.วิไลวรรณ เห็นว่า ประเทศไทยอ่อนแอมาก ไม่เคยจัดการเรื่องใดได้ นอกจากออกแถลงการณ์เวลาเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง

และสุดท้ายเรื่องการกำกับดูแลโดยสังคม นักวิชาการด้านสื่อ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย สังคมมีบทบาทในการกำกับดูแลสื่อมากขึ้น แต่ก็ได้ตั้งคำถามเรื่องคุณภาพในการกำกับเช่นกัน เพราะมีลักษณะของศาลเตี้ยเกิดขึ้น

แม้ว่าแต่ละวิธีจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่เรายังมีความเชื่อในวิธีการกำกับดูแลสื่อโดยสังคม จึงได้ถาม อ.วิไลวรรณ ว่า แล้วคนในสังคมจะมีแนวทางในกำกับสื่อได้อย่างไร ซึ่งเธอตอบกลับมาว่า ถ้าตำหนิสื่อว่าอย่างไร ก็ต้องไม่ทำแบบนั้นด้วย และถ้าทุกส่วนมีคุณภาพ  มีความเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม ไม่ด่วนตัดสินทุกอย่าง ระบบนิเวศข่าวมันจะดีขึ้น

“เพราะว่า คนทำงานข่าวเขาก็บอกเองว่า อ่าวก็ชอบดูกัน ถ้าเกิดไม่ชอบดูแล้ว rating ก็สูง เขาก็โทษที่คนดู ดังนั้น ในขณะที่คุณบอกว่า คุณจะเป็นสังคมที่กำกับสื่อ คุณก็ต้องมีคุณภาพพอด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เต็มไปด้วยดราม่า”

ความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากเหตุกราดยิง คือ การประชุมของ กสทช. และองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันว่า จะส่งเสริมแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างในการกำกับดูแลสื่อในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน จะมีการวางกรอบแนวทางการปฏฺิบัติของสื่อ และในระหว่างที่กรอบแนวทางการปฏิบัติยังไม่แล้วเสร็จ จะมีการประสานงานกับกสทช. หากมีสื่อมวลชนที่ทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณ ก็จะให้ กสทช. เป็นคนดำเนินการตามข้อกำหนดระเบียบต่างๆ ลงโทษจากหนักไปเบา

ก็ต้องรอดูต่อไปว่า มันจะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันไม่ให้สื่อรายงานข่าวแบบไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่

One man, handsome breaking news reporter, going live in television program.
One man, handsome breaking news reporter, going live in television program.

ความเร็ว หรือ ประเด็น คือ ทางรอดของสื่อยุคใหม่

ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ การแข่งขันในวงการสื่อมีมากขึ้น บางสำนักข่าวเลือกเข้าสู่สนามแข่งขัน ด้วยทักษะการรายงานข่าวที่รวดเร็ว - หวือหวา ในขณะที่บางสำนักข่าวรายงานข่าวเชิงประเด็น

ซึ่งนักวิชาการบางคนมองว่า สื่อยุคใหม่กำลังแข่งขันกันที่ความไว

อย่าง อ.วิไลวรรณ ที่มองว่า ณ วันนี้ ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป การทำงานของนักข่าวก็เปลี่ยนไป การรายงานข่าวของสื่อมวลชนมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาตามมา  ในขณะที่นักข่าวเริ่มมีหลายสถานะ เช่น ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ที่นอกจากจะเป็นนักข่าวรายการ 3 มิติแล้ว ยังเป็นเจ้าของเพจ The Reporters ที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์อีกด้วย หรือ วาสนา นาน่วม ที่มีเพจเป็นของตัวเอง

นักวิชาการด้านสื่อ คิดว่า ทุกคนจึงแข่งขันกันที่ความไว และการเข้าใกล้กับข่าวมากที่สุด

ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อ.วิไลวรรณ ได้กล่าวถึงปัญหาของสื่อไทยว่า มีทั้งเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว, การรายงานข่าวที่ไม่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นข่าวเชิงปัจเจกบุคคล มากกว่าข่าวเชิงสืบสวน ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในองค์กร คือ ขาดคนที่มีข้อมูลเชิงลึก และมีทักษะในการทำข่าวสืบสวน รวมไปถึงการที่นักข่าวไม่มีความลึกและความกว้างในประเด็นข่าว มีแต่ทักษะการรายงานข่าว

ปัญหาสุดท้ายเรื่องของจริยธรรม อาจารย์ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่อยากโทษนักข่าวภาคสนามเพียงอย่างเดียว ต้องโทษทั้งระบบกองบรรณาธิการ ที่ปล่อยให้ข่าวที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมออกมาได้ เพราะระบบกองบรรณาธิการข่าว ต้องมีการตรวจสอบก่อน ต่อให้รีบแค่ไหน ต้องผ่านหัวหน้า ต้องผ่านบรรณาธิการ

แม้สื่อหลายแห่งจะเห็นว่า การแข่งขันกันที่ความเร็วเป็นทางรอดของสื่อในยุคนี้ แต่ทางด้าน อ.สกุลศรี กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป

อาจารย์ให้ความเห็นว่า ในยุคนี้ ต่อให้รายงานข่าวเร็วแค่ไหนก็ตาม ก็มีสิทธิที่จะช้ากว่าคนบนออนไลน์ได้เสมอ มันจึงไม่ใช่ยุคที่จะแข่งกันว่าใครรายงานข่าวเร็วที่สุด แต่มันอยู่ที่ว่า ใครจะรายงานข่าวในมุมมองที่คนอื่นไม่สามารถรายงานได้

ด้าน อ.สกุลศรี ยกตัวอย่างว่า สมมติมี 50 สื่อ แล้วทุกคนวิ่งไปที่ความเร็วหมด ก็จะไม่มีใครให้บริบทข่าว ไม่มีใครให้คำอธิบายข่าว สุดท้ายคนก็จะไปหา content creator, influencer หรือคนอื่นที่มีความลึก และให้ข้อมูลมากกว่า

อาจารย์นิเทศฯ คิดว่า สื่อสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นอย่างไร บางคนอาจจะเลือกเป็นสื่อที่รายงานข่าวแบบ breaking news มีนักข่าวทั่วประเทศ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว มีเครือข่ายของนักข่าวภาคประชาชนอยู่ในมือเยอะมาก ก็สามารถทำข่าวที่มันเร็วได้ แต่ถ้าเป็นสำนักข่าวที่มีทีมข่าวอยู่ไม่กี่คน สังกัดแค่อยู่ในพื้นที่กทม. สิ่งที่จะสู้กับคนอื่นได้ คือ บริบทที่จะให้กับเรื่องนั้น

อาจารย์เผยว่า ถ้าลองมอนิเตอร์ดู เวลาเกิดข่าวที่คนสนใจและเป็นกระแส เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง มันจะมีคำถามที่มากกว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น’ มันจะมีคำถามว่เกิดขึ้นได้ไง ทำไมมันถึงเกิดขึ้น แล้วถ้าเป็นแบบนี้เราควรทำยังไง มันจะมีคำถามแบบนี้ ซึ่งมันก็คือการถามหาบริบทของข้อมูล

อ.สกุลศรี ยังเสริมอีกว่า ถ้ากลับไปย้อนดู มันจะไม่ค่อยมีสื่อที่รายงานข่าวเรื่องนี้ให้มันชัดเจน และถ้าเวลาผ่านไป 1 - 2 วัน มันจะเริ่มมีคำถามที่ลึกขึ้นจากคนในสังคม บนออนไลน์เห็นได้ชัด  ว่า สิ่งที่คนต้องการข้อมูล มันไม่ใช่แค่ความเร็วและสถานการณ์ที่เกิดขึ่้นเฉพาะหน้า

อาจารย์ด้านนิเทศฯ แสดงความคิดเห็นว่า คนต้องการสิ่งที่มันสมเหตุสมผล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ทำให้เขาเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ถ้ามันเกิดกับตัวเขาเขาจะทำยังไง มันจะแก้ไขไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกได้ไหม คือ สื่อที่ขยับไปทำเรื่องแบบนี้ ก็จะเป็นตัวเลือกที่คนค้นข้อมูล แล้วก็กลับมาอ่าน

“ยุคนี้คนทำสื่อเยอะ ถ้าใครแตกต่าง แล้วก็เชี่ยวชาญกว่า ลึกกว่า ให้สิ่งที่ตอบโจทย์คนหลากหลายกลุ่มได้มากกว่า นั่นคือทางรอดของสื่อมากกว่า”

เส้นแบ่งระหว่าง ‘สื่อที่ดี’ และ ‘สื่อที่ไม่ดี’

ยังคงเป็นเรื่องที่ใครหลายคนสับสน สำหรับการแยกแยะระหว่างสื่อที่ดี และสื่อที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความเทาๆ เราก็คงเคยเห็นกรณีที่สื่อก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร แต่ก็ได้สร้างความคับข้องใจให้สังคมอยู่บ่อยๆ

ในเมื่อได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ด้านวิชาการสื่อทั้ง 2 ท่าน เราจึงได้ตัดสินใจถามถึงวิธีการแบ่งสื่อดีและสื่อไม่ดีในเบื้องต้น

อ.สกุลศรี ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างสื่อที่ดีกับสื่อที่ไม่ดีไว้ว่า สื่อที่ดี คือ สื่อที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน และมีเหตุผล ยุคนี้คนมีอารมณ์ความรู้สึกเยอะ มีความขัดแย้งสูง คนจึงต้องการสื่อที่ทำให้คนมีเหตุมีผลมากขึ้น กับเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้เขาเข้าใจ อธิบายที่มาที่ไป ทำให้เขามองเห็นทางออกของปัญหาได้ ทำให้คนที่แตกต่างกัน มายืนอยู่ในจุดที่สามารถคุยกันได้

อาจารย์ยังเผยอีกว่า สื่อบางสื่อในยุคนี้ รู้ว่าคนนี้ไม่ดี ก็รายงานอย่างเดียวเลยว่า คนนี้ไม่ดี มันไม่มีอีกมุมหนึ่งที่มา support ความรอบด้านมันก็หายไป การที่เรารีบเลือกว่าเราจะยืนอยู่ข้างไหน บางครั้งเราก็กลายเป็นสื่อที่ไม่ดี

เพราะฉะนั้น ความรอบด้านก็ยังสำคัญ  การให้คำอธิบายสำคัญ เคารพสิทธิของคน รับผิดชอบต่อการรายงานข่าว สิ่งที่เรารายงานมีผลต่อสังคมไหม แก้ปัญหานั้นได้ เปลี่ยนแปลงบางเรื่องได้ กระตุ้นคิดบางเรื่องได้

ส่วนสื่อที่ไม่ดี ก็คือ สื่อที่ไร้จริยธรรม รายงานอะไรก็ไม่ถูกต้อง หวือหวาตลอดเวลาไม่เคารพสิทธิใครเลย เอาเป็นว่ายอดวิว ยอดไลค์เยอะที่สุด ตั้งต้นเรื่องของรายได้ มากกว่า สิ่งที่เขาจะมีผลต่อสังคม

แม้จะมีสื่อที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อในโลกออนไลน์ก็มีการชื่นชมสื่อบางที่เหมือนกันอย่าง ช่อง 7 HD ที่ใช้โดรนจับความร้อนมาช่วยเจ้าหน้าที่ในการหาตัวผู้ก่อเหตุ ที่หลบอยู่ในเทอร์มินอล 21 หลังโดรนของเจ้าหน้าที่ถูกผู้ก่อเหตุทำลาย

ในขณะที่ อ.วิไลวรรณ ได้ตั้งคำถามว่า นิยามสื่อดีคืออะไร ใครเป็นคนกำหนดนิยามนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าขึ้น จนทำให้คนมีบทบาทในการกำกับดูแลสื่อมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่การจะทำให้คนในสังคมมีคุณภาพมากพอที่จะกำกับดูแลสื่อจริงๆ ยังคงเป็นโจทย์ที่เราต้องหาทางออกกันต่อไป ในยุคที่ข่าวเร็วและหวือหวายังคงขายได้เสมอ

อ้างอิง

techsauce.co

news.thaipbs.or.th

sanook.com

news.thaipbs.or.th

bangkokbiznews.com

Cover photo by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0