โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

เสียงจากเจ้าของโรงแรมแบรนด์ดัง ในวันที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงาน!

Manager Online

เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 01.38 น. • MGR Online

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงพ่นพิษ ทำให้ทุกธุรกิจได้รับกระทบกันถ้วนหน้า แต่ภาคธุรกิจที่สาหัสที่สุด คงหนีไม่พ้น ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน บริษัททัวร์ ไปจนถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หดหาย จนรายได้แทบจะเป็นศูนย์ ล่าสุด เอวาซอน หัวหิน คือ รายล่าสุดที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว จนต้องประกาศปิดกิจการไปเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเปิดให้บริการจนถึง30 เม.ย.นี้เท่านั้นอย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะยังไม่ได้ขอความร่วมมือให้โรงแรมปิดให้บริการ แต่บรรดาโรงแรมยักษ์ใหญ่ต่างขยับตัวเพื่อปรับลดต้นทุน และประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ มาดูซิว่า แต่ละแห่งจะมีกลเม็ดอย่างไร และ อะไรคือมาตรการที่พวกเขาอยากเห็นเพื่อกอดคอกันสู้ในสงครามโรคครั้งนี้ไปด้วยกัน (หาให้เจอ)ในวิกฤตยังมีโอกาส เริ่มจากเครือเซ็นทารา เพิ่งออกมาประกาศแผนเตรียมปิดให้บริการโรงแรมและรีสอร์ตในเครือกว่า 28 แห่งในช่วงเดือนเม.ย.นี้ไปหมาดๆ โดยแบ่งเป็นโรงแรมในไทย 25 แห่ง และโรงแรมในเครือที่มัลดีฟส์และศรีลังกา พร้อมทั้งลดจำนวนพนักงานลง โดยให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน (Work from Home) และมีมาตรการลดเงินเดือนเหลือ 75%

แพร์-พิมพิศา จิราธิวัฒน์ ทายาทโรงแรมในเครือเซ็นทรัล ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง Assistant Design Director เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยดูแลในส่วนของการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ ของโรงแรมในเครือทั้งในและต่างประเทศ งานนี้แม้จะเข้ามาทำงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 พอดี ซึ่งเจ้าตัวออกปากถือว่าเจอยาแรงตั้งแต่เข้ามา แต่ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ถ้าผ่านพ้นไปได้ จากนี้เจอวิกฤตอะไรก็สู้ไหว

“วิกฤตครั้งนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เครือเซ็นทาราก็เช่นกัน อย่างที่ข่าวออกไป เรามีการนำมาตรการต่างๆมาใช้เพื่อปรับลดค่าใช้จ่าย ในภาวะที่รายรับเข้ามาน้อยมากจนแทบไม่มี และแม้จะมีการปรับกลยุทธ์หันมาทำเดลิเวอรี่ แต่ก็ไม่ใช่หัวใจหลักใจหลักของธุรกิจโรงแรมอยู่ดี เพราะฉะนั้นตอนนี้ฝั่งโอเปอเรชั่นกระทบมาก แต่ส่วนโปรเจกต์ที่แพร์ดูแลทั้งในและต่างประเทศยังดำเนินการไปตามแผน ไม่ว่าจะเป็นแผนเปิดตัว เซ็นทารา แกรนด์ บีชรีสอร์ท สมุย ปลายปีนี้ หรือ แผนการรีโนเวทห้องพักทั้งหมดของเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งตอนนี้ยังเปิดให้บริการบางส่วน พร้อมกับทำบาร์ใหม่เพิ่มเติมจากเรดสกาย ในต่างประเทศ เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ยังดำเนินไปตามแผนซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2023 แต่ที่ดูไบซึ่งคาดว่าจะเปิดสิ้นปีนี้ อาจจะต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ตะวันออกกลาง และยุโรปซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างหนัก” อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตครั้งนี้ ในมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่ เธอเชื่อว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ สำหรับเครือเซ็นทารานี่อาจะเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการบริหารธุรกิจในส่วนโรงแรมให้มีความหลากหลาย (Diversify) เพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

“เลิกจ้าง” คือฟางเส้นสุดท้ายที่คิดจะทำ

ด้านริน- ศรินญา มหาดำรงกุล ทายาทธุรกิจโรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา และ ลีฟ โฮเต็ล ภูเก็ต ป่าตองบีชฟรอนต์ เผยว่า ตอนนี้มีเพียงโรงแรมเรเนซองส์ พัทยา ที่ยังเปิดให้บริการบางส่วนอยู่ ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ส่วนอีก 2 โรงแรมปิดให้บริการชั่วคราว และให้พนักงานบางส่วน Work from Home ควบคู่ไปกับมาตรการลดเงินเดือนเหลือ 75% พร้อมขอความร่วมมือให้พนักงานไม่กลับภูมิลำเนา

“เราคงไม่สามารถสั่งห้ามพนักงาน 700 คนไม่ให้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือว่าขณะนี้ทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่แย่เหมือนกัน ขอให้ช่วยกันอดทน เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทุกคนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ในฐานะเจ้าของโรงแรม เราก็ภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว และใช้มาตรการที่กระทบกับพนักงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะการเลิกจ้างเป็นอย่างสุดท้ายที่เราจะทำในภาวะที่รายรับเท่ากับศูนย์ เราพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ด้วยความที่ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มี Fixed cost เราจึงต้องดูแลกระแสเงินสดให้ดี ซึ่งเรายังโชคดีที่ช่วงที่ผลประกอบการดีมีการสำรองเงินไว้เผื่อกรณีวิกฤต ทำให้ยังประคองสถานการณ์ไปได้ แต่หากวิกฤตยืดเยื้อจนถึงเดือนก.ค.ก็คงประคองต่อไปได้ยาก”

ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รินมองว่า ตอนนี้มาตรการที่เด็ดขาด เจ็บแต่จบน่าจะเป็นทางออกของประเทศ เพื่อควบคุมปริมาณผู้ติดเชื้อให้ลดลงจนกลายเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ คือ สิ่งที่้ต้องทำอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้น จึงมาถึงมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ล้ม เมื่อวันที่สถานการณ์กลับมาปกติ ธุรกิจเหล่านี้ก็คงไม่มีแรงพอจะลุกขึ้นมาทำรายได้ให้ประเทศได้ดั่งเดิม”

อย่ารอให้ถึงวันที่หัวใจหยุดเต้น สอดคล้องกับมุมมองของแวว-ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการกลุ่มโรงแรมในเครือเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ ที่รู้สึกต่อสถานการณ์ขณะนี้ไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นว่า ”แย่มาก” จนถึงขั้นคุณพ่อ (ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์) ยังออกปากว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยเจอ วิกฤตครั้งนี้ไม่ต่างกับสงครามโลก

“ผลพวงจากการที่หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ ทำให้รายรับจากฝั่งธุรกิจโรงแรมเท่ากับศูนย์ แต่พนักงานเกือบ 3,000 คน จาก 23 โรงแรมของเราก็น่ารักมาก ยังพร้อมจะสู้ไปด้วยกัน ระหว่างที่เรายังทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะเทรนนิ่งพนักงาน สอนภาษาอังกฤษ ยังจัดกลุ่มพนักงานเข้ามาทำความสะอาด ทำงานในส่วนที่ทำได้ เช่น นำผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดปากมาเย็บขอบใหม่ คัดแยกผ้าปูที่นอน เปลี่ยนหมอน เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หน้าตาของโรงแรมจะเหมือนโรงแรมใหม่เลยจนถึงขณะนี้ แววบอกว่า ทุกโรงแรมยังเปิดให้บริการอยู่ และทีมบริหารเองก็พยายามอย่างเต็มที่ในการประคับประคองธุรกิจ ต่อให้เห็นภาพแล้วว่าปีนี้ต้องขาดทุนหลายร้อยล้าน แต่ก็จะสู้ พยายามไม่เอาพนักงานออก และยังจ่ายเงินเดือนเต็มอัตรา “อย่างที่บอกพนักงานก็น่ารัก ช่วยกันเต็มที่ บางคนก็ Leave without pay เพื่อช่วยลดต้นทุน ตอนนี้เราเตรียมรับมือไปจนถึงพ.ย.-ธ.ค. แต่ถ้าถึงตอนนัั้นสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องขอให้พนักงานที่ leave without pay มากกว่านี้”

สำหรับมาตรการที่อยากให้เกิดขึ้น คือ อยากให้ภาครัฐหันมาใส่ใจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักของประเทศ เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจท่องเที่ยวพัง ก็เหมือนหัวใจหยุดเต้น เท่าที่ดูนโยบายภาครัฐที่ออกมาตอนนี้ ยังขาดความชัดเจน ยกตัวอย่างสวัสดิการจากประกันสังคม ซึ่งธุรกิจโรงแรมไม่เข้าข่ายอยู่แล้ว เพราะว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลสั่งปิด แต่ถึงอย่างนั้นนโยบายประกันสังคมที่ออกมาก็ยังเป็นเชิงนโยบายไม่ได้ระบุว่าจะจ่ายเงินอย่างไรและเมื่อไหร่ด้วยซ้ำ”เพราะฉะนั้น ถ้าให้มองข้ามช็อตไปว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มควบคุมได้ ธุรกิจจะกลับมาได้อย่างไร “ส่วนตัวแววคิดว่าตอบยาก เพราะไม่ใช่สถานการณ์สงบแล้ว ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาได้ทันที ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างในแง่ตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ต้องดูความพร้อมของประเทศว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูความพร้อมของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหร เพราะหลังจากผ่านวิกฤตไป แววว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องรองที่คนใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะใช้กับเรื่องที่จำเป็นก่อน อยากเรื่องปากท้อง ค่ารักษา ค่าเทอม ขณะที่ฝั่งเจ้าของกิจการเอง ก็ต้องดูความพร้อมเช่นกันว่าช่วงที่ปิดกิจการชั่วคราวไปมีการเตรียมพร้อมแค่ไหน เพราะถ้าไม่มีการดูแลงานระบบหลังบ้านให้ดี ตั้งแต่เรื่องความสะอาด ไปจนถึงพนักงานที่เหลืออยู่ เมื่อสถานการณ์กลับมาก็อาจจะเดินต่อไปไม่ไหวอยู่ดี”

เจ็บทุกฝ่าย ใครยังไหวต้องประคองกันสู้ไปด้วยกัน

มาถึงเบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทตึกใบหยก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับกระแสชื่นชมบนโลกออนไลน์ไปเต็มๆ หลังจากบุ้ง-สะธี น้องสาว ออกมาประกาศผ่านไอจีว่า “ลงตามพี่ชาย ช่วยชาติได้แค่ไหนก็จะช่วย ห้ามได้จะช่วยห้าม บริษัทไม่เคยปลดคนออกไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหนๆ ถึงเวลาที่พนักงานต้องช่วยกันมั่ง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ”

“เฉพาะโรงแรมในเครือซึ่งมีประมาณ 10 แห่ง ตอนนี้ยอดเข้าพักลดลง 90 % แต่จนถึงตอนนี้เรายังไม่ได้ปิดให้บริการโรงแรมไหน แต่ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองวัดไข้ ดูประวัติการเดินทางของผู้เข้าพักว่ามีการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า การเว้นระยะห่าง และพยายามดูแลพนักงานของเราอย่างเต็มที่มีการแจกหน้ากาก และเจลล้างมือ ส่วนการจ่ายเงินเดือนยังจ่ายเต็ม แต่จะยืนระยะไปได้นานแค่ไหน ตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่การให้พนักงานออกจะเป็นอย่างสุดท้ายที่เราจะทำแน่นอน อย่างช่วงนี้นอกจากพนักงานที่ Leave without pay และ บางส่วน Work From Home ใครที่ยังต้องเข้ามาทำงานจริงๆ เราก็ปรับตารางงาน ผลัดกันเข้ามาดูแลงานซ่อมบำรุง ทำความสะอาด รีโนเวทห้องพัก ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติคงไม่มีโอกาสได้ทำ รวมทั้งมีการจัดเทรนนิ่งพนักงานด้วย”

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่ามาตรการอะไรที่อยากให้มีจากนี้ เบียร์ตอบชัดว่า“ผมยังไม่คิดจะเรียกร้อง และไม่แน่ใจว่าจะเรียกร้องอะไรได้ ตอนนี้ถ้าสามารถเป็นกระบอกเสียงไปยังสังคมได้ ผมอยากจะบอกกับคนที่ทำธุรกิจด้วยกันว่า ต้องช่วยกันประคับประคองลูกน้องและพนักงานไปก่อน การตกงานเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราลอยแพรพนักงาน อาจกระตุ้นให้พวกเขาต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือ บางคนไม่มีทางเลือก อาจจะไปทำเรื่องที่เสี่ยงๆ เราคงไม่อยากเห็นว่าวันหนึ่งบ้านเรามีข่าวคนตกงานแล้วต้องไปวิ่งราว เพราะฉะนั้นใครยังพอไหว ผมอยากให้ช่วยกันไปก่อน ตอนนี้อาจจะลำบาก แต่ถ้าทุกคนช่วยกันไม่นานวิกฤตก็จบ”

ปิดท้ายด้วยลิลลี่-วรีรัตน์ อุดมคุณธรรม กรรมการผู้จัดการบุราส่าหรี กรุ๊ป มีโรงแรมทั้งในภูเก็ตและลาว ซึ่งได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน แต่นอกจากจะไม่มีการลดเงินเดือนพนักงาน และ ไม่ปลดพนักงานออกทั้งในไทยเเละลาว พร้อมขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนหยุดอยู่บ้าน เพื่อช่วยสังคมในการลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อ เธอยังเดินหน้าหลากหลายแคมเปญเพื่อร่วมผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

เริ่มจากแคมเปญ We care for our community ช่วยเหลือคนตกงาน คนชราเเละผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการจัดทำอาหารกล่องคุณภาพระดับโรงเเรม ขายในราคาต้นทุนเพียง 24 บาท ทั้งในไทยเเละลาว นอกจากนี้ยังนำ 25% ของราคาขายอาหารจากร้าน เซเว่น เฮเวน บาย บุราส่าหรีของโรงเเรมลา เเซน โฮเต็ล บาย บุราส่าหรี ที่เมืองเวียนเทียน ของลาวไปซื้อเครื่องช่วยหายใจ เเละอุปกรณ์ทางการเเพทย์มอบให้เเก่โรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรงเเรม บุราส่าหรี เฮอริเทจ หลวงพระบาง ยังเริ่มต้นปลูกเเละจัดตั้งแปลงผักเพื่อให้ชาวเขาเเละประชาชนชาวลาวสามารถเก็บทานได้ฟรี ตั้งเเต่วันที่ 25 เม.ย.เป็นต้นไป

“เพื่อสร้างกำลังใจให้พนักงาน เรายังมีเเคมเปญ I Challenge U ให้พนักงานได้ใช้เวลาในวันหยุดนี้เพื่อพัฒนาเเละปรับปรุงตนเอง โดยพนักงานคนใดที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ลดน้ำหนักได้ จบคอร์สฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆของบริษัทได้เร็วที่สุด หรือเเม้เเต่การใช้เวลาว่างในการเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมเป็นภาษาที่ 2 หรือ3 เเละสอบผ่านขั้น Intermediate ก็จะมีรางวัลพิเศษให้เก่พนักงานอีกด้วย” ทั้งหมดนี้ คือ หลากหลายเสียงของเจ้าของกิจการที่อยู่ในธุรกิจโรงแรม ถึงทุกคนจะได้รับผลกระทบสาหัสไม่แพ้กัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนย้ำคือ จะดูแลพนักงานอย่างดีที่สุด เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปให้ได้

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0