โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เสวนา กู้วิกฤติโควิด จับตา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ต้องโปร่งใส เป็นธรรม

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 28 พ.ค. 2563 เวลา 09.13 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 09.13 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

วงเสวนาถกปัญหากู้วิกฤติโควิด จับตา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ฟื้นฟูต้องโปร่งใส เป็นธรรม จัดสรรงบลงทุกจังหวัดอย่างเท่าเทียม เยียวยาทุกกลุ่ม หนุนลดค่าเทอมทุกระดับ ยกระดับพึ่งพาตนเอง-สร้างแหล่งอาหารมั่นคง 

วันที่ 28 พ.ค. ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพ (The HALLS Bangkok) ในเวทีเสวนา “จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม” จัดโดย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โรคระบาดโควิด-19 ได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนให้ความสำคัญ โชคดีที่ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ค่อนข้างเข้มแข็งทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าในหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูสีกัน แต่ระหว่างนี้ และหลังจากผ่านการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ คือ ผลกระทบจากการปิดเมือง ที่ทำให้เกิดโจทย์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ในระยะสั้นหลายธุรกิจถูกคำสั่งปิด มีคนเดือดร้อนจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในระยะยาว ต่อให้เปิดเมืองแล้วกำลังซื้อ ก็อาจจะยังไม่กลับมาโดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งคาดว่า จะหายไปมากจนทำให้คนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการต่างๆ ขาดรายได้ 

“ภาพที่ทุกคนอยากเห็นก็คือการรักษาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งต่อไป ซึ่งหมายความว่า รัฐจะต้องลงทุนงบประมาณไปกับระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรด้านการเงินของรัฐมีน้อยลง เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ รัฐได้ใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก ประมาณการดูคาดว่า ใช้ไปเกือบ 10% ของจีดีพี ภายในปีเดียว ยังไม่นับการใช้เงินก้อนใหญ่ เพื่อจัดการกับปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทยที่เข้าสู่การฟื้นฟูฯ ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งทบทวนก็คือ การจัดสรรการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น ต้องลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง และดึงเงินกลับมาจัดสรรใหม่” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบมากที่สุด ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะภัยคุกคามไม่ใช่การสู้รบกันระหว่างประเทศ ตอนนี้กำลังสู้กับเชื้อโรค สู้กับปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องจัดสรรงบประมาณ มาลงด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม และคงต้องช่วยกลุ่มคนยากจน กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ยากที่สุดก่อน เพราะก่อนที่จะเกิดวิกฤติก็อยู่ในภาวะปริ่มน้ำอยู่แล้ว พอเกิดวิกฤติเข้ามากระทบก็เรียกได้ว่า ล้มทั้งยืน คนเหล่านี้ควรจะเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลในการช่วยเหลือ

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นทางที่จะต้องทำและประเทศไทยโชคดี ที่อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถกู้เงินและใช้เงินในระดับประมาณ 10% ของจีดีพีได้ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ เชื่อว่า คนไทยไม่ติดใจเรื่องการกู้เงินฉุกเฉินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหาคือจะจัดสรรอย่างไรให้เม็ดเงินถูกใช้ไปกับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องและได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ที่ผ่านมาประเทศไทย ทำได้แค่พอใช้ แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก เห็นตัวอย่างได้จากมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือน ซึ่งพบปัญหาเยอะ และรัฐบาลยังประมาณการขนาดของปัญหาไม่ถูก ซึ่งคิดว่า สิ่งที่คนอยากจะรู้ก็คือ เราจะรอดจากภาวะก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร ตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด หลังการระบาดของโควิด-19 ยังมีโจทย์ให้คิดอีกเยอะและต้องประมาณการไปถึงปี 2565 เพราะเรายังจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี

"ผมคิดว่า รัฐบาลควรจะส่งสัญญาณออกมาชัดเลยว่า จะเอาอย่างไร เพราะจะทำให้คนในภาคธุรกิจนั้นๆ ได้มีโอกาสปรับตัว ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง พูดชัดๆ ว่า จะไม่ให้เปิดภายในหนึ่งถึงสองปี คนที่ทำงานในสาขานี้ เขาจะได้ไปหางานใหม่ถ้ารัฐบาลไม่พูดให้ชัด และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสุดท้ายคนก็จะรอเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเปิดได้ตรงนี้จะทำให้คนปรับตัวได้ยาก นี่คือเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือต้องส่งสัญญาณกันให้ถูก" ดร.สมเกียรติ กล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคช่วงโควิด-19 มากที่สุด คือ กลุ่มที่ตกงาน ผู้พิการ ตนมองว่า ในระบบสวัสดิการของรัฐควรให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า คือบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรืออายุ 18 ปี ขึ้นไปต้องได้รับความช่วยเหลือทุกคน ซึ่งหากรัฐนำตัวเลขข้าราชการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้ามาช่วยคัดกรองจะทำให้ได้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

“คนที่ตกงานจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา หากพ่อแม่ที่สูงอายุได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท สองคนรวมกัน 6,000 บาท เมื่อลูกตกงานกลับมาเงินจำนวนนี้ยังสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ แต่ในความเป็นจริงเงินที่ผู้สูงอายุได้เฉลี่ยวันละ 20 บาท ซึ่งมันไม่พอใช้ ส่วนผู้พิการได้รับคนละ 1,000 บาท คุณคิดว่าผู้พิการไม่ได้รับผลกระทบหรืออย่างไร หรือคนพิการไม่ได้ตกงานหรือไม่ ซึ่งต้องจับตางบประมาณที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทจะถูกนำไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งไม่อยากเห็นการใช้เงินที่เป็นคำสั่งจากกระทรวงไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ควร จัดสรรเงินให้กับทุกจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเป็นคนบริหารจัดการ โดยมีองค์กรทุกภาคส่วนคอยติดตามการใช้จ่ายเงิน ให้ทุกจังหวัดได้ใช้งบประมาณนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านอื่นๆ อย่างเป็นอิสระ เพื่อให้เห็นการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม และเงินส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปช่วยเหลือประชาชนอีกครั้ง” นางสาวสารี กล่าว

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด วัยทำงานกว่า 7 ล้านคนถูกเลิกจ้าง จริงๆ ตัวเลขอาจมีมากกว่านี้ นอกจากนี้หลายบริษัทใช้วิธีลดต้นทุน ลดชั่วโมงการทำงาน ลดเงินเดือน ไม่มีโอที บางบริษัทให้ทำงานเดือนละ 15 วัน ปัญหาของคนทุกกลุ่มคล้ายกัน แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่โดนหนัก ไม่มีเงินเก็บ ไร้งาน ไร้สวัสดิการ ไร้การเยียวยา ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเทอมลูก และวิฤกติครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ เช่น เคสที่มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิ หลายรายถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เคสนายจ้างมอมเหล้าแล้วข่มขืน หรือกรณีผู้หญิงต้องออกไปทำงานก่อสร้างรายวัน ซึ่งเขาไม่มีทางเลือก สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

“ต้องจับตาการกู้เงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาใช้แก้ปัญหากู้วิกฤตโควิด หวังว่า จะนำมาจัดสรรฟื้นฟูเยียวยาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ตกหล่น ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ อย่าตรวจสอบสิทธิเพียงแค่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น ควรทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างสวัสดิการ สร้างเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีมาตรการลดค่าเทอม ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทุกระดับชั้น มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำหรับคนกลุ่มเปราะบาง เพราะลำพังสายด่วน1300 คงไม่เพียงพอ ในช่วงโควิดองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากได้เข้าไปมีบทบาท ช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นเหมือนตาข่ายรองรับส่วนที่หลุดออกจากระบบ หลายองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ รวมถึง สสส.ได้ปรับบทบาทตัวเองเข้าไปทำงานช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในช่วงโควิด แม้จะประสบความยากลำบาก ซึ่งภาครัฐอาจกำหนดกลไกช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” นายจะเด็จ กล่าว

ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความมั่นคงทางอาหารชัดเจน ระหว่างช่วงล็อกดาวน์ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือยากจนทั้งในเมืองและชนบท จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่มีฐานะปกติทั่วไป จากข้อมูล พบว่า มีคนยากจนประมาณ 70 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลกและในคนกลุ่มนี้มี ค่าใช้จ่ายทางด้านอาหาร เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด พอเกิดกรณีล็อกดาวน์ คนก็ตกงาน เดินทางไปไหนไม่ได้ ผลกระทบ คือคนยากจนไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ขาดโภชนาการที่ดี ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

“ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารเพียงพอ สิ่งที่เห็นความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ผ่านมาคือ การแจกถุงยังชีพ ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หมักดอง ที่มีข้อจำกัดทางด้านสารอาหาร ขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆ ต้องผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ ทำให้ความช่วยเหลือมีข้อจำกัด ตกหล่น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านอาหาร ต้องยกระดับให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้รู้จักปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับคนที่มีที่ดินทำกิน หรืออยู่ในพื้นที่จำกัด ส่งเสริมการปลูกผักในเมือง รัฐควรเข้ามาดูและพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ โดยมีชุมชนหรือเครือข่ายเป็นตัวเชื่อมโยง” นายวิฑูรย์ กล่าว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0