โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เสนอรมว.คลังวันนี้ 'ทหารไทย' ควบ 'ธนชาต' สินทรัพย์ 1.8 ล้านล้าน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Financials

เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 01.45 น.

"ไอเอ็นจี"ควง "ธนชาต-สโกเทีย" พบรมว.คลังเสนอแผนควบรวมกิจการ "ทหารไทย-ธนชาต" วันนี้ เตรียมเพิ่มทุนครั้งใหญ่ให้สิทธิไอเอ็นจีถือหุ้นมากสุด 25% พร้อมกุมอำนาจการบริหารเต็มตัว ส่วน "บันเทิง-ศุภเดช-ปิติ" ลดบทบาทเหลือแค่กรรมการ เร่งควบรวมให้เสร็จก่อนสิ้นปีหน้า ยันไม่เอาคนออก

วันนี้ (19ธ.ค.) ไอเอ็นจีแบงก์ ธนาคารธนชาต ธนาคารโนวาสโกเทีย และ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะเข้าพบนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรายงานความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และ ธนาคารธนชาต ที่ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนที่ทั้ง 4 ฝ่ายหารือร่วมกันมาแล้วระยะหนึ่งจะเป็นการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) ระหว่างธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) และธนาคารธนชาต บริษัทในเครือทุนธนชาต โดยจะใช้วิธีการเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย โดยไอเอ็นจีแบงก์ จะถือหุ้นมากที่สุดมากกว่า 20% แต่ไม่เกิน 25% ธนาคารธนชาต ถือหุ้น 20% กระทรวงการคลังถือต่ำกว่า 20% และ สโกเทีย ถือหุ้นน้อยที่สุด

"มีการคุยกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นการคุยแบบต่างฝ่ายคุยกัน จนเมื่อวานนี้คิดว่าได้ข้อสรุปในเบื้องต้น มีการร่างข้อตกลงที่ทุกฝ่ายจะต้องเซ็นเป็นบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ร่วมกันว่าจะควบรวมกิจการระหว่างทหารไทยและธนชาต และนำไปรายงานให้ท่านรัฐมนตรีฯได้รับทราบ"

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันนี้ ผู้บริหารไอเอ็นจีแบงก์ และสโกเทีย จะเดินทางมาจากเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ฝ่ายธนชาต นำโดยนายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ประธานกรรมการบริหาร บริษัททุนธนชาต

เร่งควบให้เสร็จก่อนหมดสิทธิภาษี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นของการควบรวมกิจการมีขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นภาษีสำหรับการควบรวมกิจการสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2561 จึงได้เรียกสโกเทีย มาหารืออย่างจริงจัง และต่างฝ่ายก็มีการหารือร่วมกันตลอด จนนำมาซึ่งข้อตกลงที่จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันนี้

"เราคุยกันตลอด ทุกฝ่ายได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีคลัง คุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คุยกับสคร. แต่วันนี้(19ธ.ค.) จะเป็นวันที่ทุกฝ่าย ทุกปาร์ตี้เข้าพบพร้อมกัน"

ทั้งนี้หลังจากเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ขั้นตอนต่อไปทั้ง 4 ฝ่ายจะต้องไปเร่งกระบวนการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2562 เพื่อให้ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีการควบรวมกิจการ ที่จะหมดอายุในสิ้นปี 2562

ตามมติครม.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประโยชน์จากการควบ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และภาษีสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน เป็นต้น

สำหรับราคาซื้อขายรวมทั้งราคาหุ้นที่จะเพิ่มทุน ณ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาจึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ทหารไทยยังรั้งเบอร์ 6 หลังควบ

ธนาคารทหารไทย มีทุนจดทะเบียน 41,903,301,555 บาท คิดเป็นหุ้นจดทะเบียน 43,851,893,110 หุ้น ราคาพาร์ 0.95 บาท ณ วันที่ 24 เม.ย. 2561 กระทรวงการคลังถือหุ้น อันดับ 1 จำนวน 11,364,282,005 หุ้น หรือ 25.92% อันดับ 2 คือ ING BANK N.V. ถือ 10,970,893,359 หุ้น หรือ 25.02% และ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 5 ,043,971,032 หุ้น หรือ 11.50% ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย

ฐานะการเงินงวดล่าสุด 30 ก.ย.2561 มีสินทรัพย์ 873,172 ล้านบาท สินเชื่อ 635,908 ล้านบาท เงินฝาก 638,863 ล้านบาท เงินกองทุน 17.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 2.69% ส่วนผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิ 9,900 ล้านบาท รายได้ 36,556 ล้านบาท

ส่วนธนาคารธนชาต มีทุนจดทะเบียน 99,136 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 9,913 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท มีบริษัททุนธนชาต ถือหุ้นใหญ่ 50.96% และธนาคารสโกเทีย จากแคนาดา ถือหุ้น 48.99%

ฐานะการเงินงวดล่าสุด 30 ก.ย.2561 มีสินทรัพย์ 1.001 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 735,960 ล้านบาท เงินฝาก 700,386 ล้านบาท เงินกองทุน 15.30% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 2.06% ส่วนผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิ 11,687 ล้านบาท มีรายได้รวม 43,460 ล้านบาท

ภายหลังการควบรวมกิจการ หากนับถึงงวดไตรมาสที่ 3 จะทำให้ธนาคารแห่งใหม่ มีสินทรัพย์รวมราว 1.87 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 1.37 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรวม 1.33 ล้านล้านบาท ในแง่สินทรัพย์ ยังคงอยู่อันดับ 6 แต่ขยับเข้าใกล้อันดับ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มีสินทรัพย์ 2.09 ล้านล้านบาท

หาทางออกธุรกิจซ้ำซ้อน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกันของทั้ง 2 แห่งต้องมีการดำเนินการ ซึ่งจะมีผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นด้วย เช่นกรณีธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่ทหารไทยมี ซึ่งได้ขายออกไปแล้ว 50% ส่วนธนชาต มี บลจ.ธนชาต จะต้องขายออกไปหรือไม่ หรือว่า เก็บไว้ ส่วนธนชาตที่มีธุรกิจประกันชีวิต ขณะที่ทหารไทยไม่มี เป็นรายละเอียดที่ต้องจัดการภายหลังจากที่ได้ข้อตกลงร่วมกัน

ธุรกิจในเครือธนาคารธนชาติ ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งค้าหุ้นอันดับ 4 ของระบบ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(เอยูเอ็ม) 2.37 แสนล้านบาท บริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเบี้ยประกันภัยรับงวด 9 เดือนแรกปีนี้ 5,783 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี บริษัทบริหารสินทรัพย์ทีเอส จำกัด ทำธุรกิจบริหารหนี้ตามนโยบายและแผนธุรกิจของกลุ่มธนชาต และบริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งธนาคารธนชาตถือหุ้นใหญ่ 65.18% ทำธุรกิจเช่าซื้อ พอร์ตสินเชื่อ ณ 30 ก.ย.2561 จำนวน 45,748 ล้านบาท

ส่วนทหารไทยมีธุรกิจการบริหารจัดการสินทรัพย์ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ถือหุ้น 100% ธุรกิจการบริหารและจัดการกองทุนรวม ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด ต่อมาขายให้ พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย หรือ PCAL จำนวน 65% เหลือถือ 35%

"ไอเอ็นจี"บริหาร-ไม่เอาคนออก

แหล่งข่าวกล่าวว่าในส่วนของการบริหารธนาคารใหม่นั้น จะให้สิทธิแก่ไอเอ็นจีแบงก์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจะได้ตำแหน่งประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆจะได้ตำแหน่งกรรมการ และรองประธานกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้น

ขณะที่การดูแลพนักงานของทั้ง 2 ธนาคารนั้น จะไม่มีการเอาคนออกแม้จะมีซ้ำซ้อน รวมถึงสาขาด้วย การปฏิบัติต่อพนักงานจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

"คุณบันเทิง ก็มีความเป็นห่วงหากมีข่าวการควบรวมกิจการออกไป อาจจะมี Panic จากพนักงานได้ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติมีมตราการดูแลอยู่แล้ว มีการกำหนดอยู่แล้วว่า หากเอาพนักงานออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด"

ปัจจุบัน ธนาคารธนชาตมีพนักงานจำนวน 13,702 คน ส่วนธนาคารทหารไทย มีพนักงาน 8,446 คน

ลุ้น รมว.คลังชี้ขาดการควบรวม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทั้ง 2 ธนาคารน่าจะได้ข้อยุติแล้วว่าจะดำเนินการควบรวมกันอย่างไร หลังจากที่หารือร่วมกันมาต่อเนื่อง เพียงแต่ข้อสรุปที่ได้ยังต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้ามาหารือกับกระทรวงการคลังหลายครั้งแล้ว แต่ยังมีบางประเด็นที่ รมว.คลัง ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดเรื่องบริษัทย่อยของทั้ง 2 ธนาคารว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

"เขาอาจจะได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ข้อยุติในระดับนโยบายเพราะต้องรอให้ท่านรมว.คลังเห็นชอบด้วย การหารือในวันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า รมว.คลัง เอาด้วยหรือไม่ เพราะถ้าควบรวมแล้วกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ประโยชน์อย่างนี้ก็คงไม่เอา"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0