โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ? : คำสาปของความรู้ และทางไปสู่ศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา

The MATTER

อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 02.22 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 02.07 น. • Pulse

ในช่วงที่ผ่านมา วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยได้รับความสนใจน้อยลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่บัณฑิตจบใหม่ด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนหางานทำไม่ค่อยได้ รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตที่นักเรียนจะไปสนใจในสาขาวิชาที่หางานได้ง่ายกว่า จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะในภาคเอกชน ต่างพากันปิดคณะเศรษฐศาสตร์ จนเกิดเป็นคำถามใหญ่ ๆ ว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้วหรือยัง?”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายท่านออกมายืนยันว่า “เศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย” และยังจะมีชีวิตชีวามากขึ้นในอนาคต แต่คำกล่าวที่ว่าอาจจะถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะพูดให้ชัดเจน สิ่งที่ยังไม่ตาย คือ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ (Idea of Economics) ต่างหาก

ต้นแบบความคิด หรือ idea ที่พูดคือต้นแบบความคิดในความหมายเดียวกันกับที่ อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญายุครู้แจ้งเคยอธิบายไว้ ต้นแบบแนวคิดเป็นเครื่องชี้นำว่าเราควรจะไปที่ไหน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าควรไปอย่างไร เพราะวิธีการมีได้หลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละคน ต้นแบบความคิดจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนทางปัญญา (intellectual representation) มากกว่าเครื่องมือเพื่อการปฏิบัติ (practical tool)

แล้วปลายทางของ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ อยู่ที่ไหน?

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อมาตยา เซน เคยหยิบยกข้อสังเกตสำคัญผ่านการศึกษางานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยผู้บุกเบิกอย่างวิลเลียม เพตตี้  จนถึงอดัม สมิธ และคาร์ล มาร์กซ์ ว่าแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่งานเหล่านี้มีร่วมกันคือ เป้าหมายใน “การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน” (the enhancement of living conditions) ซึ่งเราก็สามารถตีความได้ว่า นี่แหละคือ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ และต้นแบบความคิดนี้ก็จะยังคงอยู่เสมอตราบที่ยังมี ‘ผู้คน’

แต่ว่าจนถึงจุดนี้ แม้ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์จะยังคงอยู่ แต่ความพยายามในปัจจุบันที่จะทำให้เป้าหมายของเศรษฐศาสตร์เป็นจริงนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป  ความพยายามที่พูดถึง คือ กระบวนทัศน์หนึ่ง ๆ  (paradigm) ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามแนวคิดของบุคคลเพื่อนำเสนอวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ต้นแบบความคิดนั้นเป็นจริง ดังนั้น เวลาเราได้ยินคำว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว” เราจึงตีความได้ว่าสิ่งที่ตายไม่ใช่ตัว ‘ต้นแบบแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ แต่เป็นกระบวนทัศน์ในปัจจุบัน หรือ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่’ (economics as it is) ต่างหากที่ตาย

แต่การที่กระบวนทัศน์ในปัจจุบันใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสิ้นหวังไปซะทีเดียว เพราะถ้ากระบวนทัศน์ถูกสร้างมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เราก็ไม่สามารถเข้าใจกระบวนทัศน์ใดๆ ในฐานะองค์รวม (totality) ได้ เพราะกระบวนทัศน์แต่ละชุดมักนำเสนอวิธีการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งใด พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนทัศน์ในปัจจุบันเป็นแค่หนึ่งในกระบวนทัศน์จากทั้งหมดที่เป็นไปได้ (a paradigm of all possible paradigms) และถ้ามีกระบวนทัศน์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ก็เป็นไปได้และจำเป็นต้องทำเช่นกัน

พอรู้แล้วว่าสิ่งที่ตายคือกระบวนทัศน์ในปัจจุบันหรือเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ ประเด็นที่ต้องคิดต่อไปคือ อะไรล่ะที่ฆ่าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่? ข้อเสนอที่อยากจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ตายเพราะความรู้เศรษฐศาสตร์ของมันเอง เหมือนกับที่หมองูต้องตายเพราะงูเพราะ “ความรู้คืออำนาจ” (Knowledge is power.)

ศาตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับประโยคดังกล่าวไว้ผ่านการเปรียบเทียบข้อเสนอว่าด้วย ‘ความรู้’ ของนักคิดคนสำคัญสองคน คือ ฟรานซิส เบคอน (ค.ศ. 1561-1626) นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญายุคสมัยใหม่ และมิเชล ฟูโกต์ (ค.ศ. 1926-1984) นักคิดและนักปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ผู้โด่งดัง อาจารย์เกษียรเห็นว่า ความรู้ที่เรามักเข้าใจกันโดยเท่าไปนั้นเป็นความรู้ในความหมายของเบคอนซึ่งแปลว่า ความรู้คืออำนาจเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนกุญแจที่สามารถปลดล็อกความเป็นไปได้ไม่รู้จบผ่านการประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ในขณะที่สำหรับฟูโกต์นั้น “ความรู้คืออำนาจที่เข้ามาครอบงำเหนือผู้รู้” (Knowledge is the power over the knower.) ซึ่งหมายความว่า ความรู้เมื่อได้รู้แล้วก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและตีกรอบตัวตนของผู้รู้ให้เป็น ‘นัก…’ โดยทันที อย่างในที่นี้ ถ้าคุณรู้เศรษฐศาสตร์ คุณก็จะกลายเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ไปโดยปริยาย

ปัญหาของการที่ความรู้ครอบงำเหนือผู้รู้อยู่ตรงที่ มันทำให้ผู้รู้หยุดที่จะคิด เพราะพอความรู้เป็นนายเรา เราจึงยอมทำตามมันโดยไม่ตั้งคำถามต่อตัวความรู้และเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันต้องถูกต้องสมบูรณ์ (เหมือนกับประโยคคุ้นหูในสังคมไทยที่ว่า “ได้ครับพี่…ดีครับผม…เหมาะสมครับท่าน”) และสิ่งที่ตามมาจากการหยุดที่จะคิดคือ ศักยภาพทางปัญญาของผู้รู้ที่หยุดอยู่ที่เดิมและค่อยๆ สึกกร่อนไปตามกาลเวลา จนในท้ายที่สุดก็ไม่เหลืออะไร หรือถ้าเหลือ ก็เหลือเท่าเดิม ไม่มีอะไรเพิ่มมาใหม่ ดังนั้น  หากอิงจากคำอธิบายของอาจารย์เกษียรแล้ว เราจึงอาจพูดได้ว่า ความรู้ในความหมายของฟูโกต์นี่เองที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ตายลง

ว่าแต่ ‘ความรู้’ ฆ่าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ ความรู้ฆ่าเศรษฐศาสตร์ได้ด้วยการที่ความรู้นั้นพยายามยึดหลักของวิทยาศาสตร์ทั้งๆ ที่มันไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เลย

กระบวนทัศน์ของเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันถือเป็นความพยายามหนึ่งที่จะทำให้ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ (หรือ การยกระดับชีวิตของผู้คน) เป็นจริงโดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ จนเป็นเหมือนหับ ‘ฟิสิกส์สังคม’ (social physics) ซึ่งสังเกตได้จากการพยายาม ‘เสก’ แบบจำลองทางเศรษฐกิจต่างๆ (models) ที่ดูทันสมัยคู่กันไปกับการใช้สมการทางคณิตศาสตร์เพื่อทำให้เกิด “ประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด” ตามวิธีคิดแบบประโยชน์นิยม (utilitarianism) เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่จึงได้เปรียบด้าน ‘ความน่าศรัทธาเลื่อมใส’ ผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่กล้าตั้งคำถามกับมัน เพราะทุกอย่างอิงจากวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล แถมยังจับต้องได้ด้วยแบบจำลองและมีตัวเลขต่างๆ มารองรับชัดเจน หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ “ก็มันถูกพิสูจน์มาแบบนี้ มันก็น่าจะต้องจริงแหละ”

เศรษฐศาสตร์ในแบบปัจจุบัน จึงสามารถขยายขอบเขตของวิชาจากเพียงแค่การศึกษาหนทางในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิด ‘ประโยชน์สูงสุด’ ต่อส่วนรวม เช่น จะผลิตอะไร กระจายรายได้อย่างไร แล้วจะพัฒนาแบบไหน เงินฝืดเงินเฟ้อจะแก้อย่างไร ฯลฯ ไปสู่การศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ด้วย  แกรี่ เบ็คเกอร์ (ค.ศ. 1930-2014) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดังจากสำนักชิคาโก ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทุกการตัดสินใจของคนเรามักตั้งอยู่บนฐานของการคำนวณหาประโยชน์ที่ได้รับเสมอ ซึ่งหากทุกอย่างถูกนำมาคิดคำนวณได้ ทุกอย่างก็ย่อมมี ‘มูลค่า’ หรือ ‘ตัวเลขแสดงผลตอบแทน’ ที่ชัดเจนในตัวมันเองเช่นกัน ถ้าคำนวณแล้ว การกระทำใดให้ประโยชน์สูงสุด การกระทำนั้นแหละคือการกระทำที่ดีที่สุดที่เราจะเลือกทำ

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว อะไรคือ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ที่ผู้รู้เศรษฐศาสตร์กำลังมองหา? และคนเราต้องการแต่เพียง ‘ประโยชน์สูงสุด’ เท่านั้นจริงๆ รึเปล่า? ไมเคิล แซนเดล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและเจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Justice: What's the Right Thing to Do? (ค.ศ. 2008) ตอบว่า จริงๆ แล้วคนเราไม่ได้ต้องการเพียงประโยชน์สูงสุดเพียงอย่างเดียว แซนเดลยกตัวอย่างไว้ว่า ในวันหนึ่ง มีรถรางเบรกแตกกำลังไถลลงมาจากบนเนินสูงอย่างเร็ว ถ้าหากคุณอยู่บนนั้นและไม่ทำอะไรเลย รถรางจะพุ่งเข้าชนคนจำนวนมากที่อยู่ข้างล่าง แต่ถ้าหากคุณเลือกที่จะหักหลบไปข้างทาง รถรางก็จะชนคนเพียงคนเดียว ดังนั้น หากรู้แบบนี้แล้ว คุณจะเลือกช่วยใคร?

แน่นอน ถ้าตอบตามมุมของเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ที่เน้น ‘ประโยชน์สูงสุด’ เราก็คงเลือกที่จะเสียคนส่วนน้อยเพื่อช่วยคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์นิดหน่อย สมมติถ้าคนที่ยืนอยู่ข้างทางคนเดียวเป็นใครสักคนที่คุณรัก อาจจะเป็นคุณพ่อ หรือคุณแม่ คำถามคือ คุณจะยังต้องการ ‘บูชายัญ’ คนส่วนน้อยเพื่อ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ของคนส่วนใหญ่หรือเปล่า?

แม้แต่ในเรื่องความรักเอง ก็มี ‘ผู้รู้’ พยายามจะใช้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ไปอธิบาย แต่การพยายามบอกว่า คนเรารักใครเพราะต้องการแค่ ‘ประโยชน์’ หรือ ‘ความพึงพอใจ’ เพียงอย่างเดียวก็เป็นการลดทอนคุณค่าที่แท้จริงของความรักไปในตัว เพราะเป็นแบบนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถ ‘รัก’ ใครจริงๆ ได้เลย เราจะ ‘เลือก’ และ ‘เปลี่ยน’ ความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรจากการใช้สินค้าแล้วทิ้ง เพื่อแสวงหาแต่ ‘ประโยชน์สูงสุด’

หรือถ้าเป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น ก็คือ เรื่องของการพัฒนาประเทศ อย่างในกรณีการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะออกมาสนับสนุนเพราะได้คำนวณแล้วเรียบร้อยว่ามันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยไม่สนใจเลยว่าโครงการเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่นแค่ไหนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร

ถ้าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นผ่านการเพิ่มประโยชน์ให้สูงสุดให้กับคนส่วนใหญ่ เท่ากับว่า เราต้องยอม ‘บูชายัญ’ คนส่วนน้อยไปเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเสมอ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ ถ้าคนส่วนน้อย หรือ the minority ต้องยอมถูกสังเวยเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม หมายความว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของคนส่วนน้อย (the minority of one) หรือปัจเจกบุคคล ก็ต้องถูกสังเวยไปด้วย แต่เราทุกคนล้วนเป็นปัจเจกบุคคลกันไม่ใช่เหรอ? ภายใต้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ หากเราขัดกับประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเมื่อไหร่ เราก็สามารถถูกลืมได้ทุกเมื่อ และที่น่าเศร้าที่สุดคือ จะไม่มี ‘ผู้รู้’ คนไหนคิดที่จะช่วยเราเลยเพราะพวกเขาต่างเชื่ออย่างสนิทใจไปแล้วว่าทุกสิ่งที่ถูกคำนวณและพิสูจน์ออกมานั้น มันถูกต้องที่สุด!

แล้วแบบนี้ใครจะปลอดภัยได้ ตราบที่เรายังต้องการประโยชน์สูงสุดให้ส่วนรวม?

ปัญหาของเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่จึงอยู่ตรงที่ว่า มัน ‘เคร่งครัดในวินัย’ มากเกินไปจนสูญเสียความสามารถในการอธิบายสภาพความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนของมนุษย์และสังคมซึ่งไม่สามารถ ‘ร่ายมนต์’ ให้ออกมาเป็นเพียงแค่แบบจำลองหรือตัวเลข พูดอีกอย่างคือ เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ก็ดูจะเป็นเหมือนการ ‘ดัดจริตวิทยาศาสตร์’ (scienticist pretension) เพื่อขายแนวคิดเรื่อง ‘ประโยชน์สูงสุด’ เท่านั้น เพราะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว แม้จะดูเหมือนทันสมัย มีตรรกะเหตุผล และจับต้องได้ แต่มันก็ไม่ต่างอะไรเลยจากลัทธิหรือศาสนาที่บูชาและห้ามตั้งคำถามต่อ ‘ประโยชน์สูงสุด’

หากถูก ‘ความรู้’ ครอบงำอย่างสมบูรณ์ มนุษย์เศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถมองเห็นอะไรเลยนอกจาก ‘ประโยชน์’ และมันหมายความว่า พวกเขาได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปหมดแล้ว เสียความสามารถที่จะรัก เสียความรู้สึกที่จะเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เสียความต้องการในความยุติธรรม เสียความเป็นไปได้ที่จะมองเห็นคุณค่าอื่นๆ ในชีวิต เพราะเหลือเพียงอย่างเดียวคือ การใฝ่หา ‘ประโยชน์สูงสุด’

นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมในสังคมปัจจุบันที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ‘ผู้รู้เศรษฐศาสตร์’ จึงถูกแทนที่ได้ง่าย จนดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Sea Limited ถึงกับใช้คำว่า “ใกล้สูญพันธ์”  ปัญหามันอยู่ตรงที่ ‘ความรู้’ นี่แหละที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ถูกแทนที่ได้ง่าย เพราะเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้สอนให้คนเป็น ‘คน’ แต่พยายามเปลี่ยนคนให้เป็น ‘เครื่องผลิตอรรถประโยชน์เดินได้’ นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกความรู้ครอบงำจนไม่สามารถเห็นขีดจำกัดของความรู้ จึงถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่มีผลิตภาพมากกว่าในที่สุด

ดังนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์ตายเพราะ ‘ความรู้เศรษฐศาสตร์’ สิ่งที่จะช่วยเศรษฐศาสตร์ได้ก็คือ ‘ความไม่รู้เศรษฐศาสตร์’ อาจารย์เกษียรเคยสังเคราะห์ข้อคิดจากการศึกษางานของ ศาตราจารย์.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสาธารณะของไทย เรื่อง ‘ความ(ไม่)รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์’ (2555) ว่า ข้อดีของความไม่รู้คือ การไม่ถูกครอบงำโดยความรู้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าความรู้ทำให้ผู้รู้เชื่อและเชื่อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรู้นั้นมีวิทยาศาสตร์ที่ดูทันสมัย พิสูจน์ได้ และมีตรรกะเหตุผลเข้ามาช่วย) ผู้รู้จึงทำตามมันอย่างไม่ตั้งคำถาม ในขณะที่ ‘ผู้ไม่รู้’ มักสงสัยไปต่างๆ นานา และในหลายๆ ครั้ง ‘ผู้ไม่รู้’ มักตั้งคำถามที่ปกติ ‘ผู้รู้’ จะไม่ถามกัน เพราะถือว่าถูกต้องชอบธรรมอยู่แล้ว

เช่น ทำไมเราถึงต้องการประโยชน์สูงสุด? แบบจำลองและสมการต่างๆ อธิบายได้ทุกอย่างจริงรึเปล่า? การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นแค่ไหน? แรงงานไร้ฝีมือที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร? และถ้าไม่มีค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการทางสังคมเพราะกลัวเงินเฟ้อแล้ว พวกเขาจะอยู่กันได้ไหม?

ประเด็นสำคัญของ ‘ความไม่รู้เศรษฐศาสตร์’ จึงอยู่ตรงที่ว่า ‘เราจะรู้เศรษฐศาสตร์อย่างไรโดยไม่ถูกความรู้เศรษฐศาสตร์ครอบงำ’

และเพื่อที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ เศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากในแบบปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง

กระบวนทัศน์ใหม่ของ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ (economics as it should be) ต้องลดความพยายามเป็นวิทยาศาสตร์ลง และต้องเน้นความเป็นศิลป์ หรือเพิ่มการเรียนการสอนด้านมนุษยศาสตร์ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เราเลือกใช้แบบจำลองเป็น แต่เพื่อให้เราคิดเองเป็นโดยไม่ต้องพึ่งแบบจำลองตลอดเวลา เพราะคำถามหนึ่งๆ นั้นมีวิธีการตอบที่ต่างกันได้ร้อยแปด วิทยาศาสตร์เป็นเหมือน ‘แว่น’ ที่ทำให้เราเห็นโลกชัดเจน เพราะมันจับต้องได้ พิสูจน์ได้ และมีเหตุผลรองรับ แต่ในบางครั้ง เราต้องกล้าที่จะถอดแว่นด้วย จริงอยู่ เราอาจเห็นอะไรต่างๆ ไม่ชัดเหมือนตอนใส่แว่น แต่เราก็ได้ใช้จินตนาการเข้ามาช่วยในการเดาว่า “ภาพเบลอๆ ข้างหน้าเราเนี่ย มันควรจะเป็นอะไรกันแน่”

อาจารย์นิธิเคยฝากข้อคิดไว้ว่า ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานและคนทำงานวิชาชีพ การศึกษามนุษยศาสตร์จำเป็นมาก เพราะมันทำให้เราฝัน มันทำให้เรามีจินตนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้

และยังเสริมอีกว่า ถึงการเน้นความเป็นศาสตร์แขนงเดียวจะทำให้เรารู้ลึก แต่มันไม่ได้ทำให้เรารู้จริง มันเป็นเหมือนการสอนให้เรามองเห็นฟ้าได้แค่ขนาดเหรียญสลึง ถ้าจะประยุกต์ใช้จากข้อคิดในตรงนี้ เราก็อาจพูดได้ว่า ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ ต้องเน้นการวิเคราะห์และวิพากษ์ที่เป็นองค์รวมมากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการอธิบายโลกอันซับซ้อนกว่าเดิมได้ และดังนั้น อีกองค์ประกอบที่สำคัญของ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ จึงเป็นการเพิ่มความรู้จากศาสตร์แขนงอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมและมานุษยวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ที่ดีจะต้องไม่มองเห็นแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว พวกเขาต้องมองให้เห็นการเมือง สังคม และวัฒนธรรมด้วย และที่สำคัญที่สุด พวกเขาต้องมองให้เห็น ‘ผู้คน’

‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ ว่าด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน จะยังคงอยู่เสมอตราบที่มี ‘ผู้คน’ เพียงแค่กระบวนทัศน์ในปัจจุบัน หรือ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่’ ตายแล้วก็เท่านั้น แต่การที่เราปฏิเสธว่ามีทางเลือกอื่นนอกจากแบบที่เป็นอยู่ ก็ไม่ต่างอะไรเลยจากการปฏิเสธว่ามีทางเลือกอื่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนอกจาก ‘การใฝ่หาประโยชน์สูงสุด’

แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ประโยชน์’ นั้นไม่สำคัญ ใช่ เราต้องการ ‘ประโยชน์’ แต่คุณค่าที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์นั้นมากมายเกินกว่าที่จะหั่นให้เหลือเพียงแค่ ‘ประโยชน์สูงสุด’ อย่างเดียว ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความรัก ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความเห็นใจ ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความยุติธรรมและอีกหลายอย่าง ยิ่งกว่านั้น โลกในปัจจุบันก็สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเกินกว่าที่ศาสตร์แขนงเดียวจะสามารถอธิบายได้

‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็นและจำเป็นต้องเป็น’ จึงต้องมีชีวิตชีวามากขึ้น มีหัวใจมากขึ้น มีมุมมองต่อโลกกว้างขึ้น และที่สำคัญที่สุด ต้องมีพื้นที่ที่เปิดกว้างพอให้จินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ได้งอกงาม

Content by Nasak Pongsri

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0