โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'เศรษฐพงค์' ชู 'ดาวเทียมดวงแรกโดยคนไทย' ของ มจพ. เป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่

Manager Online

อัพเดต 19 ธ.ค. 2561 เวลา 12.00 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 12.00 น. • MGR Online

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งขณะนี้เป็นหัวหอกทีมยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้รับเชิญเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการบรรยายในหัวข้อ '5G นำไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0' ในงานสัมมนาวิชาการ NBTC Journal 2018 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟัง ทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ ได้กล่าวในการบรรยายว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และการค้าระหว่างประเทศได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที

ดังนั้นเราจึงปฎิเสธไม่ได้ที่จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นความหวังของประเทศในอนาคต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของงานรูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังไปสู่การทำงานแบบอัตโนมัติด้วยความชาญฉลาดยิ่ง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เครื่องมือในการทำธุรกิจมีราคาถูกลงมาก ความรู้หาได้ในอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้นกว่าเดิม คนรุ่นใหม่จึงต้องการแรงบันดาลใจและกำลังใจเป็นสำคัญ เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต

หลังจากการบรรยาย พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจในการทำอาชีพที่แปลกใหม่บนแพล็ตฟอร์มดิจิทัล ที่มีรูปแบบเป็นอิสระที่เรามักเรียกว่าฟรีแรนซ์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการตั้งบริษัทสตาร์ทอัป ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับทักษะในอาชีพใหม่มากขึ้นทั้งนี้เพราะความก้าวหน้าของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และ AI ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงในอดีต แต่ในปัจจุบันมันกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่อยู่บนมือเรา หรืออาจอยู่บนตัวเราและรอบตัวเราด้วยราคาอันแสนถูก ซึ่งมันจะอยู่กับเราจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและชีวิตประจำวันของเราเลยทีเดียว

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ ได้ยกตัวอย่างในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจที่ผู้คนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเกิดในประเทศไทยแต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ได้สร้างดาวเทียมขนาดเล็กสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นดาวเทียมเทคโนโลยีชั้นสูงที่สร้างโดยคนไทยและประสบความสำเร็จในการส่งเข้าสู่ห้วงอวกาศแล้ว

โดยโครงการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดังกล่าวอยู่ในสมัยที่ตนเป็นรองประธาน กสทช. ซึ่งทาง กสทช. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดวงนี้ที่ชื่อว่า 'แนคแซท' และพร้อมกับช่วยสนับสนุนในการออกใบอนุญาตในการส่งดาวเทียมขึ้นไปบนห้วงอากาศเป็นครั้งแรกของประเทศไทยด้วยความสำเร็จ ซึ่งขอแสดงความยินดีกับทาง มจพ. และร่วมภาคภูมิใจกับสถาบันที่เป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

ดาวเทียม 'แนคแซท' ถือเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยอาจารย์และนักศึกษาจาก มจพ. โดยมีพันธกิจหลักในอวกาศ ได้แก่ การถ่ายภาพโลกจากอวกาศ (ความละเอียด : 1 – 2 กิโลเมตรต่อ pixel) ทดสอบการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่ออกแบบและจัดสร้างขึ้นในอวกาศ ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายและกระตุ้นให้นักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศไทยเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่สตาร์ทอัปมีความหวังที่จะสู้ต่อไป และเป็นการยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และในอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตดาวเทียมของไทย และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการศึกษาต่อไปได้

โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ตามเวลาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ภายใต้มิชชั่น SSO-A:Smallsat Express ของบริษัทสเปซไฟลท์ (Spaceeflight Inc.) ได้ส่งดาวเทียมแนคแซทพร้อมดาวเทียมอื่น ๆ รวมทั้งหมด 64 ดวง จากทั้งหมด 17 ประเทศ ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย แล้วเมื่อเวลา 09.04 น. ตามเวลาสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 14.04 น. ตามเวลาในประเทศไทย

สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกได้รับสัญญาณครั้งแรก ( First Voice) โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อว่า Mike Rupprecht ชาวเยอรมันนี และในวันเดียวกัน เวลา 10.41 น.ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 17.41 น. ตามเวลาในประเทศไทย นักวิทยุสมัครเล่นคนดังกล่าวก็ได้รับสัญญาณอีกครั้งในวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 02.52 น. ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 07.52 น.ในประเทศไทย และ วันที่ 7 ธ.ค. เวลา 15.04 น. ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 22.00 น.ในประเทศไทย สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อ Fatc Mubin ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทได้เริ่มต้นปฎิบัติการงานในอวกาศแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0