โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เศรษฐกิจทรุด กนง.เตือนรับมือ3ปัจจัยเสี่ยง

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 05.38 น. • Thansettakij

 

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง 

 

คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี 

 

ทั้งนี้ กรรมการบางส่วนเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความเหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาวะปัจจุบันและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายท่ามกลางความเสี่ยงด้านลบและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ แต่หากพัฒนาการเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจะเริ่มทยอยลดลงในระยะต่อไป 

 

ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโยบายการเงิน ดังนี้ 

 

1.เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมากจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก 

 

การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง 

 

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ความสามารถของครัวเรือนไทยในการรองรับผลกระทบจากปัจจัยลบลดน้อยลงจากในอดีตที่แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายจากภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นที่เข้มแข็งกว่าได้ หรือสามารถกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องได้

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการส่งออก โดยเฉพาะวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจฟื้นตัวช้าลง 

 

การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งมีนัยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ รวมถึงความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน 

 

ความเสี่ยงของภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาดส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร รวมถึงต้นทุนการบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นในบางพื้นที่ และ การบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวกว่าคาดจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง

 

คณะกรรมการฯ ยังกังวลว่าค่าเงินบาทอาจยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยจากการแข็งค่าต่อเนื่องในปีก่อนหน้าและยังมีแนวโน้มผันผวนสูง แม้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ จึงให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง และให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ซึ่ง ธปท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไป  อาทิ ผู้ส่งออกสามารถพักเงินไว้ในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น รวมถึงให้ ธปท. พิจารณาดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ควบคู่กับการผลักดันให้มีการลงทุนและการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง

 

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง 

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมันและสภาพอากาศ ทั้งนี้ การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ไม่ได้กระทบการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ต่อปี

 

 

3.ความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นจากมาตรการ LTV สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs รวมถึงความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม 
อาทิ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนและแนวทางการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสหกรณ์ออมทรัพย์ และ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันในจังหวะที่เหมาะสม 

 

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยเห็นว่าความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และเสถียรภาพระบบการเงินในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ กอปรกับความเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้นเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน 
คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เหมาะสมและทันการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอประเมินผลกระทบหลังจากความเสี่ยงชัดเจนขึ้น เพราะหากเกิดผลกระทบรุนแรงจะแก้ไขสถานการณ์ได้ยาก

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้และสนับสนุนการเพิ่มสภาพคล่อง การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะต้องผสมผสานกับมาตรการทางการเงินและการคลังอื่น ๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผลและต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนโดยเร็ว ได้แก่ 

 

มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง อาทิ การให้สถาบันการเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เช่น พักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม และมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจ SMEs เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ (pre-emptive debt restructuring) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3 ในระยะข้างหน้า

 

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม 

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

 

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0