โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy)

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 13.44 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 19.10 น.

******************************

เศรษฐกิจขี้เกียจ(Lazy Economy) เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโซเชียลครองโลก และมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยให้ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน สามารถเข้าถึง(แทบ)ทุกบริการในชีวิตประจำวันผ่านการเชื่อมต่อออนไลน์

ปัจจุบันเศรษฐกิจรูปแบบนี้โตขึ้นเรื่อยๆ ตามพฤติกรรมคนที่รักความสะดวกสบาย และเลือกที่จะใช้บริการต่างๆ(ถ้ามี) เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาและเสียแรงทำเอง

ในงานสัมมนาการตลาด "เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ" ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(CMMU)บอกว่า ผู้คนจำนวนมากในยุคนี้ หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

เพราะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคมของความเคยชิน หรือที่เรียกว่า "ความขี้เกียจ" จึงได้สร้างให้เกิดเศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) โดยผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินหากสินค้าหรือบริการนั้นๆ ช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม

หมวย/ตี๋รุ่นใหม่ จุดประกายเศรษฐกิจขี้เกียจ

เมื่อต้นปีนี้ เว็บไซต์ www.alizila.com ในเครือของอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อี-คอเมิร์ซระดับโลก ได้เผยแพร่รายงานผลสำรวจแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ พบว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ชาวจีน "พร้อมจ่าย" กับสิ่งต่างๆ เพื่อแลกกับออมแรงและการประหยัดเวลา

รายงานดังกล่าว ระบุว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเงินไปถึง2.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับสินค้าต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย คิดเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง70%

ซึ่งจำนวนเงินหลักๆ มาจากการใช้สอยของนักช้อปรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกินวัย20 ปีต้นๆ อีกทั้ง เป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนปัจจุบัน

จากการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าของเถาเป่า (Taobao) ผู้ดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่สุดในประเทศจีน พบว่า ผู้บริโภควัยหนุ่ม-สาวเหล่านี้ มักใช้จ่ายไปกับสินค้าด้านไลฟ์สไตล์ มากกว่าสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ลิสต์สินค้าขายดีในเว็บนี้ มีทั้ง อายแชโดว์แต่งเติมสีสันให้กับตาคู่สวย เก้าอี้สำหรับนั่งเล่นเกม และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ได้แก่ หุ่นยนต์ทำความสะอาดหน้าต่าง เครื่องทำอาหารอัตโนมัติ เป็นต้น

การเรียกร้องหาความสะดวกสบายมากขึ้นๆ ของตี๋/หมวยชาวจีน ได้ขับเคลื่อนให้เกิดตลาดของสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น บริการส่งอาหาร และปัจจุบันขยายความนิยมมาถึงบริการจองคนทำความสะอาดบ้าน บริการจองคิวนัดแพทย์ ในเมืองหลักๆ ของจีน สิ่งเหล่านี้ทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการจ่ายเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

ขณะที่ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกBain & Co. ได้เปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน ว่า ประชากรจีนปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ15% เป็นกลุ่มที่ที่เกิดในช่วงทศวรรษ1990 และ21% เป็นกลุ่มที่เกิดในช่วงทศวรรษ2000

กลุ่มคนจีนรุ่นใหม่เหล่านี้ เปรียบได้กับเป็น "จักรพรรดิน้อยดิจิทัล(digital little emperors)" ที่เติบโตมาท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ชอบการรอคอย มองหาความสะดวกสบาย คุณภาพ และความหลากหลาย

สอดคล้องกับรายงานของบริษัท Accenture ซึ่งเผยแพร่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกันที่ระบุว่า คนที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1995 เป็นผู้บริโภคกลุ่มที่จะไม่กลับมาซื้อรอบสอง ถ้าพวกเขาพลาดโอกาสซื้อไปแล้วในครั้งแรก

เศรษฐกิจขี้เกียจ แพร่ขยายทั่วโลก

ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า การตลาดขี้เกียจหรือเศรษฐกิจขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ส่งผลให้สินค้าและบริการต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบโจทย์สำคัญข้อนี้ตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน กระแสตลาดคนขี้เกียจได้กลายเป็น "เทรนด์ร่วม" ในโลกยุคไร้พรมแดนไปแล้ว เห็นได้จากการเกิดขึ้นของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ จากกลุ่มสตาร์ทอัพ พบว่าหลายๆ บริษัทเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน มักอยู่ในประเภทการประกอบธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ในกิจวัตรประจำวันให้กับชาวโซเชียล

ปัจจุบัน เริ่มมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้ อย่างเช่น ธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร (Food Delivery) ที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารอร่อยๆ และมีคุณภาพ แต่ไม่อยากเสียเวลาไปรอคิวหรือเดินทางไปซื้อเอง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหรือบริการรูปแบบอื่นๆที่สามารถตอบสนองความขี้เกียจได้ อาทิ เครื่องพับผ้า เครื่องช่วยแปรงฟัน เว็ปไซต์ที่ช่วยเลือกเสื้อผ้า บริการจัดส่งวัตถุดิบปรุงอาหารพร้อมวิธีการทำ เป็นต้น

5 ธุรกิจมาแรงได้ใจตลาดคนขี้เกียจ

ข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับว่าผลที่รวบรวมได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมความขี้เกียจเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือบริการในประเทศไทยซึ่ง CMMU ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers

พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่ 1.ออกกำลังกาย 2.รอคิวซื้อของ 3.ทำความสะอาดบ้าน 4.อ่านหนังสือ 5.ทำอาหาร 6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 8.เรียน/ทำงาน 9.ออกไปช้อปปิ้ง และ 10. การเดินทาง

โดยจากพฤติกรรมดังกล่าวจะมี5 ธุรกิจมาแรง ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่ 1.ธุรกิจที่ทำแทนได้ เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน บริหารสั่งอาหาร บริการซื้อของแทน 2.ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้อัตโนมัติ และไร้สาย (Hand Free)

3.ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม 4.ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และ 5.ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast หรือ VDO content

นางสาวฝนทิพย์ กิตติประเสริฐแสง หัวหน้าทีมงานวิจัยการทำการตลาดLazy consumer เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำถึง เคล็ดลับการทำการตลาดสำหรับเศรษฐกิจขี้เกียจว่า เจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า "SLOTH" เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว

กลยุทธ์"SLOTH" ประกอบด้วยSpeed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา, Lean กระชับ ตัดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน, EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ,

ConvenienT สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น และHappy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด

****************************

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0