โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เวเนซุเอลา" เข้าขั้นโคม่า โลกแห่คว่ำบาตร "อำนาจสมัย 2"

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 02.38 น.
for02170162p1

ชะตากรรมของชาวเวเนซุเอลากว่า 31 ล้านคน กำลังตกที่นั่งลำบาก ภายใต้อำนาจการบริหารสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี “นิโคลัส มาดูโร” ขณะที่นานาชาตินำโดยสหรัฐอเมริกาพยายามกดดันด้วยการคว่ำบาตรทางการค้า และตัดสัมพันธ์ทางการทูตจนกว่าผู้นำจะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับรัฐสภา ก่อนที่ประเทศจะกลายเป็นรัฐล่มสลายอย่างสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในสมัยที่ 2 ที่จะอยู่ในอำนาจไปถึงปี 2025 เจแปนไทมส์รายงานว่า สหรัฐอเมริกาและผู้นำ 17 ประเทศในละตินอเมริกา รวมถึงแคนาดา แถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า ไม่ยอมรับการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีมาดูโร ในสมัยที่ 2 โดยระบุว่า การเลือกตั้ง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัฐสภาโดยไม่ให้อำนาจคัดค้านผู้นำประเทศได้

ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคกับเวเนซุเอลา ได้แก่ อาร์เจนตินา และปารากวัย ประกาศตัดความสัมพันธ์กับเวเนซุเอลาทุกทาง ทั้งทางการทูตและการค้าจนกว่ามีการเลือกตั้งที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายขึ้นอีกครั้งตามคำเรียกร้องของสหรัฐ

“เปรู” หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อของเวเนฯ เพราะเป็น1 ใน 3 ประเทศปลายทางหลักที่ชาวเวเนฯเดินทางอพยพเข้าประเทศ ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศแถลงการณ์ว่ารัฐบาลเปรูได้สั่งห้ามนายนิโคลัส มาดูโร พร้อมครอบครัวตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลการากัสราว 100 คนเดินทางเข้าประเทศ ทั้งยังประกาศห้ามผู้ประกอบการในเปรูทำธุรกิจหรือธุรกรรมต่าง ๆ กับคนสัญชาติเวเนซุเอลาที่อยู่ในบัญชีดำด้วย

และล่าสุดรัฐบาลเปรูประกาศเพิ่มเติมเรียกตัวนักการทูตชาวเปรูที่ทำงานอยู่ในเวเนซุเอลาเดินทางกลับประเทศทันที เพื่อร่วมต่อต้านอำนาจของนายมาดูโร และกดดันให้ยกเลิกการบริหารประเทศแบบเผด็จการ

นายฟรานซิสโก โรดริเกซ อดีตเจ้าหน้าที่ของเวเนซุเอลา ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Torino Capital ในนิวยอร์กกล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการได้ยินจากคำแถลงของประธานาธิบดีมาดูโรในระหว่างพิธีสาบานตนก็คือ แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะวิกฤตเงินเฟ้อที่ยังพุ่งทะยานขึ้นทุก ๆ ปี แต่คำกล่าวจากปากผู้นำกลับไม่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือคำมั่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน กล่าวเพียงแค่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่เวเนซุเอลาเช่นเดิม สะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาในปีนี้จะยังคงถดถอยเช่นเดิม หรืออาจจะรุนแรงมากขึ้นหลังจากที่หลายประเทศต่างพากันคว่ำบาตรการค้าอย่างไม่มีกำหนด

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะแตะระดับสูงถึง 10 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปี 2019 แต่สถานการณ์ที่ย่ำแย่ขึ้นทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนประเมินว่า วิกฤตเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอาจจะรุนแรงเกินคาดพุ่งสู่ระดับ 23 ล้านเปอร์เซ็นต์

ศาสตราจารย์เดวิด สมิลเดอ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวเนซุเอลาของมหาวิทยาลัยทูเลนในรัฐลุยเซียนาคาดการณ์ว่า ประชาชนชาวเวเนซุเอลาจะแห่อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น

จากปีที่ผ่านมา 2.3 ล้านคน ในปีนี้อาจจะมากถึง 5 ล้านคน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการตัดความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้าน และสหรัฐที่เปรียบเสมือนเป็นเสบียงหลักของเวเนฯในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค

ปัจจุบันชาวเวเนซุเอลาเกินกว่า 50% ยังมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ความยากจนและทำงานเพื่อแลกกับเงินเดือนขั้นต่ำเพียงวันละ 5 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนหลายล้านชีวิตต้องอพยพแม้ว่าจะผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ คาดการณ์ของนักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า ชะตากรรมในอนาคตของ “เวเนซุเอลา” คงไม่พ้น

การเป็นประเทศล่มสลายหากผู้กุมอำนาจสูงสุดของประเทศยังไม่โปร่งใส และเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องจากนานาชาติ ทั้งเลือกใช้วิธีการจัดการฝ่ายค้านด้วยการสั่งจำคุกและห้ามยุ่งกับการเมือง

ทั้งประเมินกันว่าจากนี้จะเห็นเวเนซุเอลากลายเป็นประเทศสังคมนิยมแบบสุดโต่งไม่ต่างจากการปกครองของเกาหลีเหนือ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0