โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เวียงจันฝั่งไทย เชียงใหม่ภาคอีสาน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 ก.พ. เวลา 03.31 น. • เผยแพร่ 05 ก.พ. เวลา 23.00 น.
ภาพปก-เวียงจัน
(ซ้าย) เวียงจัน เมืองหลวงของสปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย (ขวา) พญามิลินทรนาคมาออกที่ธาตุดำ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ทรวดทรงเริ่มสอบเป็น 6 เหลี่ยม

นครเวียงจัน เป็นเมืองหลวงของ สปป.ลาว นครเชียงใหม่ เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นล้านนา ปัจจุบันเป็นเมืองหลักและจังหวัดสำคัญภาคเหนือของไทย แต่ทั้งสองล้านสองเวียงคือล้านช้าง-ล้านนา กับ เวียงจัน-เวียงพิงค์ มาปรากฏอยู่ภาคอีสานไทย คือ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

เวียงจันฝั่งไทย

ตามตำนานและมุขปาฐะเดิมเชื่อว่าพระฤาษี 3 องค์ ลงมาจากภูเขาควาย ใช้ไม้จันทน์ปักเป็นต้าย (กำแพง) คร่อมดอนจันแม่น้ำโขงบ้าง พญาสุวรรณนาคเนรมิตเมืองให้บุรีจันอ้วยล้วยครองบ้าง

แต่จากการศึกษาร่องรอยหลักฐานโบราณคดีการตั้งถิ่นฐานรอบห้วยโมง 167 กิโลเมตรจากเทือกเขาภูพาน จังหวัดหนองบัวลำภู และท้องที่อำเภอศรีเชียงใหม่, ท่าบ่อ, กิ่งอำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย พบเครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผาลายเล็บขูด เชือกทาบ ลายสีบ้านเชียง โลหะสำริดและเหล็ก ทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณหลายโครง ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จึงน่าเชื่อว่ากำเนิดเวียงจันน่าจะเป็นฝั่งขวาแม่น้ำโขงก่อนมากกว่า

โดยเฉพาะแนวคันดินเดิมยุคทวารวดี ตั้งแต่โรงเรียนบ้านศรีเชียงใหม่ โรงเรียนศรีเชียงใหม่อ้อมบึงกำแพงมาถึงธาตุดำหน้า นปข. เขตหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งทำเป็นถนน คสล. แล้ว แต่ฐานยังเห็นศิลาแลงและอิฐแผ่นใหญ่กองทับกันอยู่ กำแพงเมืองด้านนี้ถูกรื้อไป พ.ศ. 2369 เพื่อสร้างพระเจดีย์ปราบเวียงจัน ใน นปข. ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกต พ.ศ. 2094 และ พ.ศ. 2321 เมื่อรัชกาลที่ 1 อัญเชิญกลับมา

เมืองทับเมืองซ้อน

ผมเคยขอความรู้จากคนเฒ่าคนแก่ศรีเชียงใหม่หลายเรื่อง เรื่องที่ประหลาดใจสุดคือ ผู้รู้ท้องถิ่นให้เอาแผนที่ขนาดใหญ่ของเขตสุขาภิบาลศรีเชียงใหม่ (เทศบาลตำบลปัจจุบัน) พับตรงแม่น้ำโขงดอนจันทาบกับกำแพงนครเวียงจัน แนวกำแพงเมืองชั้นในเมืองจันทบุรีศรีสัตนาค จะเข้ากันพอดีทั้งสถานที่สำคัญ เช่น ธาตุดำ ธาตุขาว (เจดีย์) วัดสำคัญต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะตีความอย่างอื่นไม่ได้นอกจากผังเมืองซ้าย-ขวานี้เป็นแบบเดียวกัน แต่เมื่อพบหลักฐานโบราณคดีฝั่งขวามากกว่า จึงเชื่อว่าสร้างก่อนตั้งแต่ยุคทวารวดีพุทธศตวรรษที่ 12-16 ตามแนวทางที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ค้นคว้าไว้ตามเอกสารจีนที่เรียกเวินถาน, เวินตาน คือเวียงจันนี้เอง

หากตรวจสอบเอกสารโบราณ เช่น สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช พ.ศ. 1896-1915 ทรงรวมอาณาจักรล้านช้างและตีเวียงจันได้ พ.ศ. 1899 แสดงว่าเป็นเมืองมาก่อนแล้ว ทั้งน่าเชื่อว่าเป็นเมืองหลวงคู่กันมากับเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) เพราะเมื่อพระธาตุบังพวน หนองคาย ล้ม พ.ศ. 2513 มีพระพุทธรูป 6 องค์ ซึ่งมีจารึกระบุศักราช 4 องค์ ตรงกับ พ.ศ. 2118, 2150, 2158 และ 2167 บรรจุอยู่ในพระธาตุ ก่อนสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ทั้งสิ้น

สำคัญสุดคือศิลาจารึกหลักที่ 88 วัดแดนเมือง อำเภอโพนพิสัย พ.ศ.2078 ระบุว่า“จันทบุรีราชธานี” ซึ่งคงรวมกันทั้งแนวกำแพงเมืองที่คร่อมแม่น้ำโขง แต่ในระยะต่อมากำแพงเมืองชั้นนอกได้ขยายออกเป็น 4 เหลี่ยมด้านขนานฝั่งซ้ายจนมหึมา ทำให้เวียงจันฝั่งขวาค่อยๆ เลือนหายไป ชาวบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่าบริเวณ นปข.ปัจจุบันคือวังหน้าของสมเด็จพระมหาอุปราชเวียงจันเดิม

ธาตุดำศรีเชียงใหม่

ชาวบ้านเดิมเชื่อว่า พญามิลินทรนาคมีฮูพญานาค ที่ภูพระบาทมาออกแม่น้ำโขงจุดนี้ ต่อมาเซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) ได้สร้างเจดีย์ปิดรูพญานาคนี้เลยพ่นพิษจนเป็นสีดำ เรียกธาตุดำสืบมา

อีกมุขปาฐะหนึ่งว่า เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ได้ส่งสายลับไปทำลายกลองหมากแข้งวิเศษ เมื่อตีแล้วพญานาคออกมาช่วยเวียงจัน ครั้นทำลายกลองแล้วได้สร้างเจดีย์ปิดทับรู พอเวียงจันซ่อมกลองเสร็จตีเรียกแต่พญานาคออกมาไม่ได้จึงพ่นพิษเป็นธาตุดำ พ.ศ. 2321 ซึ่งก็แล้วแต่จะเชื่อทางใด

แต่เมื่อพิจารณาทรวดทรงแล้ว ผมเห็นว่าน่าจะเป็นการอธิบายธาตุเรือนเหลี่ยม (4 เหลี่ยม) สถาปัตย์ล้านช้างได้สมบูรณ์ คือธาตุเจดีย์เดิมนิยมสร้างเป็นโอคว่ำครึ่งวงกลมแบบสาญจีอินเดีย ทางล้านช้างเห็นคล้ายแตงโมผ่าครึ่งจึงเรียกธาตุหมากโม เช่น วัดวิชุล หลวงพระบาง แต่ทรงนี้ไม่ถูกใจไทย-ลาว ทางภาคกลางพัฒนาให้สอบสูงขึ้นไปจนลงตัวเป็นเจดีย์ย่อมุม 12 คอระฆัง ทางล้านช้างพัฒนาให้สอบสูงขึ้นแต่เป็น 6 เหลี่ยมจนลงตัวเป็น 4 เหลี่ยม เช่น พระธาตุหลวง พระธาตุพนม พุทธศตวรรษที่ 22 ต่อมา

เชียงใหม่ภาคอีสาน

รัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราชแห่งล้านช้าง ทรงสู่ขอเจ้าหญิงยอดคำทิพย์ พระราชธิดาของพระเจ้าเกษเกล้า แห่งล้านนา (เชียงใหม่) ซึ่งขบวนเจ้าสาวและบริวารจำนวนมากเดินทางมาอภิเษกสมรส พ.ศ. 2078 ทางล้านช้างแต่งขบวนขันหมากต้อนรับใหญ่โต มีหมากพร้าว (มะพร้าว) พืชมงคลสมรสใส่พานใหญ่ ดังนั้นเวียงจันฝั่งขวาจึงถูกเรียกว่า“เมืองพานพร้าว” สืบมา ทั้ง 2 พระองค์มีพระโอรสคือเจ้าเชษฐา (เสถถา) ซึ่งสามารถสืบสันติวงศ์ได้ทั้งล้านช้าง-ล้านนา จน พ.ศ. 2092 ได้ครองราชย์ที่เชียงใหม่ต่อจากพระมหัยกา (ตา) เพราะมหาเทวีจิรประภา พระมาตุจฉา (น้า) ไม่อาจต้านศึกกรุงศรีอยุธยาและกรุงหงสาวดีได้ (แต่จะทรงก่องนมหรือเกาะอกหรือสายเดี่ยวดังภาพยนตร์หรือไม่ไม่ยืนยัน) ทรงพระนามว่าพระเจ้าเชษฐาวงศ์ จนพระชนกนาถสุรคต พ.ศ. 2094 จึงเสด็จกลับเวียงจันและทรงนำพระแก้วมรกตมาด้วย

ชาวเชียงใหม่ตามมาอีกระลอกใหญ่เพราะเป็น “ข้าพระแก้ว” นำมาประดิษฐาน (ชั่วคราว) วัดพระแก้วใน นปข. เขตหนองคายปัจจุบัน เมืองพานพร้าวจึงมีชาวเชียงใหม่มาตั้งถิ่นฐานมาก กว่าจะทรงสร้างหอคำ (พระราชวัง) หอพระแก้วเสร็จ และสถาปนาเวียงจันเป็นราชธานีถาวร พ.ศ. 2103 นามว่า “จันทบุรี ศรีสัตนาคนหุต อุตมราชธานี” เฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช แห่งล้านช้างสืบมา

ข้าพระ เลกวัด ข้าโอกาส

ธรรมเนียมล้านช้างเดิมพระสงฆ์จะมีสมณศักดิ์เป็นสำเร็จ, ซา, ครู (ญาครู) มีข้าพระคอยรับใช้จำนวนหนึ่งคล้ายฐานานุกรม กษัตริย์ล้านช้างจะพระราชทานที่ดินกัลปนา (นาจังหัน) อุทิศที่ดินผู้คนหมู่บ้านต่างๆ ให้เรียกเลกวัด คนธรรมดาหากผิดอาญาแผ่นดินหากหนีเข้าเขตพัทธสีมาแม้แต่ก้าวเดียว ทางราชการไม่สามารถลงโทษได้ แล้วแต่ทางวัด ดังปรากฏในศิลาจารึกตามวัดต่างๆ หลายหลัก

แต่รัชสมัยนี้เกิดศึกสงครามมากจึงปรากฏศัพท์ “ข้าโอกาส” ศิลาจารึกวัดจอมมณี หนองคาย พ.ศ. 2094 หลักแรก ซึ่งยังตีความกันอยู่ไม่ยุติ ผมเดาว่าทางราชการสามารถเกณฑ์เลกวัดไปเป็นทหารได้บางโอกาส เพื่อป้องกันอาณาจักร-พุทธจักร ถึงพระแก้วมรกตจะประดิษฐานอยู่เวียงจันฝั่งซ้ายถาวรแล้ว แต่ชาวเมืองพานพร้าวฝั่งขวาเป็นเขตนาจังหันพระแก้วถือตนเองเป็นข้าพระแก้วมรกตจนปัจจุบัน

พระเจ้าองค์ตื้อ

พ.ศ. 2105 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ทรงหล่อพระพุทธรูปสำริดศิลปะเชียงใหม่แท้ประดิษฐานพระวิหารวัดศรีชมภูองค์ตื้อ ริมห้วยโมง อำเภอท่าบ่อ คาดว่าแทนพระองค์พระนางยอดคำทิพย์พระบรมราชชนนี หนักถึง 1 ตื้อ คือมาตรานับล้านช้างโบราณ จากหน่วย, สิบ, ฮ้อย, พัน, หมื่น, แสน, ล้าน, โกฏิ, กือ, ตื้อ, ติว, ตัง (อนันตัง นับไม่ถ้วน) ปัจจุบันยังนิยมอยู่ เช่น ซื้อข้าว 1 หมื่น (12 กิโลกรัม) จึงพอคำนวณได้เป็น 12,000 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ตื้อ และเช่นเดียวกันทรงอุทิศนาจังหันหมู่บ้านบริเวณนี้ให้ชาวอำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย (รุ่นเก่า) ถือว่าเป็น “ข้าพระเจ้าองค์ตื้อ”

ต่อมาพระราชธิดาคือเจ้าหญิงสุก เจ้าหญิงเสริม เจ้าหญิงใส ได้หล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้นประดิษฐานอยู่เวียงจัน และชาวเมืองนำไปซ่อนภูเขาควายหนีภัยสงคราม เพิ่งถูกอัญเชิญมาไทยสมัยรัชกาลที่ 4

พระสุก จมแม่น้ำโขงที่เวินสุก อำเภอโพนพิสัย เพราะแพแตก

พระเสริม ถูกอัญเชิญไปวัดปทุมวนาราม (สระปทุม) กรุงเทพฯ

ส่วนพระใส ว่าเกวียนหักไม่ยอมเสด็จ จึงสร้างวัดโพธิ์ชัยไว้ที่หนองคาย คู่บ้านคู่เมือง ถ้านับศักดิ์แล้วพระเจ้าองค์ตื้อท่าบ่อ ทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) พระใสนั่นเอง

ศรีเชียงใหม่

ชาวศรีเชียงใหม่ที่เป็นข้าพระแก้วมาอยู่เมืองพานพร้าวตั้งแต่ พ.ศ. 2078 และ พ.ศ. 2094 ยังคงถือเป็นชาวเชียงใหม่อยู่เสมอ ไม่ยอมเป็นชาวพานพร้าว-เวียงจัน หรือหนองคายเสียที ทั้งวังหน้าวังเดิม (นปข.เขตหนองคาย) เคยเป็นค่ายพานพร้าว ครั้งปราบเวียงจัน พ.ศ. 2369 และ พ.ศ. 2371 ด้วย จนตั้งเมืองหนองคายแทนที่บ้านไผ่ริมแม่น้ำโขง เมืองพานพร้าว (เวียงจันฝั่งขวา) ยังปรากฏในสังกัดมิได้ร้างไปกับฝั่งซ้าย พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสยึดฝั่งซ้ายได้ ท้าวขัติยะ (สาลี กุประดิษฐ์) กรมการเมือง ได้เทครัวมาบ้านท่าบ่อใต้เมืองพาน พร้าวไปเพียง 15 กิโลเมตรเป็นพระคุปดิตถบดี เจ้าเมืองท่าบ่อ พ.ศ. 2438 เข้าใจว่าชื่อพานพร้าวห้วงนี้อาจเพี้ยนไปเป็นเมืองธารพร้าว และเปลี่ยนเป็นเมืองการวาปี ตามทำเนียบหัวเมือง พ.ศ. 2442 มีพระการคามบริหาร เป็นเจ้าเมือง

เมื่อวิเคราะห์ศัพท์ธาร คือ วาปี ส่วนพร้าว, มะพร้าว เรียกกัลปพฤกษ์ (พืชสารพัดประโยชน์) แต่เลี่ยงมาใช้การะ แทนกาล, กัลป์ เพราะหมายถึงตายอีกนัยหนึ่งก็ได้ เช่น แก่กาล เป็นต้น ครั้นยุบทั้ง 2 เมืองเป็นอำเภอแต่ก็ใกล้กันมาก บางครั้งอำเภอท่าบ่อมาตั้งที่ตำบลพานพร้าวก็มี จึงแยกเป็น อำเภอศรีเชียงใหม่ พ.ศ. 2501 เติม “ศรี” ให้อีกเพื่อมิให้ซ้ำกับเชียงใหม่แท้

ถึงแม้วัฒนธรรมจะกลายเป็นล้านช้างหมดแต่มีร่องรอยสำเนียงขานรับเฉพาะชาวศรีเชียงใหม่กับชาวกำแพงนครเวียงจันเท่านั้นว่า “เจ๊า” ส่วนชาวอีสานและลาวทั่วไปจะขานรับว่า “เออ” ดังนั้นอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จึงเป็นชาวเชียงใหม่โบราณของแม่น้ำโขงและภาคอีสาน

เวียงจัน บ้านเชียง โบราณวัตถุ
เวียงจัน บ้านเชียง โบราณวัตถุ

วัดหินหมากเป้ง

พุทธศาสนิกชนทั่วไปรู้จัก ศรีเชียงใหม่ เพราะพระอริยสงฆ์ประทีบแห่งแม่น้ำโขง คือพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ชาวพวนบ้านผือ ซึ่งได้มาพำนักอยู่วัดหินหมากเป้งที่นี่ ท่านได้ลิขิตว่า

“หินหมากเป้งเป็นชื่อหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ริมโขงที่หน้าวัดนี้เอง อันมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่า คนพื้นเมืองเขาเรียกว่าเต็ง หรือเป้งยอย คำว่าหมากเป้งในภาษาภาคนี้ผลไม้หรืออะไรก็ตามถ้าเป็นลูกแล้วเขาเรียกหมากขึ้นหน้า เช่น หมากม่วง หมากพร้าว เป็นต้น มีคนเฒ่าคนแก่เล่าปรัมปราสืบกันมาว่าหินหมากเป้งก้อนบน (เหนือน้ำ) เป็นของหลวงพระบาง ก้อนกลางเป็นของบางกอก ก้อนใต้เป็นของเวียงจัน ต่อไปในอนาคตข้างหน้ากษัตริย์ทั้งสามนครจะสร้างให้เจริญ คำนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พยากรณ์ไว้มิได้บอก เป็นแต่เล่าสืบๆ กันมาเท่านั้น แต่มีเค้าน่าจะมีผู้พยากรณ์ไว้แน่ เพราะสถานที่นี้เป็นวัตถุโบราณอันส่อแสดงว่าคงจะเป็นสถานที่สำคัญสักอย่างหนึ่งดังที่ปรากฏอยู่ คือขุดคูเป็นวงเดือนแรมหันข้างแหว่งไปทางแม่น้ำโขง ถ้าดูที่ขุดเป็นปีกกาออกไปสองข้างแล้ว ทำให้เข้าใจว่าเป็นสนามเพลาะ แต่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ณ ที่ใดๆ และไม่เคยได้ยินนักโบราณคดีพูดถึงเลย เรื่องสามกษัตริย์จะมาสร้างหินหมากเป้งให้เจริญ ผู้เขียนเมื่อยังเด็กอยู่ได้ฟังแล้วยิ้มในใจไม่อยากเชื่อเลย นึกว่าป่าดงดิบแท้ๆ ผีดุจะตายแล้วใครจะมาสร้าง สร้างแล้วใครจะมาอยู่เล่า แล้วเรื่องนั้นมันก็ลืมเลือนหายไปนาน จนไม่มีใครกล่าวถึงอีกแล้วเพราะเห็นว่าไร้สาระ แล้วจู่ๆ ผู้เขียนซึ่งไม่เชื่อคำพยากรณ์นั้นเองได้มาอยู่และมาสร้างเสียเอง จึงระลึกขึ้นมาได้ว่า อ๋อความจริงมันหนีความจริงไม่พ้น ถึงใครจะไม่พูดถึงมันก็ตาม เมื่อถึงเวลาของมันแล้วความจริงมันปรากฏขึ้นมาเอง” (จากอัตโนชีวประวัติของพระราชนิโรธรังสีฯ, พิมพ์หลายสิบครั้งแล้ว)

ตามลิขิตพระอริยสงฆ์มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ลาวรองรับอยู่ คือกษัตริย์หลวงพระบางกับเวียงจันต่างก็แย่งกันเป็นใหญ่ ยกทัพขึ้น-ล่องผ่านหินหมากเป้งแม่น้ำโขงที่นี่หลายพระองค์ (ก้อนเหนือ-ก้อนใต้) รอแต่กษัตริย์ไทยพระองค์เดียว จนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ผมก็ร่วมรับเสด็จด้วย นับตั้งแต่นั้นหินหมากเป้งจึงครบสามกษัตริย์สมบูรณ์ ศรีเชียงใหม่-เวียงจัน เมืองทับเมืองซ้อนก็ทวีความเจริญขึ้นร่วมกันจริงสมคำทำนายปรัมปราทุกประการ

แต่ซากแนวคูรูปวงเดือนชักปีกกาดังกล่าวยังไม่มีการขุดค้นวิจัย และผมก็ไม่กล้าวินิจฉัย เข้าใจว่าอาจเป็นค่ายทหารเวียงจันค่ายหนึ่ง พ.ศ. 2369 ในคำให้การของพระยานรินทร์ต่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอุตส่าห์พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2544 นี้คือนิราศทัพเวียงจันท์โดยหม่อมเจ้าทับ เสนีวงศ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2561

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เวียงจันฝั่งไทย เชียงใหม่ภาคอีสาน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0