โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"เวนดิ้งแมชีน" บูมแข่งค้าปลีก ทะลุ 2 หมื่นตู้/ธุรกิจดาหน้าบุกซีพีร่วมวง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 27 มิ.ย. 2562 เวลา 08.25 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 08.25 น.
mar01270662p1

ตลาด “เวนดิ้งแมชีน” สุดคึกคัก “ซัน 108” ในเครือสหพัฒน์ เร่งอัพเกรดตู้ย้ำภาพผู้นำ ด้าน “เวนดิ้ง พลัส” เร่งขยายเพิ่ม 3,000 ตู้ ชูจ่ายผ่านแอปสินค้า ราคาถูกกว่า 1-2 บาท ขย่มคู่แข่ง ด้าน “ฟอร์ท-เอเจ” ชี้ยอดขายโตกระฉูด-เดินหน้าเพิ่มตู้ เครือ ซี.พี.โดดร่วมวง โชว์ตู้ขายสารพัดสินค้าพร้อมทยอยติดตั้งเพิ่ม ขณะที่ “โอสถสภา-ดีโด้” เพิ่มดีกรีกระจายสินค้า รับโอกาสทอง ต้นทุนต่ำ-ติดตั้งง่าย-ทั่วถึง

“เวนดิ้งแมชีน” หรือตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ กำลังเป็นเทรนด์มาแรงและได้รับความสนใจจากสินค้าต่าง ๆ ที่นำมาเป็นช่องทางขาย เพื่อเสริมกับช่องทางหลัก สะท้อนจากจำนวนตู้ที่ผุดขึ้นในหลายโลเกชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน คอนโดฯ สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ เช่นเดียวกับซัพพลายเออร์ที่อาศัยช่องทางนี้ในการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และเป็นช่องทางที่ใช้ต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่

ตู้หยอดเหรียญตลาดโต

นายเวทิต โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ ผู้ให้บริการตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญ แบรนด์ “ซัน 108” ฉายภาพตลาดตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญอัตโนมัติกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดนี้กำลังเติบโตรวดเร็ว เพราะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการวางตู้ในทำเลใหม่ ๆ มากขึ้น หรือขยายตัวมากขึ้น

ประกอบกับ มีปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของระบบชำระเงินแบบแคชเลสที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีความปลอดภัย เช่น สแกนคิวอาร์โค้ด ที่ช่วยลดภาระเรื่องการจัดการเงินสดและมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของธุรกิจนี้ นอกจากนี้ ระบบแคชเลส หรือไม่ต้องใช้เหรียญ หรือธนบัตร ยังเปิดโอกาสให้สินค้าที่มีราคาสูงสามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายผ่านเวนดิ้งแมชีนได้ เช่น พาวเวอร์แบงก์ ซิมการ์ด และอื่น ๆ

นายเวทิตกล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางของซัน 108 ในฐานะเป็นผู้นำตลาด ด้วยจำนวนตู้กว่า 11,000 ตู้ในปัจจุบัน นอกจากการเพิ่มจำนวนตู้อย่างต่อเนื่องแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะทยอยอัพเกรดตู้ที่มีอยู่ให้สามารถรองรับการชำระเงินแบบแคชเลสได้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความพฤติกรรมผู้บริโภคและเทรนด์ของตลาด จากปัจจุบันที่มีประมาณกว่า 200 ตู้

“เวนดิ้ง พลัส” ชี้อนาคตใส

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เติมสบายพลัส บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญ “เวนดิ้ง พลัส” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของตลาดเวนดิ้งแมชีน ที่มีมากขึ้นดังกล่าว นอกจากปัจจัยบวกในเรื่องของระบบการชำระเงินแบบแคชเลส ผ่านคิวอาร์โค้ด ผ่านแอปพลิเคชั่นแล้ว ตลาดเครื่องดื่ม-ขนม-ขนมขบเคี้ยว ที่มีจำนวนสินค้าเพิ่มมากขึ้นและมีการแย่งชิงพื้นที่ขายในร้านสะดวกซื้อมีสูงขึ้น ทำให้หลาย ๆ รายหันมาใช้ตู้หยอดเหรียญ เป็นช่องทางจำหน่าย ประกอบกับปัจจุบันมีทำเลหรือพื้นที่ขายใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ อีกด้านหนึ่ง เวนดิ้งแมชีน ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่ม เช่น ขายพื้นที่โฆษณาด้วยการติดสติกเกอร์หรือแรป (Wrap) ตู้ รวมถึงต่อยอดกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ ได้อีกมาก

ปัจจุบัน เวนดิ้ง พลัส มีประมาณ 2,100 ตู้ มีแผนจะเดินหน้าเปิดอีก 3,000 ตู้ ให้ครบ 5,000 ตู้ ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยเน้นไปที่ห้างค้าปลีก, ปั๊มน้ำมัน, สถานศึกษา, โชว์รูมรถ, โรงงาน, คอนโดฯ ด้านการตลาดจะเน้นการชูจุดแข็งด้านราคาที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ 1-2 บาท รวมถึงอัพเกรดตู้ให้สามารถชำระค่าสินค้าผ่านแอป ทั้งทรูวอลเลต และอาลีเพย์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จากปัจจุบันที่รองรับคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ รวมถึงการเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าสำหรับวางแผนการวางสินค้าในแต่ละตู้ เช่นเดียวกับบริการหลังการขายเน้นความรวดเร็ว ด้วยคอลเซ็นเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโทรศัพท์และไลน์ รวมถึงการรับประกันคืนเงินหากลูกค้าไม่ได้สินค้า

“ฟอร์ท-เอเจ” เดินหน้าเพิ่มตู้

รายงานข่าวจาก บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “ตู้บุญเติม” เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้ติดตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติไปแล้วมากกว่า 2,000 ตู้ทั่วประเทศ และมีแผนจะขยายตู้ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีแผนจะพัฒนาตู้แบบใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดการขายสินค้า และสร้างช่องทางใหม่ ๆ ของการค้าผ่านเครือข่ายของตัวแทนของบริษัทเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับรายงานข่าวจากบริษัท เอเจเวนดิ้ง จำกัด ของเครือบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า ที่ผ่านมา รายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ มีการเติบโตมากขึ้น โดยปี 2561 ที่ผ่านมา โต 10.16% หรือประมาณ 68 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้เพียง 23.16 ล้านบาท โดยการติดตั้งตู้ของบริษัทเน้นไปที่โรงงาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

“ซีพี รีเทลลิงค์” โดดร่วมวง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจตลาดเวนดิ้งแมชีน ยังพบอีกด้วยว่า นอกจากภาพความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ของตลาดเวนดิ้งแมชีนดังกล่าว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตั้ง “เวนดิ้งคาเฟ่” เป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยตู้อัตโนมัติ ในอาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ 1 (สีลม) บริหารงานโดยบริษัท ซีพีแรม โดยตู้ขายสินค้าอัตโนมัติดังกล่าว สามารถรองรับระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของทรูมันนี่ พร้อมเพย์ บัตรเครดิต เดบิต ของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด

ล่าสุด ในงานไทยเฟค 2019 ที่ผ่านมา (28-31 พ.ค. 2562) ยังพบว่า บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด บริษัทในเครือซีพี ออลล์ ได้นำตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ BEAEBOX มาโชว์ โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายในตู้ ประกอบด้วยสินค้าในชีวิตประจำวันแป้งเด็ก โฟมล้างหน้า ทิสชูเปียก เสื้อเชิ้ต พาวเวอร์แบงก์ สินค้าสุขภาพและความงามอาทิ วิตามิน มาสก์หน้า อาหารเสริม สกินแคร์ เครื่องสำอาง ฯลฯ และมีรายงานระบุว่า ปัจจุบันตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของซีพี รีเทลลิงค์ มีจุดบริการอยู่ในประเทศ 42 จุด และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 43 จุด ภายในสิ้นปีนี้

โอสถสภา-ดีโด้ ส่งสินค้ารุกหนัก

นางพรธิดา บุญสา รองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่าย สินค้าแบรนด์เอ็ม-150, ฉลาม, เปปทีน และอื่น ๆ ฉายภาพว่า ช่องทางตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญมีศักยภาพสูงตามจำนวนตู้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 25% ตั้งแต่ปี 2557-2561 จนปัจจุบันภาพรวมของตลาดคาดว่าจะมีประมาณ 21,110 ตู้ (พฤศจิกายน 2561) โดยบริษัทจับตาเทรนด์นี้อย่างใกล้ชิดพร้อมศึกษาโอกาสส่งสินค้าเข้าสู่ช่องทางนี้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

ขณะที่นางสาวจันทรา พงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มแบรนด์ดีโด้ ระบุว่า มีแผนจะนำสินค้าไปวางในช่องทางของตู้อัตโนมัติเพิ่มอีก 1 เท่าตัว จาก 1.5 หมื่นตู้ในปีที่ผ่านมาเป็น 3 หมื่นตู้ภายในปีนี้ หลังจากพบว่า ช่องทางดังกล่าวสามารถกระตุ้นยอดขายได้ดี เนื่องจากทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และมีต้นทุนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับช่องทางค้าปลีกอื่น ๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0