โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เลื่อน" ที่น่าหนักใจ

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 06.17 น.
เลื่อนนน

ที่สุดแล้วการเลือกตั้งทั่วไปที่ยืนยันกันเป็นมั่นเป็นเหมาะจากทุกฝ่ายก็มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไป

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ “เลื่อนการเลือกตั้ง” ด้วยก่อนหน้านั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะ “ผู้มีอำนาจเต็มในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ” เนื่องจากเป็นทั้ง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ซึ่งประกาศตัวเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” อันหมายถึง “ผู้ทรงอำนาจในรัฐ” ระดับที่สามารถประกาศิตให้อะไรเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ที่ต้องการให้เป็น

และเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีมาตรา 44 ให้ใช้อำนาจเต็มแบบ “รัฏฐาธิปัตย์” ได้เหมือนครั้งยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัญญามาหลายครั้งทั้งกับประชาชนในประเทศ และกับผู้นำนานาชาติ

แต่ต่อมายกเลิกสัญญา ประกาศวาระเลือกตั้งใหม่ “เลื่อนไปจากเดิม” ครั้งแล้วครั้งเล่ามาก่อนแล้ว

ดังนั้น แม้จะยืนยันกันพร้อมเพรียงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจ ว่าจะ “เลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562” แล้วจะ “เลื่อน” ออกไปอีกครั้ง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดปกติอะไร

เพียงแต่ว่าครั้งนื้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน

ความจำเป็นต้องเลื่อนวันเลือกตั้งนั้นมีอยู่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนย่อมเป็นเรื่องง่ายดายมากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะออกมาประกาศให้รับรู้กันทั้งโลกว่าประเทศไทยยังเลือกตั้งไม่ได้ ด้วยมีเหตุผลที่จำเป็นมากเสียกว่าการบอกเลื่อนครั้งที่ผ่านมา

แต่คราวนี้คนที่รับหน้าเสื่อเป็นรองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” แถมไม่ได้รับแบบออกมาประกาศเอง แต่เป็นการใช้วิธีไปอธิบายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฟัง เพื่อเป็นผู้ประกาศเลื่อนเอง

ถึงแม้จะมีข้ออ้างว่าเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ย่อมเป็นที่วิจารณ์แล้วทำไมเรื่องเดียวกันนี้ทุกครั้งที่ผ่านมา คนที่ตัดสินใจกลับเป็นรัฐบาล

และถึงกระนั้น แม้แต่ กกต.เองก็ยังออกอาการเหมือนจะอึกอักที่จะประกาศเลื่อน

นี่คือสภาพที่ “เลื่อน” คราวนี้ไม่เหมือนคราวก่อน

ที่เป็นเช่นนี้แม้จะมีเหตุผลอื่น แต่ความเป็นไปอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความไม่พอใจมากมายของประชาชน” จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน แต่เป็นการแสดงออกทางออนไลน์ที่สะท้อนความอึดอัดชัดเจน

ชนิดที่ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองควรจะมีอนาคตทางการเมือง หรือไม่อยากปิดตำนานตัวเองในความเกลียดชังของชาวบ้าน ต้องพาตัวเองเลี่ยงออกจากการเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้

การบริหารประเทศมา 5 ปีของ “รัฐบาล คสช.” ที่ถึงวันนี้ยังแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในการรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ได้ และประกาศความสำเร็จในผลงานแจกเงินคนจนกันครึกโครม

ทว่าประชาชนคิดอย่างไร หากย้อนไปดูการสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” ในช่วงปีใหม่ เรื่อง “ของขวัญที่คนไทยอยากได้จากนายกฯ” จะเห็นอะไรบางอย่าง

มากที่สุดคือร้อยละ 3.08 บอกว่า “อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และบริสุทธิ์ยุติธรรม” อันดับต่อมาคือร้อยละ 25.2 “อยากให้บริหารเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้น”

ผลโพลนี้ย่อมทำให้คนที่ได้เห็นคิดได้ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล ด้วยสาเหตุจากความไม่พอใจในการบริหารเศรษฐกิจ”

ส่วน “ผลงานที่พูดถึงด้วยความภาคภูมิใจมาตลอด” ดูเหมือนจะมีประชาชนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่รู้สึกไปด้วย

ร้อยละ 7.5 เท่านั้นที่อยากให้ดูแลประเทศให้มีความสงบสุข ขณะที่มีแค่ร้อยละ 7.1 ที่อยากให้เพิ่มเงินช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับทั่วถึง

ดูแล้วคล้ายกับว่า ที่ผู้มีอำนาจเชื่อ กับที่ประชาชนคิดนั้นไปกันคนละทาง

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้มีอำนาจเองเอาเข้าจริงก็รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร

และด้วยเหตุนี้เอง แม้ “เลื่อนเลือกตั้ง” มีเหตุผลที่จำเป็นจริง

แต่จะให้มายืดอกประกาศเองเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่จะต้องวางตัวให้ประชาชนไม่เสื่อมความเชื่อถือไปมากกว่านี้ เพื่อไม่กระทบต่ออนาคตที่จะต้องเดินต่อไปในเส้นทางอำนาจ

ย่อมเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า “เลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง”

หรือเปล่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0