โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เลือดข้น (อย่าให้) เงินจาง

Money2Know

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เลือดข้น (อย่าให้) เงินจาง

*ใครที่เคยอ่านคอลัมน์ของดิฉันบ่อยๆ จะทราบว่า ดิฉันเป็นคอละครตัวยง และหลายๆ ครั้งที่ดิฉันมักจะชวนให้คุณดูละครแล้วย้อนดูตัว เพราะชีวิตจริงบางทีก็ไม่ต่างจากละครค่ะ เผลอๆ จะหนักกว่าด้วยซ้ำ *

แน่นอนว่า เมื่อเป็นคอละคร ดิฉันย่อมไม่พลาดละครที่โด่งดังในโลกโซเชียลอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ออกอากาศทางช่องวัน 31 ทุกวันศุกร์และเสาร์ ซึ่งตอนนี้เรื่องดำเนินมาถึงตอนที่ทุกอย่างไม่ได้คลี่คลาย แต่กลับกลายเป็นขมึงเกลียวให้แน่นกับการค้นหาคำตอบว่า“ใครฆ่าเฮียเสริฐ” เรื่องละครก็ปล่อยให้ว่ากันไป แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ดูละคร และไม่ชอบดู ก็อย่าเพิ่งกดข้ามเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้นะคะ เพราะไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องละครให้อ่านอย่างเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องที่จะเขียนเกี่ยวพันกับละคร “เลือดข้นคนจาง” อยู่ไม่น้อย

เพราะหนึ่งในปมปริศนาที่นำมาซึ่งการฆ่าเฮียเสริฐหรือประเสริฐ นำแสดงโดยคุณทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี มาจากเรื่อง “มรดก” หลังจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นประมุขของบ้านทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สิน (ไม่รวมเงินสด 200 ล้านบาทในธนาคาร) ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 25%เท่ากัน ให้กับลูกชาย 3 คน และหลานชายคนโต 1 คน ส่วนลูกสาวคนเดียวได้รับเงินสดในธนาคารไปทั้งหมด แต่เทียบไม่ได้กับทรัพย์สินหลักที่ “ป๊า” แบ่งให้ลูกชาย ก็คือ หุ้นของโรงแรม 2แห่ง ในกรุงเทพฯ และพัทยา

หนำซ้ำ คนทำงานจริงๆ มีเพียง 2 คน ก็คือ เฮียเสริฐ ลูกชายคนโตที่ดูแลโรงแรมกรุงเทพฯ และภัสสร (นำแสดงโดยคุณแคทลียา แมคอินทอช) ลูกสาวคนเดียวที่ดูแลโรงแรมพัทยา ร่วมกับลูกชายของเธอ

การแบ่งมรดกแบบนี้ (ซึ่งว่ากันว่า เป็นเรื่องปกติของครอบครัวจีนที่ลูกสาวเมื่อแต่งงานออกจากบ้านไปแล้ว ก็ถือเป็นคนอื่น อันนี้ไม่ข้อแสดงความเห็นนะคะ) ทำให้ลูกสาวอย่าง “ภัสสร” ทั้งเสียใจ น้อยใจ รวมไปถึงแค้นใจ ดังนั้น เมื่อเฮียเสริฐถูกฆ่า คนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนแรกคือ ภัสสร ไม่นับรวมที่เธอเข้าไปพบพี่ชายถูกยิงจมกองเลือดเป็นคนแรก

ถึงตรงนี้ ขอชวนข้ามฟากไปดูละครอีกเรื่องที่ออกอากาศวันและเวลาเดียวกัน แต่คนละช่องกัน นั่นคือ “ริมฝั่งน้ำ”ออกอากาศทางช่อง 33HDเป็นละครที่ว่าด้วยชีวิตหลังเกษียณของคุณตาคุณยายที่มารวมตัวในสถานดูแลผู้สูงอายุชื่อ“บ้านร่มไม้”

ที่อยู่ๆ ชวนกลับมา “บ้านร่มไม้” เพราะมีอยู่หนึ่งวรรคตอนที่คุณตาชาญชัย (นำแสดงโดยคุณสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์” ท่านบอกว่า “ความสุขของคนแก่ ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็คือ เห็นลูกหลานรักกัน ไม่มีใครอยากเห็นลูกหลานทะเลาะเบาะแว้งกันหรอก”

ดิฉันยังเคยแอบคิดว่า ถ้าอากง (ในเลือดข้นคนจาง) รับรู้ถึงชีวิตและความเป็นไปของลูกหลาน หลังการแบ่งมรดกครั้งนี้แล้ว อากงยังจะตัดสินใจเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งคำตอบอาจจะยังคง “เหมือนเดิม” ก็ได้ ไม่มีใครรู้

ในชีวิตจริง ดิฉันไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันครอบครัวใหญ่ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือเป็นตระกูลกงสี จัดสรรทรัพย์สินกันอย่างไร แต่ที่เคยพบด้วยตัวเองอย่างน้อย 2 ตระกูล (ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ และมีกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่าธุรกิจพันล้านถึงหมื่นล้านบาท) ต่างก็กำหนด “ธรรมนูญครอบครัว” ของตัวเองทั้งนั้น

ตระกูลแรกนั้น ประมุขรุ่นที่หนึ่งแบ่งทรัพย์สิน ด้วยการรวมบริษัทที่เป็นแกนและบริษัทบริวารไว้เป็นก้อนเดียวกัน แล้วหารตามจำนวนลูกไม่แยกชาย-หญิง รุ่นที่ 2 มี 4บ้านก็ได้รับหุ้นบ้านละ 25%เท่าๆ กัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของรุ่นที่ 2 ที่จะส่งต่อความมั่งคั่งในส่วนของตัวเองที่มีอยู่25%ไปสู่รุ่นที่ 3 เอง

“ธรรมนูญครอบครัว” ของตระกูลนี้ ละเอียดถึงขนาดว่า คนที่ทำงานให้ครอบครัว ก็รับเงินเดือน โบนัสและปันผล ส่วนคนที่ไม่ทำงานให้ครอบครัว ก็รับปันผลอย่างเดียว เมื่อเรียนจบ จะซื้อรถให้ 1 คัน (ครอบครัวละ 1 คันสำหรับพี่คนโตที่เรียนจบเท่านั้น เอาไปรับส่งน้องๆ กันเอง และราคารถของแต่ละครอบครัวก็จะต้องเท่าๆ กัน) พอผ่านไปหลายๆปี ก็จะมีการตั้งคณะทำงานปรับปรุงธรรมนูญครอบครัวให้ทันสมัยสำหรับรุ่นต่อๆ ไป

ส่วนอีกตระกูลนั้น ดำเนินธุรกิจมูลค่าหมื่นล้านบาท แต่เนื่องด้วยประมุขของบ้านยังแข็งแรง ถึงจะเกษียณจากการทำงานไปหลายปี แต่ก็ยังอยู่เป็นหลักชัยของบ้าน ทรัพย์สินก็เลยยังไม่ได้ถูกแบ่งสรรปันส่วนอย่างชัดเจน จริงๆ บ้านนี้ลูกหลานเยอะ เพราะสมาชิกในรุ่นที่ 3  มีจำนวนพี่น้องมากถึง 9 คน แต่ด้วยความที่ประมุขของตระกูลท่านจัดสรรทุกอย่างไว้ลงตัว แต่ละบ้านจึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และต่างก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ไม่แบ่งว่า ลูกชายหรือลูกสาว เขย-สะใภ้ หลานชายหรือหลานสาวจะได้มากกว่ากัน เพราะทุกคนต่างต้องทำงานทั้งนั้น

*“ผู้ใหญ่” ของสองบ้านนี้ จึงเหมือนที่คุณตาชาญชัยใน “บ้านร่มไม้” บอกไว้ว่า “ความสุขของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็คือ ได้เห็นลูกหลานรักกัน” ไม่เหมือน “หม่าม้า” ใน “เลือดข้นคนจาง” ที่ในแต่ละวันต้องนั่งติดตามข่าวว่า ตกลงลูกหรือหลานคนไหนของตัวเอง เป็นคนลั่นไกสังหาร “ประเสริฐ” ลูกชายคนโตของเธอ *

การเตรียมความพร้อมจัดการทรัพย์สิน โดยเฉพาะ “มรดก” จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยนะคะ และเป็นเรื่องที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องไม่ประมาท เตรียมไว้ให้พร้อมแต่เนิ่นๆ ซึ่งหลักคิดเรื่องการจัดการมรดกไม่มีอะไรมากมายไปกว่าต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินอยู่เสมอเพื่อให้ทราบสถานะทางการเงินของตัวเองว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง มูลค่าเท่าไหร่ พร้อมทั้งวางแผนไว้เลยว่าส่วนไหนที่เราจะใช้จ่ายในบั้นปลายของชีวิตและส่วนไหนจะยกเป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไป

ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้เพื่อวางแผนให้เกิดประโยชน์ในการให้มรดกอย่างสูงสุด ที่เหลือก็คือ วางแผนการมอบมรดกอาจจะใช้วิธีทยอยส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสม จะได้ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป

สำหรับคนที่มีทรัพย์สิน มีมรดก ดิฉันเชื่อว่าดูละคร “เลือดข้นคนจาง” คงฉุกคิดอะไรได้มาก ว่าจะทำอย่างไรให้ “เลือดยังข้น คน (และเงิน) ก็ไม่จาง” ด้วยการวางแผนการเงินให้รอบคอบ รัดกุมและเป็นธรรม

แต่สำหรับผู้สูงอายุที่นอกจากไม่มีมรดกแล้วยังต้องอาศัยเงินลูกหลาน สัปดาห์หน้าขออนุญาตนำกรณีศึกษาจาก “บ้านร่มไม้” ในละครเรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ผู้ใหญ่วัยชราจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพตามมาล้วงเงินถึงบ้านพักผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0