โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เลือดข้นคนจีน เข้าใจคนไทยเชื้อสายจีนผ่าน 6 วิทยานิพนธ์

The MATTER

เผยแพร่ 24 ก.ย 2561 เวลา 12.57 น. • Pulse

ในซีรีส์เลือดข้นคนจาง นอกจากเรื่องการลงมือฆาตกรรมแล้ว การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นยังเกี่ยวข้องกับความซับซ้อนต่างๆ ของครอบครัวจีนเจ้าของธุรกิจ เราได้เห็นโครงสร้างครอบครัว ความคิด และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย

ชาวจีนเข้ามาอยู่ในประเทศอย่างยาวนานจนกลายมาเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของประชากรไทย ชาวจีนในบ้านเราเองก็มีการสืบทอดเชื้อสาย มีการปรับประยุกต์ผสมผสานวัฒนธรรมแบบจีนดั้งเดิมให้เข้ากับสังคมไทยโดยรอบ แต่ในความเป็นจีนเอง ครอบครัวไทยเชื้อสายจีนก็ยังคงรักษาความคิด ความเชื่อ และวิธีการใช้ชีวิตในแบบของตัวเองไว้ ความเป็นคนเชื้อสายจีนโดดเด่นในแง่การทำธุรกิจ แนวคิดเรื่องครอบครัว และการให้ความสำคัญกับตำแหน่งแห่งที่ของสมาชิกในครอบครัว

เพื่อความเข้าใจความเป็นจีน The MATTER ชวนมาอ่านวิทยานิพนธ์ 6 เล่มที่ศึกษาความเป็นจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในสังคมไทย งานศึกษาทั้งหกจะพาเราไปเข้าใจความเป็นจีนในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัว การตั้งนามสกุล มุมมองในการทำธุรกิจ ไปจนถึงความเชื่อ

อุดมคติทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน: กรณีศึกษากลุ่มผู้นำหอการค้าจีน (พ.ศ. 2488-2540)

ชาวไทยเชื้อสายจีนโดดเด่นด้านการทำธุรกิจ ในช่วงทศวรรษก่อน 2540 เป็นช่วงธุรกิจบ้านเรากำลังเฟื่องฟู วิทยานิพนธ์ของ วิภาวี สุวิมลวรรณ พาเราไปดูความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจและอุดมคติทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน กลุ่มผู้ประกอบการที่ผู้วิจัยเลือกศึกษาก็เป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทย การศึกษาพบว่าแนวทางการทำธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่บริหารงานแบบครอบครัว โดยในช่วงทศวรรษ 2488-2540 ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนมีแนวทางในการทำธุรกิจหลักๆ สามแนว คือดำเนินธุรกิจร่วมกับรัฐ ดำเนินธุรกิจโดยมีการเข้าสมาคมธุรกิจ และเน้นการขยายฐานพันธมิตรทางธุรกิจด้วยการร่วมทุน

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : doi.nrct.go.th

นามสกุลของคนไทยเชื้อสายจีน : การวิเคราะห์ทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์

การตั้งนามสกุลเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวของชาวจีนให้เข้ากับสังคมไทย วิทยานิพนธ์ของ วนิดา เจริญศุข เป็นการใช้วิธีการทางภาษาเพื่อศึกษาความคิดและความเชื่อผ่านการใช้ภาษา ผลการศึกษาพบว่าคนไทยเชื้อสายจีนมีการตั้งนามสกุล 2 วิธี คือตั้งโดยคงเค้าของแซ่เดิมไว้ในพยางค์แรกของนามสกุล หรือตั้งโดยไม่เหลือเค้าของแซ่เดิมเลย ในแง่ความหมายพบว่า ความหมายของนามสกุลที่ได้รับความนิยมคือ ‘ความเป็นเลิศ’ ‘ความมั่งคั่งร่ำรวย’ และ ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ การเลือกความหมายดังกล่าวสะท้อนวิธีคิดและความเชื่อ เช่น การปรารถนาความเป็นเลิศ ยกย่องการทำการค้า มีความคิดแบบทุนนิยม ไปจนถึงความคิดเรื่องการเคารพผู้อาวุโส

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th

ผู้ชายในครอบครัวจีน กรณีศึกษา : ครอบครัวคนจีนแต้จิ๋วใน ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ความสัมพันธ์และสถานะผู้หญิงในค่านิยมแบบจีนค่อนข้างถูกลดทอนความสำคัญ งานศึกษาของ เกษม ปราณีธยาศัย ในสาขามานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาผู้ชายในครอบครัวชาวจีนในพื้นที่แถบมหาชัย ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่าผู้ชายจะมีบทบาทและสถานะที่สำคัญในครอบครัว แต่ด้วยความคาดหวังของครอบครัว ทำให้ผู้ชายเองก็ได้รับแรงกดดันจากการแบกรับความคาดหวังของครอบครัวเอาไว้

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : www.thapra.lib.su.ac.th

สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร : ระบบครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคม ของคนไทยเชื้อสายจีนในชุมชนโบ๊เบ๊ รายงานผลการวิจัย

อีกหนึ่งงานศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน งานศึกษาของ บุญยง ชื่นสุวิมล และทีมวิจัยเป็นงานศึกษาที่ค่อนข้างรอบด้านในการทำความเข้าใจครอบครัวจีน มีเนื้อหาตั้งแต่โครงสร้างครอบครัว รูปแบบความสัมพันธ์ ความเชื่อ ศาสนา การแต่งงาน การสั่งสอน การศึกษา การสืบทอดมรดก ไปจนถึงการติดต่อกลับไปยังประเทศจีน ผลที่พบคือ ผู้ชายมีบทบาทแต่ถูกลดทอนลง เช่น สามีมีอำนาจในครอบครัวแต่ไม่ใช่สูงสุด การแบ่งมรดกมีการแบ่งให้ชายหญิงเท่ากัน ในขณะที่การศึกษา สมาชิกผู้หญิงได้รับการศึกษาเสมอภาคกับผู้ชาย ในด้านวัฒนธรรม การใช้ภาษาจีนก็ค่อนข้างคลี่คลายและมีแนวโน้มหายไป การติดต่อกลับไปยังวัฒนธรรมแผ่นดินใหญ่ก็ลดน้อยลงยกเว้นเทศกาลตรุษจีน

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th

สถานภาพและบทบาทสตรีในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนในนวนิยายไทยแนวชีวิตครอบครัว ปีพ.ศ.2538-2546

นวนิยายเป็นอีกหนึ่งจินตนาการและภาพที่เราคิดถึงคนจีนและความเป็นจีน วิทยานิพนธ์ของ กิติยา วิทยาประพัฒน์ เลือกศึกษาประเด็นเรื่องสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงจากนวนิยายแนวชีวิตครอบครัวของไทย 8 เล่ม ผลการศึกษาพบว่า ตัวละครหญิงวัยกลางคนได้รับอิทธิพลจากการอพยพ มีการพัฒนาวัฒนธรรมของตัวเองและการประกอบธุรกิจอันเป็นจุดเด่นของความเป็นจีน ในขณะที่ตัวละครรุ่นลูกก็มีความขัดแย้งระหว่างวิธีคิดแบบสมัยใหม่กับการเลี้ยงดูด้วยความคิดแบบจารีตดั้งเดิมของจีน

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th

ความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยในวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร

อีกหนึ่งงานศึกษาที่น่าสนใจตั้งแต่ปี 2539 ว่าด้วยความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ในงานศึกษาของ ณัฐธิดา สุขมนัส พบว่า(ตอนนั้น)คนไทยเชื้อสายจีนก็มีความเชื่อเรื่องฮวยจุ้ยแหละ แต่ส่วนใหญ่คนจีนในช่วงนั้นมองว่าฮวยจุ้ยเป็นเรื่องของสุสาน ฮวงจุ้ยเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพในสายตระกูล ในทางกลับกันคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่มองว่าฮวงจุ้ยไม่ใช่เรื่องที่จะใช้โดยทั่วไปเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นฮวงจุ้ยจึงเป็นเรื่องคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงเท่านั้นจึงจะปฏิบัติตามได้

เข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0